“โควิด 19 ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยในหลายมิติ ทั้งพฤติกรรมทางสุขภาพ ชีวิตการเรียน-การทำงาน การท่องเที่ยวเดินทาง และความสัมพันธ์ในครอบครัว ผลกระทบเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”
ในทุกปีสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จะร่วมจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย เพื่อรวบรวมประเด็นสำคัญทางสุขภาพและสังคมของปีนั้นเพื่อเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต
สำหรับ “รายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2565: ครอบครัว ไทยในวิกฤตโควิด-19” นำเสนอ 12 ตัวชี้วัดทางสุขภาพ 10 สถานการณ์สำคัญทางสุขภาพ 4 ผลงานดี ๆ เพื่อสุขภาพคนไทย และบทความพิเศษ “ครอบครัวไทยในวิกฤตโควิด 19” เพื่อฉายภาพผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด 19 ต่อสถาบันครอบครัวไทย ทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ
ข้อค้นพบจาก 12 หมวดตัวชี้วัดผลกระทบของโควิด 19 ต่อสุขภาพคนไทย
คณะทำงานพัฒนา 12 ตัวชี้วัดจากกรอบแนวคิดดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index: HAI) เพื่อเสนอข้อมูลความก้าวหน้าของคนในด้านต่าง ๆ อย่างครอบคลุม ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา ชีวิตการงาน รายได้ ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ชีวิตครอบครัวและชุมชน การคมนาคมและการสื่อสาร และการมีส่วนร่วม สะท้อนออกมาเป็นระดับความอยู่ดีมีสุขและคุณภาพชีวิตของคนไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยมีรายละเอียดสถานการณ์แต่ละหมวดในปีที่ผ่านมา ดังนี้
ตัวชี้วัดที่ 1 – การระบาดของโควิด 19
ในเดือนสิงหาคม 2564 เป็นเดือนที่มียอดการระบาดของโควิด 19 สูงสุดสำหรับปีนั้น โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 217 ราย/วัน ผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 19,595 ราย/วัน และเมื่อเทียบสัดส่วนการได้รับวัคซีนครบโดสของประชากรไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของอาเซียน และมีประชากรไทยได้รับวัคซีนครบโดสร้อยละ 66
ตัวชี้วัดที่ 2 – พฤติกรรมสุขภาพ
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 พบผลกระทบต่อพฤติกรรมทางสุขภาพที่สำคัญ ดังนี้
- การบริโภคอาหาร – ร้อยละ 37.8 ของประชากรกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ มีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และลดการบริโภคอาหารครบถ้วนตามโภชนาการในช่วงการแพร่ระบาด
- กิจกรรมทางกาย – ร้อยละ 14.1 ของกลุ่มเด็กและเยาวชนเท่านั้นที่มีสัดส่วนการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใหญ่ (ร้อยละ 75.1) และกลุ่มผู้สูงอายุ (ร้อยละ 64.5) ซึ่งเป็นผลจากการที่เด็กและเยาวชนต้องใช้เวลาในการเรียนออนไลน์
- พฤติกรรมการที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ – การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ลดลงในช่วงการแพร่ระบาด แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเล่นพนัน และมีผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ตัวชี้วัดที่ 3 – สุขภาพกาย
ในช่วงปี 2563 – 2564 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ถึง 21,698 ราย ขณะที่มีผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทันท่วงทีและประมาณการว่าประเทศไทยเกิด “การตายส่วนเกิน” (excess deaths) ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดครั้งนี้อีกเกือบ 6 หมื่นราย ซึ่งเป็นการตายที่อาจหลีกเลี่ยงได้หากไม่เกิดวิกฤติโควิด 19
ตัวชี้วัดที่ 4 – สุขภาพจิต
ในปี 2564 ที่ผ่านมา พบข้อมูลผู้มีภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายเป็นสัดส่วนสูงมากในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีสาเหตุเชื่อมโยงถึงเรื่องในครอบครัว การเรียน และความกังวลในอนาคตที่ไม่แน่นอนของตนเอง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโดยตรงทางเศรษฐกิจ จากการตกงาน หรือสูญเสียรายได้หรือธุรกิจ มีความเสี่ยงในภาวะสุขภาพจิตดังกล่าวสูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า
