SDG Updates | (EP.5) Futures Literacy: บูรณาการการเรียนรู้เพื่อรู้รับปรับตัวพร้อมฟื้นคืนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรม

ปัจจุบันปรากฏปัญหาและความท้าทายต่อสิ่งแวดล้อมมากมายที่จำเป็นต้องติดตามและเฝ้าระวัง อาทิ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ขยะมูลฝอย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งถูกหยิบนำมาเป็นประเด็นเร่งด่วนระดับโลก โดยที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่ตื่นตัวตั้งรับและจัดการความท้าทายเหล่านั้นผ่านหลายเเนวทางครอบคลุมตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก กระนั้นก็ดี หากทบทวนแนวทางจัดการทั้งหลายที่ปฏิบัติใช้พบว่ายังขาด “ความเป็นธรรม” อยู่ไม่น้อย เช่นนั้น โจทย์ของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเสริมความสามารถในการรู้รับปรับตัวเเละฟื้นคืนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตจึงอาจต้องคิดใหม่บนหลักการด้าน “ความเป็นธรรม” มากขึ้นหรือไม่ และอย่างไร เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  

SDG Updates ชุด Futures Literacy (EP.5) กับ Futures Literacy: บูรณาการการเรียนรู้เพื่อรู้รับปรับตัวพร้อมฟื้นคืนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรม ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจและค้นหาคำตอบต่อประเด็นคำถามข้างต้น ผ่านการส่องความคิดและข้อเสนอแนะของนักวิชาการและนักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากหลากพื้นที่และหลายประสบการณ์ โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่การสร้างความเป็นธรรมและการเข้ามามีส่วนร่วมของคนทุกเพศและจากทุกภาคส่วนในกรอบการดำเนินงานด้านการปรับตัวและฟื้นคืนจากวิกฤติสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

เข้าถึงภาพประกอบ Visual Note ขนาดเต็มที่นี่: https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/06/FL-EP5.png


01 – เรียนรู้และทำงานบนโจทย์วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง “นักวิชาการ+ชนพื้นเมือง = ความยั่งยืนที่เป็นธรรม”


ดร. Mochamad Indrawan จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย นักชีววิทยาที่ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชนพื้นเมืองในจังหวัดสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (citizen science) ปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยความน่าสนใจอยู่ที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยจากคณะทำงานของ ดร. Mochamad และชนพื้นเมืองในท้องถิ่นจังหวัดสุลาเวสี 

“เราได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่ไม่เคยถูกค้นพบที่ไหนในโลกมาก่อน ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา มันเป็นของชุมชนท้องถิ่น ทว่าน่าเสียดายเนื่องจากมันถูกล่าจากชนพื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุดผมและทีมจึงตัดสินใจหารือกับพวกเขา แล้วเราทั้งสองฝ่ายก็ได้ร่วมมือกัน”

วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (citizen science) หมายถึง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเป็นอาสาสมัครในงานวิจัยหรือโครงการ อาทิ การสำรวจ การเก็บข้อมูล โดยอยู่ภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างฐานข้อมูลนั้น ๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และพลเมือง โดยข้อมูลเหล่านั้นจะต้องสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้-อ้างอิงจาก: Bird Conservation Society of Thailand (BCST)

ดร. Mochamad เท้าความถึงทุนทางธรรมชาติของพื้นที่ดังกล่าว พร้อมเผยถึงความพยายามขั้นแรกในการริเริ่มความร่วมมือกับชนพื้นเมือง โดย ดร. Mochamad พาพวกเขาเดินทางศึกษาพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติทางตอนเหนือของจังหวัดสุลาเวสี หรือที่รู้จักกันในชื่อ Tangkoko Nature Research เพื่อเรียนรู้ความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพ ต่อมา กระบวนการสร้างวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองก็ค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ขั้นที่ร้อยรวมความร่วมมือกับชาวบ้านในท้องถิ่นมากขึ้นผ่านแนวทางที่สามารถสรุปได้ 3 แนวทาง ได้แก่ 

