ปารีส 2 มิถุนายน 2565 – เปิดตัวรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report: SDR) ดัชนี SDG และแดชบอร์ด (SDG Index and Dashboards) ประจําปี 2565 เพื่อติดตามความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รายงานฉบับนี้ระบุว่า วิกฤตการณ์ระหว่างประเทศนานาวิกฤติที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันนั้นได้หยุดยั้งความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาระดับโลก ที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติให้การรับรองร่วมกันในการประชุมสุดยอด (summit) ครั้งประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2558
“50 ปี หลังการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (United Nations Conference on the Human Environment) ณ เมืองสต็อกโฮล์ม เมื่อ พ.ศ. 2515 หลักพื้นฐานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอันได้แก่ ความครอบคลุมทางสังคม (social inclusion) พลังงานสะอาด (clean energy) การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ (responsible consumption) ตลอดจนบริการสาธารณะที่ทั่วถึงและทุกคนเข้าถึงได้ (universal access to public services) เป็นความต้องการมากกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายสำคัญแห่งยุคสมัย กลุ่มประเทศยากจนและเปราะบางได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากหลากหลายวิกฤติทั้งด้านสุขภาพ ภูมิรัฐศาสตร์ และสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลกระทบทางลบต่อเนื่องที่ส่งผ่านมาจากจากวิกฤติเหล่านี้ด้วย (spillovers) เช่นนั้น เพื่อฟื้นคืนและเร่งขับเคลื่อนให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความก้าวหน้า เราจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลกในการยุติการเเพร่ระบาดของโควิด-19 เจรจาหาทางยุติสงครามในยูเครน และสร้างหลักประกันให้มีการสนับสนุนทางการเงินที่จำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
– เจฟฟรีย์ ดี. แซคส์ ประธาน SDSN และผู้เขียนหลัก
Key Messages
- คะแนนดัชนี SDG ของโลกลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน และการส่งผ่านผลกระทบทางลบ (spillovers) ได้หยุดยั้งความก้าวหน้าของ SDGs หลายเป้าหมาย
- เน้นย้ำบทบาทหลักของประเทศกลุ่ม G20 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs) ในการขยายการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการขับเคลื่อน SDGs ทั่วโลก
- ณ ครึ่งทางของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 พบว่ายังมีความแตกต่างกันของหลายประเทศในด้านการบูรณาการ SDGs ในนโยบาย กฎระเบียบ งบประมาณ ระบบติดตาม และขั้นตอนอื่นของภาครัฐ
- ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะได้พบปะกันอีกครั้งในการประชุมสุดยอดว่าด้วย SDGs ในเดือนกันยายน ปี 2566
- ควรขยายผลความร่วมมือและนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้แก่ ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลเพื่อนำมาสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs
โลกไม่มีความก้าวหน้าด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
นานาวิกฤติที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติด้านสุขภาพ สภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิรัฐศาสตร์ และการทหาร ล้วนเป็นอุปสรรคสร้างความชะงักงันแก่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก เห็นได้ว่าคะแนนเฉลี่ยดัชนี SDG ของโลก ลดลงเล็กน้อยจากปี 2564 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลสำคัญมาจากผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อ SDG 1 (ขจัดความยากจน) และ SDG 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) รวมทั้งผลจากการดำเนินงานที่ไม่สู้ดีนัก สำหรับ SDG 11 – 15 (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน) นอกจากค่าใช้จ่ายด้านมนุษยธรรมจำนวนมหาศาลแล้ว ความขัดแย้งทางการทหาร อันหมายรวมถึงสงครามในยูเครน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผ่านผลกระทบทางลบระหว่างประเทศต่อความมั่นคงทางอาหารและราคาพลังงาน ที่ถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติสภาพภูมิอากาศและวิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพอยู่แล้ว เหล่านี้ล้วนมาลดทอนการคิดและการลงทุนในระยะยาว ดังนั้น สันติภาพ การทูต และความร่วมมือระหว่างประเทศ คือเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับโลกในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สำเร็จในปี 2573 และต่อไป
ผลการจัดอับดับตามดัชนี SDG ปี 2565 ปรากฏว่าฟินแลนด์ยังคงครองอันดับ 1 ตามมาด้วยประเทศกลุ่มนอร์ดิก (Nordic) อีก 3 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ ขณะที่ 10 อันดับแรกล้วนเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปทั้งสิ้น ทว่าประเทศเหล่านี้ก็เผชิญกับความท้าทายสำคัญในการบรรลุ SDG หลายเป้าหมายด้วยเช่นกัน ในภาพรวมภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ยังคงมีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs มากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ นับตั้งแต่การรับรองเป้าหมายดังกล่าวในปี 2558 โดยบังคลาเทศและกัมพูชาเป็นสองประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดตามคะแนนดัชนี SDG ตั้งแต่ปี 2558 ตรงข้ามกับประเทศเวเนซุเอลาที่ถดถอยลงมากที่สุด
แผนระดับโลกเพื่อการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนคือความจำเป็นเร่งด่วน