ตัวชี้วัดที่ 5 – การเข้าถึงบริการสุขภาพ
การรับบริการที่สถานพยาบาลและการซื้อยารับประทานเองลดลงในช่วงโควิด 19 ระบาด และตัวเลขการเข้ารักษาอย่างต่อเนื่องในสถานพยาบาลลดลงราวร้อยละ 8 โดยผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และแม่และเด็ก ล้วนเป็นกลุ่มคนที่เข้ารับบริการสุขภาพลดลง เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงบริการที่สถานพยาบาลได้ในช่วงการแพร่ระบาด และอาจจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
ตัวชี้วัดที่ 6 – การศึกษา
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ทำให้ 3 ใน 5 ครัวเรือนจากการสำรวจเผชิญปรากฏการณ์การถดถอยของการเรียนรู้ การหลุดออกจากระบบการศึกษา และการเข้าไม่ถึงโอกาสการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามช่วงวัยของผู้เรียนในช่วงที่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มเด็กที่ครอบครัวยากจน
ตัวชี้วัดที่ 7 – ชีวิตการทำงาน
จำนวนตัวเลขการว่างงานของผู้ที่เคยมีงานทำเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จาก 2.1 แสนคน เป็น 4.8 แสนคน ภายหลังการเกิดการระบาด และในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ในภาคบริการและการค้า ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า มีจำนวนผู้ว่างงานราว 3.6 แสนคนเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564
ตัวชี้วัดที่ 8 – รายได้
ข้อมูลจากรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยของ ศสช. พบว่าระดับรายได้ต่อหัวประชากรของประเทศในปี 2563 ลดลงร้อยละ 7.4 ขณะที่มูลค่าหนี้สินรวมเฉลี่ยต่อครัวเรือนในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 2.1 แสนบาท สะท้อนความเปราะบางทางเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยอันเป็นผลจากวิกฤตโรคระบาด
ตัวชี้วัดที่ 9 – ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อและขยะพลาสติกสูงขึ้นเกือบเท่าตัว โดยขยะติดเชื้อเพิ่มเป็นมากกว่า 8,234 ตันต่อวัน มีการสร้างขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นคิดเป็น 135 กรัมต่อคนต่อวัน อย่างไร ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ลดลงเหลือ 25.4 ล้านตันในปี 2564 เมื่อเทียบกับ 28.7 ล้านตันในปี 2562
ตัวชี้วัดที่ 10 – ชีวิตครอบครัวและชุมชน
พบปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจัยความเครียดของการจำกัดการเดินทางและต้องอาศัยในที่พักเป็นช่วงเวลานานขึ้น โดยในช่วงต้นปี 2563 พบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.2 เมื่อเทียบกับภาพรวมในปี 2560 ที่อยู่ที่ร้อยละ 34.6
ตัวชี้วัดที่ 11 – การคมนาคมและการสื่อสาร
ในด้านคมนาคม พบว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง ในส่วนของการสื่อสาร พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีประชากรสูงถึงร้อยละ 77.8 มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน
ตัวชี้วัดที่ 12 – การมีส่วนร่วม
พบว่าในช่วงการระบาด มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์และการใช้แอปพลิเคชันผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยสื่อสังคมออนไลน์นั้นถือเป็นช่องทางสำคัญของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม และการมีระบบอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานและองค์กรชุมชนเป็นปัจจัยสร้างการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งและสนับสนุนความช่วยเหลือเยียวยาในระดับครอบครัวได้อย่างดี
● อ่านข่าวและบทความเพิ่มเติม
– หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนยากจนขั้นรุนแรงเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
