Site icon SDG Move

SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report 2022 และ SDG Index 2022

ปี 2565 เป็นปีที่เจ็ดหลังการรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศเมื่อปี 2558 และก็เป็นปีที่เจ็ดของการเผยแพร่ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “Sustainable Development Report (SDR)” รายงานการศึกษาและประเมินความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ของแต่ละประเทศ ที่มาพร้อมกับการจัดอันดับ SDG Index ประจำปี ที่ถือได้ว่าเป็นการรายงานผลที่ให้ข้อมูลสถานการณ์ SDGs ที่เป็นปัจจุบันที่สุดอย่างต่อเนื่อง และเป็นการจัดอันดับผลการดำเนินงานด้าน SDGs ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก

รายงาน Sustainable Development Report และ SDG Index ที่จัดทำโดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ในปีนี้ มาในธีม “From Crisis to Sustainable Development: the SDGs as Roadmap to 2030 and Beyond” หรือ “จากวิกฤตสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน: SDGs ในฐานะ roadmap สู่ปี ค.ศ. 2030 และไกลกว่านั้น” เผยแพร่พร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ซึ่งเนื้อหาจะประกอบด้วยข้อค้นพบจากสถานการณ์ความก้าวหน้าและความถดถอยของการดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค ไปจนถึงบทสังเคราะห์ และข้อเสนอแนะจากคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ที่เหนี่ยวรั้งความมุ่งมั่นและความพยายามของทุกภาคส่วนเพื่อการบรรลุ SDGs ให้ทันภายในปี 2573

SDG Updates ขอหยิบ (เฉพาะ) ข้อค้นพบเกี่ยวกับสถานการณ์แนวโน้มความก้าวหน้าของ SDGs และการจัดอันดับ SDG Index มานำเสนอให้ผู้อ่านเห็นภาพใหญ่ของการขับเคลื่อน SDGs ของประชาคมโลก สำหรับผู้อ่านที่สนใจบทสังเคราะห์เชิงลึกและข้อเสนอแนะ สามารถศึกษาได้จากรายงาน ‘Sustainable Development Report 2022 (SDR 2022)’ ฉบับเต็มที่ www.sdgindex.org


01 -สถานการณ์ภาพรวม SDGs ในระดับโลก

“ปี 2564 เป็นปีที่สองติดต่อกันที่โลกไม่มีความคืบหน้าในการบรรลุ SDGs”

วิกฤตระดับโลกที่เกิดขึ้นฉุดรั้งการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ทำให้อัตราความก้าวหน้าในการบรรลุ SDGs ที่ปรากฏในรายงานปี 2565 นี้ยังคงหยุดนิ่งเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยคะแนนรวม SDG Index อยู่ที่ 66.0 คะแนน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปี 2563 อันเป็นผลพวงจากวิกฤตโรคระบาด และวิกฤตอื่น ๆ ทั้งความมั่นคง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยทำให้คะแนนความก้าวหน้าในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจสังคม ได้แก่ SDG 1 (ขจัดความยากจน) และ SDG 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ถดถอยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อย (Low-income Countries: LICs) และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS) รวมไปถึงการฟื้นตัวคืนจากวิกฤตต่าง ๆ ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าในกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางเหล่านี้ ต่างกับกลุ่มประเทศรายได้สูง (High-income Countries: HIC) ที่แม้จะได้รับผลกระทบรุนแรงไม่ต่างกัน แต่ฟื้นตัวเร็วกว่าเนื่องจากมีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินที่มากกว่า

แนวโน้มคะแนน SDG Index เฉลี่ยโลก ตั้งแต่ปี 2553 – 2564 (ค.ศ. 2010 – 2021)

10 อันดับแรกของโลก ใน SDG Index ปี 2565

1. ฟินแลนด์
2. เดนมาร์ก
3. สวีเดน
4. นอร์เวย์
5. ออสเตรีย
6. เยอรมนี
7. ฝรั่งเศส
8. สวิตเซอร์แลนด์
9. ไอร์แลนด์
10. เอสโตเนีย

10 อันดับแรกของ SDG Index ปี 2565 นี้ล้วนเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรปทั้งหมด ไม่ต่างจากการจัดอันดับในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 10 อันดับท้ายตารางล้วนเป็นประเทศแอฟริกาเขตใต้ทะเลทรายซาฮาราที่ยากจน ความแตกต่างที่ชัดเจนนี้จึงทำให้เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องขยายแผนการลงทุนระดับโลกเพื่อการขับเคลื่อน SDGs ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างความก้าวหน้าในการบรรลุ SDGs ให้ทันเวลาแก่กลุ่มประเทศยากจนด้วย