การบรรลุ SDGs ให้สำเร็จได้นั้นมีพื้นฐานมาจากการลงทุนในโครงสร้างทางกายภาพ (physical infrastructure) (หมายรวมถึง พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีดิจิทัล) และในทุนมนุษย์ (human capital) (หมายรวมถึง สุขภาพและการศึกษา) ทว่าประชากรที่ยากจนครึ่งหนึ่งของโลกยังไม่สามารถเข้าถึงตลาดเพื่อเข้าถึงทุนในเงื่อนไขที่สามารถยอมรับได้ โดยบรรดาประเทศยากจนและเปราะบางได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากนานาวิกฤติเเละจากการส่งผ่านผลกระทบทางลบเหล่านั้นด้วย ขณะที่แรงกดดันด้านงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้จ่ายงบประมาณทางการทหารที่เพิ่มสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสำคัญในลำดับความสำคัญของการวางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในประเทศในยุโรป อาจส่งผลให้เงินทุนสำหรับการพัฒนา (development funds) ที่มีอยู่เดิมสำหรับสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกนั้นลดลงไปด้วย ในบริบทเดียวกันนี้ รายงานฯ ได้นำเสนอแผนห้าข้อเพื่อการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก โดยเน้นย้ำถึงบทบาทหลักของประเทศกลุ่ม G20 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs) ในการขยายการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการขับเคลื่อน SDGs ทั่วโลก
ณ ครึ่งทางสู่ ปี 2573 ความพยายามเชิงนโยบายและความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังแตกต่างกันมาก
ขับเคลื่อนมาถึงครึ่งทางของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 การบูรณาการ SDGs ให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย กฎระเบียบ งบประมาณ ระบบการติดตาม ตลอดจนนโยบายและขั้นตอนอื่นของภาครัฐ เหล่านี้ยังคงแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับกลุ่มประเทศสมาชิก G20 อย่างสหรัฐอเมริกา บราซิล และรัสเซีย เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และ SDGs น้อยที่สุด ในทางตรงกันข้าม ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกคือกลุ่มประเทศที่ให้การสนับสนุนมากกว่าโดยเปรียบเทียบ เช่นเดียวกับประเทศอาร์เจนตินา เยอรมนี ญี่ปุ่น และเม็กซิโก (ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก G20) ส่วนบางประเทศอย่างเบนินและไนจีเรีย คือตัวอย่างของประเทศที่แม้จะได้อยู่ในอันดับท้าย ๆ ของดัชนี SDGs แต่มีคะแนนสูงกว่าโดยเปรียบเทียบในส่วนความพยายามขับเคลื่อนนโยบาย นอกจากนี้ ยังน่าสนใจว่าเบนินและเม็กซิโกเป็นสองประเทศที่ตีพิมพ์พันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (SDG Sovereign Bonds) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เพื่อขยายการลงทุนในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะได้พบปะกันเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งเเต่การรับรอง SDGs เมื่อปี 2558 ในเดือนกันยายน ปี 2566 โดยครั้งนี้จะพบปะกันในการประชุมนอกรอบของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สำหรับการประชุมสุดยอดว่าด้วย SDGs (SDGs Summit) เพื่อร่วมกำหนดลำดับความสำคัญของการฟื้นฟูและเร่งขับเคลื่อน SDGs ให้มีความก้าวหน้าภายในปี 2573 และไกลออกไป โดยเป้าหมายระดับชาติ ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติที่ดีและมีความมุ่งมั่น มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อน SDGs ไปสู่วาระของการลงมือทำ
ข้อค้นพบอื่น ๆ จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจําปี 2565
- ประเทศร่ำรวยก่อให้เกิดการส่งผ่านผลกระทบทางลบระหว่างประเทศ (international spillovers) โดยเฉพาะที่มาจากการบริโภคที่ไม่มีความรับผิดชอบ (unsustainable consumption) ซึ่ง ดัชนีของการส่งผ่านผลกระทบทางลบระหว่างประเทศ (international spillover index) ประจำปี 2565 ที่รวมอยู่ในรายงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าบรรดาประเทศร่ำรวยส่งผ่านผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อประเทศอื่น รวมไปถึงผ่านทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ยั่งยืน
- ความร่วมมือและนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้แก่ ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลควรได้รับการขยายผลเพื่อสนับสนุน SDGs เนื่องจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบข้อมูลสามารถใช้ช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ได้ อีกทั้งยังสามารถให้ความแม่นยำในการระบุความท้าทายที่สำคัญในยุคปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในขีดความสามารถเชิงสถิติ การวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) ตลอดจนการศึกษาและพัฒนาทักษะ ที่ควรมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นและมีต่อไปในระยะยาว
สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานะและอันดับใน SDG Index ของประเทศไทย
Key Messages
- ดัชนี SDG จัดอันดับประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 44 ของโลกจากทั้งหมด 163 ประเทศ ได้คะแนนรวมของดัชนี 74.1 คะแนน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ (65.9) อย่างไรก็ดี อันดับและคะแนนของไทยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ได้อันดับ 43 และคะแนนรวม 74.2 คะแนน
- ประเทศไทยยังมีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยประเทศอันดับรองลงมา คือ เวียดนาม (อันดับ 55) สิงคโปร์ (อันดับ 60) มาเลเซีย (อันดับ 72) อินโดนีเซีย (อันดับ 82) บรูไนดารุสซาลาม (อันดับ 93) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 95) เมียนมา (อันดับ 103) กัมพูชา (อันดับ 107) และลาว (อันดับ 111)