– โควิด-19 กระทบต่อเทรนด์การเติบโตของ “ผลิตภาพแรงงาน” ในเอเชียแปซิฟิก โดยเป็นไปอย่างไม่ได้สัดส่วน
– ‘Broken Generation’ เด็กและเยาวชนที่แตกสลาย เมื่อโควิด-19 ในอินเดียคร่าชีวิตคนรุ่นพ่อแม่
– รายงาน สกสว. ระบุ ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ไทยมีคนจนเพิ่มขึ้นเกือบ 8 แสนคนในปี 2563
– SDG Insights | แรงงาน…สู่โลกหลังโควิด-19
– ผู้หญิงญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในปี 2020 อาจเพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงรุนแรงกว่า
– ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19: UN Women, UNODC, IAWP ออกคู่มือสำหรับตำรวจ จัดการเคสโดยคำนึงประเด็นทางเพศและ “ผู้รอดชีวิต” เป็นศูนย์กลาง
– ช่องว่างทางดิจิทัลระหว่างเพศ ทำให้ประเทศรายได้ต่ำสูญเสีย GDP รวมกันไปกว่าหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ต่อปี
– SDG Insights | รถ ถนน การเดินทาง : ทำไมประเทศไทยจึงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในโลก
10 สถานการณ์เด่นรอบปี และ 4 ผลงานเพื่อสุขภาพคนไทย
รายงานสุขภาพคนไทยฉบับนี้ ได้หยิบยกสถานการณ์เด่นทางสุขภาพและผลงานที่ผลักดันให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้นที่เกิดขึ้นในปี 2564 หรือ “สถานการณ์เด่น 10+4” เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของสังคม เชื่อมโยงประเด็นผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพและความปลอดภัย ไปจนถึงนโยบายหรือแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
| 10 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ
สถานการณ์เด่นที่ 1 – โควิด 19 กับการทำงานที่บ้าน (work from home) และผลกระทบ
ในแง่ดี การทำงานจากที่บ้านสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในแง่ลบ ส่งผลหนักกว่าต่อผู้ที่ไม่มีทักษะด้านเทคโนโลยี และการขาดอุปกรณ์ที่เหมาะสม จึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เกิดผลเสียต่อทั้งสุขภาพทางกายและใจ ดังนั้น แรงงานทุกคนจึงควรเตรียมความพร้อมด้านทักษะสำหรับรูปแบบการทำงานแบบผสม (hybrid) ในอนาคต
สถานการณ์เด่นที่ 2 – ปลดล็อกกัญชา กัญชง และพืชกระท่อม: เงื่อนไข และผลต่อเศรษฐกิจชุมชน
การแก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษที่เกี่ยวกับกัญชา กัญชง และกระท่อม มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีการผ่อนปรนข้อห้ามต่าง ๆ ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงต้องคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมได้อย่างปลอดภัย
สถานการณ์เด่นที่ 3 – โฆษณาอาหารเสริมเกินจริง: ควรแก้ปัญหาอย่างไร?
การโฆษณาถึงสรรพคุณที่เกินจริงของสินค้าเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เป็นความท้าทายที่ภาครัฐยังคงต้องทำการปรับปรุงข้อกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวปฏิบัติให้รัดกุมอย่างต่อเนื่อง และต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจและประชาชน รวมไปถึงควรมีการเปิดเผยข้อมูลการอนุญาตโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ถึงข้อความโฆษณาที่ได้รับอนุญาตและไม่หลงเชื่อสื่อโฆษณาเกินจริงโดยง่ายเกินไป
สถานการณ์เด่นที่ 4 – แรงงานข้ามชาติในยุคโควิด 19: ก้าวข้ามการแยกเขาแยกเรา สู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา
ความเหลื่อมล้ำในการรับบริการด้านสุขภาพยังคงต้องการแนวทางการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมประเด็นสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งแก่คนไทย คนต่างชาติ รวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อย่างไม่แบ่งแยก รวมทั้งต้องมีการประสานความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน โดยภาครัฐต้องพัฒนานโยบายการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและการเข้าถึงระบบสุขภาพอย่างทั่วถึงให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