สถานการณ์สถานะและแนวโน้ม SDGs จำแนกตามภูมิภาค และระดับรายได้ของประเทศ

เมื่อพิจารณาต่อถึงความก้าวหน้าหรือถดถอยของเป้าหมาย SDGs ของกลุ่มประเทศที่ถูกจำแนกตามระดับรายได้ รายงาน SDR 2022 ฉบับนี้ ได้ทำให้เห็นแนวโน้มของความสำเร็จและความท้าทายที่แตกต่างกันที่ประเทศที่ร่ำรวยกว่าและประเทศที่ยากจนกว่ากำลังเผชิญอยู่อย่างชัดเจน

สำหรับประเทศรายได้สูง และประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นั้น ข้อมูลปัจจุบันชี้ว่ามีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้มากกว่ากลุ่มประเทศอื่น ๆ (แม้ว่าจนถึงปัจจุบันจะยังไม่มีประเทศใดเลยที่มีสถานะของทุกเป้าหมายเป็นสีเขียว (บรรลุแล้ว) ก็ตาม) โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้มีผลการดำเนินงานที่ก้าวหน้ากว่าในเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย SDG 1 (ขจัดความยากจน) SDG 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG 6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) และ SDG 7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้)

ในขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้กลับมีความก้าวหน้าที่ไม่ดีนักและยังเป็นความท้าทายที่ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย SDG 12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) SDG 13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) SDG 14 (ทรัพยากรทางทะเล) และ SDG 15 (ระบบนิเวศบนบก) และในประเด็นเรื่องระบบอาหารยั่งยืนและอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตาม SDG 2 (ขจัดความหิวโหย)

สำหรับประเทศรายได้ต่ำ ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง หลายประเทศแอฟริกาเขตใต้ทะเลทรายซาฮารา และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก มีความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานดีกว่ากลุ่มประเทศอื่น ๆ ในโลกในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ เป้าหมาย SDG 12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) และ SDG 13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ในขณะที่ก็เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพราะความเปราะบางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากสองเป้าหมายที่ทำได้ดัดังกล่าว ประเทศที่ยากจนกว่าเหล่านี้ยังคงต้องเผชิญความท้าทายมากในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ในมิติสังคมและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ SDG 1 (ขจัดความยากจน) SDG 2 (ขจัดความหิวโหย) SDG 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) SDG 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) SDG 6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) SDG 7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) SDG 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) และ SDG 9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม) และยังไม่มีความสามารถและทรัพยากรมากพอที่จะจัดการกับผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ฉุดรั้งความก้าวหน้าทั้งหมดตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการขับเคลื่อน SDGs ระดับโลกในปีนี้ ก็ยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบทั้งหมดจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามในยูเครนไว้อย่างครบถ้วน เนื่องจากช่องว่างด้านเวลาในการรายงานข้อมูลระหว่างประเทศ 


02 – สถานการณ์ SDGs ในอาเซียน

10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ตามการแบ่งกลุ่มประเทศตามรายงาน SDR ได้ชื่อเป็นภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs มากที่สุด นับตั้งแต่มีการรับเอา SDGs มาเป็นกรอบการพัฒนาระดับโลกร่วมกัน โดยกัมพูชาเป็นหนึ่งในสองประเทศ (ร่วมกับบังคลาเทศ) ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในบรรดาประเทศทั้งหมด หากนำคะแนนของทั้ง 10 ประเทศมาหาค่าเฉลี่ย จะพบว่า คะแนน SDG Index ของกลุ่มอาเซียนของปี 2565 อยู่ที่ 68.3 คะแนน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ที่อยู่ที่ 65.9 คะแนน

อาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไนดารุซซาลาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

สถานการณ์สถานะและแนวโน้ม SDGs ของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน

เมื่อพิจารณาสถานะของทั้ง 17 เป้าหมาย SDGs จะเห็นว่าเป้าหมาย SDGs ที่มีความท้าทายมาก (สีแดง) ร่วมกันของทั้งสิบประเทศสมาชิกอาเซียนใน 5 อันดับแรก คือเป้าหมายดังต่อไปนี้

  • SDG15 ระบบนิเวศบนบก – เป็นเป้าหมายที่ทั้ง 10 ประเทศ มีสถานะท้าทายมากร่วมกัน
  • SDG14 ทรัพยากรทางทะเล – มีสถานะท้าทายมาก ร่วมกันใน 9 ประเทศ ยกเว้น ลาว (ไม่มีพื้นที่ติดทะเล)
  • SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี – มีสถานะท้าทายมาก ร่วมกันใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว
  • SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง – มีสถานะท้าทายมาก ร่วมกันใน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา และลาว
  • SDG2 ขจัดความหิวโหย – มีสถานะท้าทายมาก ร่วมกันใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุซซาลาม ฟิลิปปินส์ และลาว