  1. ฟื้นฟูคุณค่าของท้องถิ่นโดยให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการนำมาปรับประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการใช้ความเชื่อในท้องถิ่นมาเชื่อมโยงกับการปกป้องดูแลธรรมชาติ จนกลายเป็นการลงมือลงแรงอย่างจริงจัง ของหลายคนกลายกลุ่ม อาทิ กลุ่ม SULA MIGAPUR ที่ทุ่มเทและอุทิศที่ดินเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (endangered species)
  2. การให้เยาวชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการจัดเก็บข้อมูลและในการลงมือปฏิบัติอย่างการสร้างแปลงเพาะต้นไม้ไปจนถึงการปลูกต้นไม้ร่วมกัน
  3. ผลักดันให้รัฐบาลท้องถิ่นเห็นถึงความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งเข้ามาเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของชนพื้นเมือง

โดยสรุป ข้อคิดเห็นและประสบการณ์สะท้อนของ ดร. Mochamad บอกเราว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมและเสริมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นยิ่งที่พึงนับรวมชนพื้นเมืองมาเป็นหนึ่งในสมการของการจัดการ เพราะชนพื้นเมืองอยู่กับพื้นที่ เข้าใจธรรมชาติ และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม ณ พื้นที่นั้น ๆ ส่วนประเด็นเรื่องการไม่ได้รับการศึกษาในระบบนั้น ไม่ใช่อุปสรรคที่จะกีดกันความร่วมมือกับชนพื้นเมือง เพราะถึงที่สุดแล้ว นั่นเป็นการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างบูรณาการ อธิบายให้ชัดคือ คณะทำงานของ ดร. Mochamad ทำงานในเชิงหลักวิชาการ ขณะที่ชนพื้นเมืองก็ใช้ความเข้าใจธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งผลที่ตามมาคือชนพื้นเมืองในกรณีศึกษาของจังหวัดสุลาเวสีได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องดูแลธรรมชาติมากขึ้น มีการยุติการล่าสัตว์ ไปจนถึงการสร้างโปสเตอร์ต่อต้านการล่าสัตว์  นี่จึงนับเป็นกรณีศึกษาของการใช้วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นเเก่ชนพื้นเมืองเอง เพราะพวกเขามีบทบาทในการร่วมกำหนดทิศทางเเละดำเนินการปกป้องดูเเลธรรมชาติในพื้นที่ของพวกเขา

ด้าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณนิเวศ กล่าวถึงประเด็นวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองด้วยเช่นกันแต่ต่างบริบทไปจากกรณีของ ดร. Mochamad โดยกรณีของเพ็ญโฉม ระบุถึงการทำงานร่วมกับชุมชนในประเทศไทยในการประเมินและติดตามผลกระทบที่คนในชุมชนได้รับจากภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งฝึกฝน สนับสนุนชุมชนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทำงานด้านกฎหมาย การสนับสนุนนโยบาย รวมถึงการวิจัยทั้งเชิงวิทยาศาสตร์และเชิงปฏิบัติ

“วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองคือกระบวนการสำคัญซึ่งเราใช้ในการขับเคลื่อนโครงการรณรงค์มาอย่างยาวนาน เนื่องจากว่าเราทำงานร่วมกับหลายชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยในการต่อสู้กับมลพิษ ปกป้องสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือผู้คน เราพบว่าวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองนั้น เป็นกระบวนการที่ช่วยเพิ่มพลังในการเจรจาของชุมชนที่ได้รับผลกระทบกับองค์กรหรือบริษัทที่สร้างมลพิษและรัฐบาล มันเป็นวิธีที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือปะทะในเชิงความรุนแรงซึ่งเคยเกิดขึ้นมาเมื่อ 20 ปีก่อน” 

