“Bali Agenda for Resilience” ผลลัพธ์จากการประชุมระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ ปี 2565

การประชุมระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2565 (Global Platform for Disaster Risk Reduction 2022: GP2022) เป็นการประชุมฟอรัมหลักระดับโลก (Global forum) เพื่อการประเมินและหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการตามกรอบปฏิญญาเซนได (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015-2030) เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จัดขึ้นโดยสำนักงานสหประชาชาติสำหรับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หรือ United Nations Office for Disaster Risk Reduction (UNDRR) ตั้งแต่วันที่ 23 – 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้หัวข้อ “From Risk to Resilience: Towards Sustainable Development for All in a COVID-19 Transformed World” หรือ “จากความเสี่ยงสู่การตั้งรับปรับตัว: มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน บนโลกที่ถูกพลิกโฉมด้วย COVID-19” ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมประมาณ 5,000 คนจาก 193 ประเทศ เป็นผู้เข้าร่วมการประชุมการหารือในครั้งนี้

การประชุม GP2022 ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อติดตามความคืบหน้าของพันธสัญญาของประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่มีต่อด้านการดำเนินงานตามกรอบปฏิญญาเซนได นับตั้งแต่ได้มีการลงนามรับรองเมื่อ 7  ปีที่แล้ว เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในการบริหารจัดการความเสี่ยง การป้องกันและเตรียมความพร้อมต่อการเผชิญภัยพิบัติ และการฟื้นฟูที่ดี รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

ในการประชุม GP2022 ปีนี้ สะท้อนบทเรียนจากการเกิดการระบาดใหญ่อย่าง COVID-19 ที่ทำให้เห็นว่าวาระการดำเนินการในด้านการป้องกันและการลดความเสี่ยงนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับชุมชนผู้เปราะบาง หากประชาคมโลกต้องการที่จะบรรลุอนาคตที่มีความยั่งยืนแก่ทุกคน นานาชาติจำเป็นจะต้องแสดงความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อหาวิธีการขับเคลื่อนการจัดการความเสี่ยงในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลก พร้อมทั้งสำรวจวิธีการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย/ภัยพิบัติ และวิธีการสร้างระบบที่แข็งแรงสำหรับการจัดการความเสี่ยงจากจากสาธารณภัย/ภัยพิบัติทุกประเภท

Mami Mizutori ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ ด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Special Representative of the Secretary-General for Disaster Risk Reduction) กล่าวในการประชุมว่า “เวทีการประชุมระดับโลกนี้เป็นโอกาสสำหรับประชาคมโลกในการรวมตัวกันเพื่อเรียนรู้จากโศกนาฏกรรม COVID-19 ด้วยการประเมินความสำเร็จและความท้าทายในการปฏิบัติงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และเพื่อเร่งความก้าวหน้าสู่การตั้งรับปรับตัวจากภัยพิบัติและการพัฒนาที่ยั่งยืน”  และเสริมอีกว่า “โลกได้เผชิญกับวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เพียงแต่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสงครามในยูเครนเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดทำให้ความพยายามทุกอย่างหยุดชะงัก”

ผลลัพธ์จากเวทีการประชุม Global Platform for Disaster Risk Reduction ดังกล่าว นำมาสู่ “Bali Agenda for Resilience” หรือ “วาระบาหลีว่าด้วยการตั้งรับปรับตัว” เพื่อขจัดช่องโหว่ของการจัดการความเปราะบางที่เผยขึ้นมาให้เห็นชัดภายใต้การระบาดของโควิด-19 และหลีกเลี่ยงผลจากการคาดการณ์ว่าโลกจะต้องเผชิญ “ภัยพิบัติขนาดกลางและขนาดใหญ่เฉลี่ยวันละ 1.5 ครั้ง จนถึงปี 2573 เว้นแต่ประเทศต่าง ๆ จะเร่งดำเนินการป้องกันและลดความเสี่ยง” โดยมีใจความสำคัญบางประการ อาทิ 

  • ควร “คำนึงถึงการตั้งรับปรับตัว” (Think Resilience) ในการลงทุนและการตัดสินใจ โดยบูรณาการประเด็นการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย/ภัยพิบัติให้ทั้งการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและสังคมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  • การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสาธารณภัย/ภัยพิบัติต้องถูกบูรณาการเข้าไปยังแกนกลางของนโยบายพัฒนา ทั้งในด้านการเงิน กฎหมาย  และแผนการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • การพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัตินานาประเภทล่วงหน้า (multi-hazard early warning systems) โดยจะต้องครอบคลุมทุกชุมชนที่มีความเสี่ยงให้มากที่สุด
  • การฟื้นฟูและการสร้างใหม่จะประสบความสำเร็จมากที่สุดเมื่อขับเคลื่อนโดยชุมชนเอง และให้การสนับสนุนโครงสร้างในท้องถิ่นและกลไกการสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวที่อยู่เดิม
  • มีข้อจำกัดในความเข้าใจเรื่องความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับภัยพิบัติที่อุบัติใหม่และจะเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะที่นโยบายของภาครัฐยังคงทำงานในเชิงรับ

ในขณะที่ประเทศไทย แม้ไม่ได้ส่งรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม ณ ประเทศอินโดนีเซียในครั้งนี้  แต่พรรณภา ณ น่าน ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ประเทศไทยยังคงยึดมั่นการดำเนินการตามกรอบปฏิญญาเซนได รวมถึงกรอบความร่วมมืออื่น ๆ รวมถึงความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งได้ถูกผนวกรวมเข้าในยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับประเทศเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน

● อ่านคำศัพท์และบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Vocab | 38 – Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015-2030 – กรอบปฏิญญาเซนไดเรื่องการลดภาวะเสี่ยงต่อภัยพิบัติปี 2558 – 2573
SDG Updates | เปิดรายงานความก้าวหน้า SDGs ในเอเชียและแปซิฟิก ความมุ่งมั่นบรรลุทันในปี 2030 คงไกลเกินเอื้อม
ระบบเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินระดับชาติที่จัดการ ‘ภัยพิบัติธรรมชาติ’ พร้อมกับ ‘อันตรายทางชีวภาพ’ จะทำให้เอเชียแปซิฟิกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคระบาด – SDG Move
SDG Updates | SDG 18 – สำรวจความเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้อง เป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่หายไป – SDG Move
‘ภัยพิบัติจากน้ำ’ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงมาทุกยุคสมัย และจะเกิดถี่ขึ้น – รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – SDG Move

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
– (11.b) ภายในปี 2563 เพิ่มจำนวนเมืองและกระบวนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เลือกใช้และดำเนินการตามนโยบายและแผนที่บูรณาการ เพื่อนำไปสู่ความครอบคลุม ความมีประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีภูมิต้านทางต่อภัยพิบัติ และให้พัฒนาและดำเนินการตามการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติแบบองค์รวมในทุกระดับ ให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ.2558-2573
#SDG13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
Seventh Session of the Global Platform for Disaster Risk Reduction (GP2022) 
Representatives of 193 countries discuss disaster risk mitigation in Indonesia | Thai PBS World 
Disaster prevention, risk reduction, critical to sustainable future: UN deputy chief | | UN News
GP2022 Bulletin: Summary of the Seventh Session of the Global Platform for Disaster Risk Reduction (GP2022): 23-28 May 2022 – World | ReliefWeb

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on มิถุนายน 2, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น