03 – สถานการณ์ SDGs ของประเทศไทย

ความพยายามในการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อน SDGs อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งจากภาครัฐ ด้วยการผนวกเป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับประเทศ ผ่านความเชื่อมโยงของทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งฉบับที่ 12 และ ฉบับที่ 13 พร้อมทั้งการทำงานอย่างเข้มแข็งและมุ่งมั่นของทั้งภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเสมอมา ทำให้อันดับ SDG Index ของประเทศไทย อยู่ในระดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ และในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจากการจัดอันดับหลายปีซ้อน

5 อันแรกของของการจัดอันดับ SDG Index ในปี 2565 และอันดับของประเทศสมาชิกอาเซียน

สำหรับรายงานปี 2565 นี้ อันดับ SDG Index ของไทย อยู่ที่อันดับ 44 จากทั้งหมด 163 ประเทศ ลงมาจากอันดับ 43 จาก 165 ประเทศ ในการจัดอันดับปี 2564 มีคะแนน SDG Index อยู่ที่ 74.1 คะแนน ลดลงจากปี 2564 เล็กน้อยเพียง 0.1 คะแนน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมคะแนน SDG Index ระดับโลกที่ลดลงเรื่อยมาตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 และเมื่อเปรียบเทียบในระดับทวีป ประเทศไทยได้อันดับ SDG Index เป็นอันดับที่ 3 ของเอเชียรองลงมาจากญี่ปุ่น (อันดับ 19) และเกาหลีใต้ (อันดับ 27) เท่านั้น ทั้งยังเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ และรั้งอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน (2562 – 2565)

เมื่อพิจารณาในระดับเป้าหมาย SDGs สำหรับประเทศไทยนั้นมีเป้าหมาย SDGs ที่อยู่ในสถานะบรรลุแล้ว (สีเขียว) ตั้งแต่รายงานปี 2562 ทั้งหมด 1 เป้าหมาย ได้แก่ SDG1 (ขจัดความยากจน) โดยตัวชี้วัดหลักของการประเมินระดับโลกของเป้าหมายนี้ในการคำนวณคะแแนน SDG Index ปี 2565 นี้คือ เส้นความยากจนสากล (poverty line) ที่เขียนไว้ที่ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (65 บาท) และ 3.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (110 บาท) ซึ่งพบว่าไม่มีประชากรไทยตกอยู่ใต้เส้นความยากจนสากลนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเรื่องความยากจนโดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนของประเทศไทย ปี 2563 ซึ่งกำหนดไว้ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน รายงานเรื่องสถานการณ์ความยากจนความเหลื่อมล้ำปี 2563 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่ามีประชากรที่ถือว่าเป็นคนจน 68.4% และคิดเป็นจำนวนคนจน 4.8 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า

สถานการณ์สถานะและแนวโน้ม SDG Index ประจำปี 2565 (ค.ศ. 2022) ของประเทศไทย

สำหรับเป้าหมาย SDGs ที่อยู่ในสถานะมีความท้าทายมาก (สีแดง) ยังคงมีจำนวน 5 เป้าหมายเท่ากับปีก่อน แต่มีการเปลี่ยนแปลงในเป้าหมาย กล่าวคือ ในรายงานปี 2564 เป้าหมาย SDG2 SDG3 SDG10 SDG14 และ SDG15 คือเป้าหมายที่มีความท้าทายสูง ในปีนี้ ผลการดำเนินงานของ SDG10 ดีขึ้น จึงขยับสถานะมาเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย (สีส้ม) และมีเป้าหมาย SDG16 ได้กลายมาเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายสูงแทน โดยสามารถสรุป ..

เป้าหมายและตัวชี้วัดที่มีความท้าทายมากของประเทศไทย จาก SDG Index ปี 2565 ได้ดังนี้

  • SDG2 ขจัดความหิวโหย – มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องดัชนีการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน (Sustainable Nitrogen management index) และ การส่งออกยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตราย ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร
  • SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี – มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องอุบัติการณ์ของวัณโรค และอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 
  • SDG14 ทรัพยากรทางทะเล – มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องพื้นที่ทางทะเลที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับการคุ้มครอง และดัชนีสุขภาพมหาสมุทรในคะแนนความสะอาดของน้ำทะเล 
  • SDG15 ระบบนิเวศบนบก – มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องพื้นที่แหล่งน้ำจืดที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับการคุ้มครอง และดัชชีบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red list index of species survival)
  • SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง – มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องอัตราการฆาตกรรม* และดัชนีการรับรู้การทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption perception index)