เพ็ญโฉม เผยถึงข้อดีของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองพร้อมฉายภาพให้ชัดขึ้นผ่านกรณีศึกษาที่น่าสนใจของจังหวัดเลย ซึ่งเพ็ญโฉมและคณะลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับคนในท้องถิ่นในการสร้างบทเรียนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในการรณรงค์ยุติการขุดทอง โดยพยายามสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการขุดทองให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ อาจสรุปแนวทางการใช้วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองของเพ็ญโฉมเพื่อขับเคลื่อนการจัดการและเสริมความสามารถในการรู้รับ ปรับตัว และฟื้นคืนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลพิษ เป็น 3 แนวทาง ได้แก่

  1. ใช้กระบวนการพูดคุย และสร้างการเรียนรู้ระหว่างกัน 
  2. ประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางให้เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานเชิงข้อมูล
  3. คำนึงถึงความแตกต่างของคนแต่ละพื้นที่ อาชีพ และความถนัด และขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมโดยคำนึงถึงความแตกต่างเหล่านั้น

กล่าวได้ว่า แม้จะต่างบริบทแต่วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองจากทั้งสองกระบวนการของ ดร. Mochamad และ เพ็ญโฉม มีจุดร่วมกัน อาทิ ในแง่การเปิดพื้นที่ให้คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมตามความสามารถและเครื่องมือทางภูมิปัญญาที่พวกเขามี นอกจากนี้ ผลจากการดำเนินการของทั้งสองคนก็ไม่เพียงแต่ช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่ก้าวพ้นไปถึงการสร้างความเป็นธรรมแก่ชนพื้นเมือง และชุมชนบนฐานของทุนทางสังคมและคำนึงถึงความยั่งยืนอีกด้วย 


02 – คำนึงถึงความเปราะบางและความเสี่ยงของคนทุกเพศ


ความเป็นธรรมประการต่อมาที่วงสัมมนาหยิบนำมากล่าวถึงอย่างให้ความสำคัญ คือความเป็นธรรมต่อมิติเพศ อธิบายในเบื้องต้น ภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นถึงที่สุดแล้วก่อผลกระทบต่อเพศต่าง ๆ ในระดับที่รุนแรงต่างกัน โจทย์คำถามคือจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของเพศที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่หรือบทบาทของการจัดการสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไรให้เป็นธรรม 

ต่อประเด็นข้างต้น ศ.ดร. Emma Porio ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จาก Ateneo de Manila University ยกกรณีศึกษาของเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มาอธิบายว่าผู้หญิง เด็ก คนค้าขายริมทาง และคนขับรถแท็กซี่ คือกลุ่มเสี่ยงสูงที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 โดยที่ผู้หญิงมักมีความสามารถในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวค่อนข้างต่ำ ข้อเสนอของแนวทางแก้ปัญหาจึงควรคำนึงถึง “ความเปราะบางอันเกิดจากมิติทางเพศ” (vulnerabilities of gender) โดยเฉพาะผู้หญิงสูงวัย ซึ่งตรงนี้อาจเป็นส่วนกระตุ้นให้การออกแบบนโยบายที่โดยมากกำหนดโดยเพศชาย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดกิจกรรมที่ก่อมลพิษทางอากาศได้มากขึ้น 

อย่างไรก็ดี ต่อประเด็นเดียวกัน ดร. Diane Archer นักวิจัยอาวุโสประจำ SEI สำนักงานกรุงเทพฯ  เผยทัศนะที่เห็นต่างออกไปว่าหากจะกล่าวถึงเรื่องมลพิษทางอากาศนั้น เพศชายนับว่ามีความเสี่ยงมากกว่า เพราะแม้ว่าผู้หญิงจะใช้เวลาในการปรุงอาหารที่บ้านและข้องเกี่ยวกับกิจกรรมที่สร้างมลพิษทางอากาศในครัวเรือน แต่สำหรับผู้ชายแล้วต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศทั้งภายในบ้าน นอกบ้าน และที่ทำงาน โดยเฉพาะผู้ชายจำนวนมากที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมหนักหรือในภาคการขนส่ง อาทิ คนขับรถประจำทาง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือตำรวจจราจร งานเหล่านี้ล้วนต้องสัมผัสกับมลพิษทางอากาศสูงทั้งสิ้น