- เมื่อพิจารณาภาพรวมของ SDGs แต่ละเป้าหมายพบว่า
- เป้าหมายที่มีสถานะท้าทายขั้นวิกฤติ (แดง) มี 5 เป้าหมาย คือ SDG 2 ขจัดความหิวโหย SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล SDG 15 ระบบนิเวศบนบก และ SDG 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
- เป้าหมายที่มีสถานะท้าทายมาก (ส้ม) มี 10 เป้าหมาย คือ SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ SDG 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ SDG 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศษฐกิจ SDG 9 โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมและอุตสาหกรรม SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG 12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน SDG 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- เป้าหมายที่มีสถานะท้าทาย (เหลือง) มี 1 เป้าหมาย คือ SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ โดยความท้าทายที่ยังคงมีอยู่คือ อัตราการสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา แม้ว่าแนวโน้มคะแนนของตัวชี้วัดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจนสามารถบรรลุเป้าหมายได้และเป็นไปตามแผนภายในปี 2573
- เป้าหมายที่มีสถานะบรรลุเป้าหมาย (เขียว) มี 1 เป้าหมาย คือ SDG 1 ขจัดความยากจน
- เป้าหมายที่มีสถานะท้าทายขั้นวิกฤติ (แดง) มากถึง 4 ใน 5 ได้แก่ SDG 2 ขจัดความหิวโหย SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล SDG 15 ระบบนิเวศบนบก และ SDG 16 ความสงบสุขยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง มีตัวชี้วัดที่แนวโน้มของคะแนนหยุดนิ่งอยู่กับที่หรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 50% ของอัตราที่กำหนด ภายในปี 2573 (ลูกศรสีส้ม) ขณะที่ SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีแนวโน้มที่คะแนนตัวชี้วัดพัฒนาดีขึ้นพอสมควร แม้จะยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมาย (ลูกศรสีเหลือง)
- SDG17 เป็นเป้าหมายที่มีแนวโน้มคะแนนตัวชี้วัดย่ำแย่ลง (ลูกศรสีแดง) โดยตัวชี้วัดดังกล่าว คือ
- งบประมาณภาครัฐที่ใช้ไปกับประเด็นสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการศึกษา
- ยอดรวมรายได้ภาครัฐ คิดเป็นสัดส่วนของ GDP
- ระบบด้านสถิติของชาติ ตามเกณฑ์ Statistical Performance Index (SPI) ของธนาคารโลก
ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจําปีได้ให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุดเพื่อติดตามและจัดอันดับผลการดําเนินงาน SDGs ของประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด ซึ่งรายงานดังกล่าวถูกเขียนโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระ (independent experts) ของเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) นำทีมโดยศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ แซคส์ (Prof. Jeffrey Sachs) ประธาน SDSN ผลิตโดย SDN จัดพิมพ์โดยสํานักพิมพ์ Cambridge University และได้รับทุนสนุนสนับร่วมผลิตจากมูลนิธิ Bertelsmann Stiftung
ดาวน์โหลด รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report: SDR) ประจำปี 2565 ได้ที่ https://www.sdgindex.org และในรูปแบบ Data visualization: https://dashboards.sdgindex.org
ติดต่อ
Guillaume Lafortune | guillaume.lafortune@unsdsn.org | +33 6 60 27 57 50
รองประธานและหัวหน้าเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDSN) สำนักงานปารีส และผู้เขียนร่วม
Prof. Christian Kroll | c.kroll@alumni.lse.ac.uk ผู้เขียนร่วม
Maëlle Voil | media@unsdsn.org | +33 (0) 6 99 41 70 11
Guillaume Lafortune | guillaume.lafortune@unsdsn.org | +33 6 60 27 57 50
เกี่ยวกับ SDSN
Sustainable Development Solutions Network (SDSN) คือ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกที่ได้ระดมความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคจากทั้งภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก SDSN ได้ดําเนินงานมาตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้การสนับสนุนของเลขาธิการสหประชาชาติ ปัจจุบัน SDSN กําลังสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาระดับชาติและระดับภูมิภาค เครือข่ายเชิงประเด็นที4เน้นการแก้ปัญหา และตั้ง SDG Academy ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยออนไลน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีนาคม 2563 โดยมี 4 องค์กรภาคีขับเคลื่อน ได้ แก่ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ในนามคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) ภายใต้สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ปัจจุบันมีสมาชิกทางการในประเทศไทยเป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย 12 แห่ง
ติดต่อ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค | chol.b@sdgmove.com
บสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) เว็บไซต์ : www.sdgmove.com
ดาวน์โหลด Press Release รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report: SDR) ประจำปี 2565 ได้ที่ เอกสารเผยแพร่ และติดตามสรุปและบทวิเคราะห์พร้อมกับทั่วโลกได้ที่ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย – SDSN Thailand และ SDG Move