หมายเหตุ: *ฐานข้อมูลสากลของตัวชี้วัดนี้ คือ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ยกเลิกข้อมูลอัตราการฆาตกรรมต่อประชากรแสนคนของไทยเดิมที่ใช้ประกอบการประเมินใน SDG Index ปี 2564 ซึ่งเป็นข้อมูลจากปี 2560 (ค.ศ. 2017) ด้วยเหตุผลทางสถิติและมีข้อมูลล่าสุดที่แสดงอยู่ในช่วงที่มีการดึงข้อมูลเพื่อจัดทำ SDG Index ปีนี้ (2565) คือข้อมูลในปี 2554 (ค.ศ. 2011) จึงทำให้ข้อมูลนี้อาจไม่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน


| คะแนน “ความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs”

ความน่าสนใจประการหนึ่งของรายงาน SDR ในปีนี้ คือ การให้คะแนน “ความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs” ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจของ SDSN เพื่อติดตามว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศได้ผนวกรวม SDGs เข้าไปในการทำงานมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด ได้แก่

  1. มีการแถลงการณ์ทางการระดับสูงเกี่ยวกับ SDGs
  2. มีการผนวก SDGs เข้าไปในยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานระดับประเทศ
  3. มีการผนวก SDGs เข้าไปในงบประมาณระดับชาติ
  4. มีการติดตามและประเมินผล SDGs ระดับชาติ
  5. มีการกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพในการดำเนินงาน SDGs
  6. มีการผนวก SDGs เข้าไปในแผนฟื้นฟูโควิด-19 ระดับชาติ และ
  7. มีการรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR)

โดยในปีนี้ SDSN ได้รวบรวมผลสำรวจจากกว่า 60 ประเทศ ประเมิน และให้คะแนนความมุ่งมั่น ตามช่วงลำดับคะแนน ตั้งแต่ 0-40 คะแนน เท่ากับ ระดับต่ำมาก 40-50 คะแนน เท่ากับ ระดับต่ำ 50-65 คะแนน เท่ากับ ระดับปานกลาง 65-80 คะแนน เท่ากับ ระดับสูง และ 80-100 คะแนน เท่ากับ ระดับสูงมาก

การประเมินครั้งนี้พบว่า ยังไม่มีประเทศใดเลยที่ได้คะแนนไปถึงระดับสูงมาก อย่างไรก็ตาม มีทั้งหมด 15 ประเทศที่มีคะแนนถึงช่วงระดับสูง ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรีย เบนิน โคลอมเบีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ ไนจีเรีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์

ส่วนประเทศไทยได้คะแนนความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs อยู่ที่ช่วงระดับปานกลาง ร่วมกับอีก 23 ประเทศ ซึ่งเป็นช่วงคะแนนที่ประเทศส่วนใหญ่ได้

อย่างไรก็ตาม การให้คะแนนความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในปีนี้ ยังคงเป็นเวอร์ชันนำร่อง (pilot version) เนื่องจากข้อมูลนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่ภายใต้ข้อควรพิจารณาและข้อจำกัดหลายประการ


ดาวน์โหลด Press Release ฉบับเต็มในภาษาไทยที่ – https://www.sdgmove.com/2022/06/02/press-release-key-messages-sdr-2022-th
ติดตามบทวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ที่ Facebook page เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย – SDSN Thailand และ SDG Move TH
สามารถดาวน์โหลด รายงาน SDR 2022 ฉบับเต็มได้ที่ www.sdgindex.org และศึกษา SDG Dashboard ได้ที่ https://dashboards.sdgindex.org

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับ Sustainable Development Report (SDR) และ SDG Index
Director’s Note: 13: สถานะ SDGs ประเทศไทย SDG Index vs รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563
SDG Insights | Inside SDG Index: ไขข้อข้องใจ SDG Index – ไทยยั่งยืนกว่าสิงคโปร์จริงหรือ? และอันดับ SDG Index เป็นผลงานรัฐบาล คสช. และ พปชร. หรือไม่ เพียงใด ?
SDG Insights | Inside SDG Index : เจาะลึก SDG Index 2021 ของประเทศไทย
SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report และ SDG Index 2021
Director’s Note: 05 สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนอ่าน Sustainable Development Report และSDG Index
SDG Insights | สถานะประเทศไทยจาก SDG Index: 4 ปีผ่านไป อะไรดีขึ้นหรือแย่ลงบ้าง ?

เรียบเรียง – เนตรธิดาร์ บุนนาค
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง

Author

Exit mobile version