ความเห็นของทั้งสองท่านนับเป็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจไม่น้อย แม้ไม่อาจฟันธงว่าเพศใดที่ต้องเผชิญความเสี่ยงกว่ากัน แต่ก็เป็นการเปิดประเด็นที่แสดงทัศนะและช่วยเปิดจินตนาการให้ไปถึงมิติทางเพศว่าถึงที่สุดแล้วการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างการรับรู้ ปรับตัว และฟื้นคืนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นต้องคำนึงถึงความเปราะบางและความเสี่ยงที่แต่ละเพศเผชิญด้วย คำถามแห่งอนาคตจึงไม่ได้หยุดอยู่แต่เพียงว่าเพศใดได้รับผลกระทบมากกว่ากัน แต่ควรไปถึงอีกขั้นของคำถามว่าจะจัดการอย่างไรให้สามารถสนองต่อความต้องการ โดยตระหนักถึงความเสี่ยงและความเปราะบางของแต่ละเพศได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมมากที่สุด


03 – ตระหนักถึง “หลักมนุษยธรรมต่อคุณภาพและความรับผิดชอบเพื่อสร้างการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” (CHS)


นอกจากการคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อชนพื้นเมืองและความเป็นธรรมทางเพศแล้ว อีกข้อเสนอในการมองอนาคตของการเสริมความสามารถในการรับรู้ ปรับตัว และฟื้นคืนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าสนใจก็คือ การคำนึงถึง “หลักมนุษยธรรม” 

โดยพิเชษฐ์ มูลปา นักวิจัยการพัฒนาสิ่งเเวดล้อมอย่างยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เสนอประเด็นข้างต้นขึ้นว่าการขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมและตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับปัจเจกและองค์กรควรคำนึงถึงมาตรฐานทางหลักมนุษยธรรมต่อคุณภาพและความรับผิดชอบ (Core Humanitarian Standard on Quality and Accountability: CHS) เพื่อสร้างการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งประกอบด้วยพันธกิจ 9 ประการ ที่ให้ความสำคัญกับชุมชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในหลากหลายประเด็น ตั้งแต่การต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการ และสมควรแก่เวลา สามารถตระหนักถึงสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของพวกเขาได้ สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ได้รับความช่วยเหลือที่ดีขึ้นจากการที่องค์กรได้เรียนรู้จากประสบการณ์และการสะท้อนบทเรียน ได้รับความช่วยเหลือที่ต้องการจากเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่มีความสามารถและรู้จักวิธีการจัดการที่ดี รวมถึงสามารถคาดหวังองค์กรด้านมนุษยธรรมจะช่วยเหลือพวกเขาในการจัดการกับทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และมีจริยธรรม

ข้อเสนอแนะดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ ดร. Diane Archer ที่เน้นย้ำให้ตระหนักถึงประเด็นการแบกรับภาระจากความพยายามปรับตัวตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรกรในชุมชน โดยหยิบยกกรณีการเผาไหม้ของเกษตรกรมาฉายภาพว่า ถึงที่สุดแล้วเรามักจะพุ่งเป้าการก่อมลพิษทางอากาศไปที่เกษตรกรในท้องถิ่น พวกเขามักถูกกล่าวหาว่าเผาอ้อยจนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยไม่ได้ตระหนักถึงว่าทำไมพวกเขาถึงทำเช่นนั้น หรือมีทางเลือกอื่นหรือไม่ เพราะหากจะให้จัดการด้วยเครื่องเก็บเกี่ยวก็นับว่ามีต้นทุนที่มากและอาจเกินกำลังจ่ายของเกษตรกรซึ่งต้องแบกรับภาระหนี้สินอื่น ๆ อยู่ด้วย เช่นนั้นจึงอาจต้องมองไปให้กว้างและครอบคลุมถึงผู้ผลิตหรือบริษัทที่รับซื้ออ้อยไปผลิตน้ำตาลด้วย ที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมมือหาแนวทางจัดการเพื่อไม่ผลักภาระให้กับเกษตรกรแต่เพียงฝ่ายเดียว


04 – บทสรุปของฉากทัศน์การรับรู้ ปรับตัว และฟื้นคืนอย่างเป็นธรรม


ถึงตรงนี้คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่าข้อถกสนทนาและทัศนะของนักวิชาการและนักปฏิบัติข้างต้นเปรียบเสมือนเเว่นที่มี 2 เลนส์ เลนส์เเรกช่วยขยายภาพปัญหาสิ่งเเวดล้อมเเละการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะอีกเลนส์ช่วยส่องให้เห็นหนทางของการเเก้ปัญหาข้างต้น

ซึ่งภาพที่เห็นเเละจินตนาการถึงนั้นยึดโยงอยู่กับคำสำคัญอย่างน้อยสามคำ คือ “เป็นธรรม” “มีส่วนร่วม” เเละ “มีมนุษยธรรม” อธิบายให้ชัดคือการจัดการ เเก้ปัญหาสิ่งเเวดล้อม เเละสร้างความสามารถในการรับรู้ ปรับตัว เเละฟื้นคืนจากการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต พึงคำนึงถึงความเป็นธรรมเเก่ผู้มีส่วนได้เสียในทุกระดับ โดยนับรวมชนพื้นเมือง คนทุกเพศ ทุกอาชีพ มาอยู่ในกรอบของการวิเคราะห์เเละออกเเบบเเนวทางเสมอ โดยต้องไม่กีดกัน โยนภาระ ด้วยข้อเเตกต่างทั้งหลายทั้งปวง เพราะปัญหาสิ่งเเวดล้อมในปัจจุบันยิ่งชัดเจนว่าไม่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคน หลากหลายปัญหาโดยเฉพาะการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นความท้าทายต่อการดำรงชีวิตของคนทุกคนบนโลก การตั้งรับเเละฟื้นกลับจึงต้องไม่เลือกปฏิบัติด้วยการคำนึงถึงเพียงคนบางกลุ่ม บางเพศ หรือบางอาชีพด้วยเช่นกัน

เรียบเรียงใหม่จากการสัมมนา – อติรุจ ดือเระ
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง
บรรณาธิการ – ถิรพร สิงห์ลอ 

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ห้าในซีรีส์องค์ความรู้ชุด “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” (Futures Literacy) ในฐานะหนึ่งเครื่องมือสำคัญแห่งยุคสมัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนผ่านปัจจุบันจากฐานราก ร่วมขับเคลื่อนหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่มีความผันผวนและซับซ้อนได้อย่างยั่งยืน (Resilience) โดยซีรีส์ดังกล่าวเป็นบทสังเคราะห์จากงานสัมมนานานาชาติ “Futures Literacy in a Post-Covid-19 Asia: Solidarity and Transformative Learning” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) เมื่อวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการเผยแพร่บทความผ่านช่องทางของ SDG Move ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565

รับฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook: Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U. และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ Chula Futures Literacy Week ได้ที่เว็บไซต์ www.inter.chula.ac.th/futuresliteracy/

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
 รายงาน IPCC ฉบับใหม่เผยข้อมูลผลกระทบและความเสี่ยงจาก Climate Change ต่อปัญหาสุขภาพปัจจุบัน
1.1 ล้านชีวิตที่เสียไปทั่วภูมิภาคแอฟริกาในปี 2562 มีสาเหตุมาจาก “มลพิษทางอากาศ”
SDG Updates | Climate Change และผลกระทบต่อผู้หญิงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
แม้ถึงปี 2030 จะยังคงมีคน 1 ใน 3 ทั่วโลกที่ใช้เชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษทางอากาศเป็นหลักในการประกอบอาหาร

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2573 เเละเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2573
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม

แหล่งที่มา:
Panel Session 3: Environmental and Climate Justice: Resilient Futures through Transdisciplinary Learning (Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U.)

Last Updated on มิถุนายน 1, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น