สถานการณ์เด่นที่ 5 – โรงงานหมิงตี้ระเบิด บทเรียนภัยพิบัติจากโรงงานสารเคมี
ปัญหาจากการระเบิดของสารเคมีที่รุนแรงและกินพื้นที่เป็นวงกว้าง สะท้อนความท้าทายของการจัดการด้านอุบัติภัยและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งยังขาดประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างไม่ทันท่วงที ดังนั้น จุงควรมีมาตรการรองรับปัญหาที่เหมาะสม อาทิ การพิจารณาบังคับใช้กฎหมายกำหนดเขตผังเมือง การพัฒนากลไกและมาตรการติดตามผู้ได้รับผลกระทบ และการกำหนดกฎหมายข้อมูลกลางสารเคมีและการเคลื่อนย้ายสารเคมีต่าง ๆ
สถานการณ์เด่นที่ 6 – เกษตรอัจฉริยะ (smart farming) และอนาคตเกษตรไทย
จากปัญหารายได้และหนี้ครัวเรือนภาคการเกษตรของไทยสะท้อนนโยบายที่ยังไม่ตอบโจทย์การแก้ไขได้ดีเท่าที่ควร ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ด้วยการสนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกมาเป็นรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ หรือ smart farming ด้วยการใช้ประโยชน์จากความรู้และเทคโนโลยี จะช่วยยกระดับการผลิตและผลผลิตทางการเกษตรได้ในระยะยาว
สถานการณ์เด่นที่ 7 – ไทยกับ RCEP และ CPTPP: ผลกระทบและข้อระวัง
ประเทศไทยต้องมีกลไกการทบทวนการเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะหากข้อตกลงเหล่านั้นจะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งกระบวนการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTTP) ควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และเพื่อเป็นการวางแผนกรอบการเจราจาที่ยืดหยุ่น และลดความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
สถานการณ์เด่นที่ 8 – การเมืองบนท้องถนน กับหนทางออก
ในปีที่ผ่านมา สถานการณ์ทางการเมืองทำให้เกิดม็อบการเมือง และการใช้ความรุนแรงระหว่างรัฐและผู้ชุมนุม รวมไปถึงการดำเนินคดีทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น จึงควรสร้างพื้นที่ให้ประชาชน ระบบรัฐสภาและพรรคการเมืองมีบทบาทคู่ขนานที่ผสานความร่วมมือในการแก้ปัญ และให้มีการรวบรวมข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องจากทุกฝ่ายเพื่อการหาทางออกของการปฏิรูปทางการเมืองโดยสันติ
สถานการณ์เด่นที่ 9 – น้ำท่วมซ้ำซาก ผลกระทบและการปรับตัว
ปัญหาน้ำท่วมของไทยเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองและชุมชนอย่างรวดเร็ว การใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และผลกระทบจาดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนกับภาครัฐให้ทั้งสองฝ่ายมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ตน ซึ่งอาจทำให้ได้แนวทางการป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สถานการณ์เด่นที่ 10 – #saveบางกลอย กับประเด็นเรื่องสิทธิทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์
การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่บางกลอยเป็นภาพสะท้อนประเด็นสิทธิที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางวัฒนธรรม ฯลฯ ของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย ภาครัฐควรมีการแก้ไขปัญหาด้วยการเร่งการเจรจา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากทุกภาคส่วน ปรับปรุงกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีในพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนของตนให้มีความยั่งยืน
● อ่านข่าวและบทความเพิ่มเติม
– www.medcannabis.go.th เว็บไซต์ ‘กัญชาทางการแพทย์’ โดยกระทรวงสาธารณสุข
– SDG Updates | โควิด-19 แพร่ระบาดไม่เลือกหน้า แต่ไทยให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทุกคนในประเทศแล้วหรือยัง?
– บทเรียนผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชอร์โนบิลสู่เหตุไฟไหม้โรงงานผลิตโฟม ซอยกิ่งแก้ว 21
– SDG Updates | Blockchain ช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานและแก้ปัญหาด้านข้อมูลของภาคเกษตรไทยได้อย่างไร ?
– SDG Insights | มอง CPTPP ผ่านเลนส์ SDGs: การพัฒนาที่ไม่สมดุล
– SDG Insights | เราจะอยู่อย่างไรใน ‘ภาวะน้ำท่วม’ และ ‘โควิด-19’ : การปรับตัวและการเรียนรู้
– SDG Insights | ความน่าจะเป็นของมรดกโลกแบบผสมผสาน (Mixed Heritage) : กรณีกลุ่มป่าแก่งกระจาน
| 4 ผลงานเด่นเพื่อสุขภาพคนไทย
ผลงานที่ 1 – ไทยมุ่งพัฒนา “การแพทย์จีโนมิกส์” รักษา 5 กลุ่มโรค
ไทยมีแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genonmics Thailand) พ.ศ. 2563-2567 เพื่อสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมคนไทย แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในระบบสาธารณสุข พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างมีคุณภาพและครอบคลุมการรักษาใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มผู้ป่วยแพ้ยา
ผลงานที่ 2 – ไทยมุ่งพัฒนาวัคซีนโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA (ChulaCov19) นำโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการจับโปรตีนของไวรัสโคโรนาได้เทียบเท่ากับวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ถึง 94% และสามารถกระตุ้นแอนติบอดี้ในร่างกายผู้ได้รับวัคซีนได้สูง สามารถป้องกันไวรัสโคโรนาได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ รวมถึงกระตุ้นภูมิคุ้มกัน T-cell ได้ดี โดยคาดว่าจะใช้จริงในมนุษย์ได้ภายในปี 2565
ผลงานที่ 3 – ผลักดันนโยบายภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัล United Nations Inter-Agency Task Force (UNIATF Award) on the Prevention and Control of Non-communicable Diseases ในการประชุมคู่ขนาน ของการประชุมองค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 จากผลงานการผลักดันมาตรการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพื่อควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยมี สสส. ร่วมขับเคลื่อนด้วยผ่านการสร้างเครือข่ายการทำงาน
ผลงานที่ 4 – ไทยผลิตยาเลิกบุหรี่จาก “เม็ดจามจุรีสีทอง”
การศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ค้นพบสารออกฤทธิ์สำคัญ หรือยาในชื่อ “ไซทิซีน” (cytisine) ที่ได้สารสกัดจากเมล็ดของต้นจามจุรีสีทอง มีสรรพคุณในการถอนนิโคตินและทำให้ผู้ใช้รู้สึกผ่อนคลายไม่หงุดหงิดเมื่ออยู่ระหว่างการเลิกบุหรี่ โดยยาดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง และเมื่อพัฒนาสำเร็จจะมีการผลักดันให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้ผู้ต้องการเลิกบุหรี่ได้ใช้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ในรายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2565 นี้ ยังได้นำเสนอบทความพิเศษประจำฉบับ ในหัวข้อ “ครอบครัวไทยในวิกฤติโควิด 19” ซึ่งบอกเล่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของครอบครัวในหลายมิติ และผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 ที่เกิดต่อสถาบันครอบครัว ชุมชน สังคม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบเนื้อหาที่มีใจความสำคัญ 6 ประเด็น ได้แก่ 1) การเกิดในยุคโควิด 19 2) การเรียนออนไลน์ 3) สภาพทางเศรษฐกิจและการทำมาหากินของครอบครัวในยุคโควิด 19 4) ประเพณีและวัฒนธรรมครอบครัว 5) สังคม ชุมชน กับครอบครัวในสถานการณ์โควิด 19 และ 6) วิกฤตการณ์น้ำท่วมปลายปี 2564: การซ้ำเติมต่อครอบครัวไทย
รายงานสุขภาพคนไทยฉบับล่าสุดได้ประมวลผลและสังเคราะห์สถานการณ์ด้านสุขภาพของคนไทยตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่อาจไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยก็ได้มีการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ โดยการถอดบทเรียนของผลกระทบในทุกมิติของการระบาดใหญ่ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินล่วงหน้าที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในระยะยาว รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกมิติได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
บรรณาธิการ – เนตรธิดาร์ บุนนาค
ภาพประกอบ – วิจณีย์ เสนแดง
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.5) เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
– (3.6) ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเป็นหลัก (Labour intensive)
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัฒกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.c) เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี 2563
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย