ในปัจจุบันโลกของเราต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่รุนแรงมากมาย ทำให้ต้องกลับมาพิจารณาทบทวนว่าบทเรียนจากการทำงานเพื่อสร้างความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกในอดีตที่ผ่านมาจะช่วยโลกได้อย่างไร ผ่านการความร่วมมือพหุภาคีขึ้นใหม่ในโลกหลังโควิด จึงอยากชวนผู้อ่านร่วมศึกษาบทเรียนด้านนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมจากซีรีส์บทความ “Still Only One Earth” เพื่อให้เราย้อนกลับมาตระหนักว่า เรายังคงมีโลกเพียงใบเดียว
โปรเจกต์ชุดบทความ “Still Only One Earth” ที่ตั้งชื่อให้สอดคล้องกับธีมของวันสิ่งแวดล้อมโลกใน ปี 2565 นี้ ได้ทีมนักเขียนของ Earth Negotiations Bulletin (ENB) ร่วมถอดบทเรียนและจัดทำบทความสังเคราะห์ สรุปรายงานประเมินความสำเร็จและจุดอ่อนของนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อมตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา โดยโปรเจกต์นี้เริ่มต้นตั้งแต่กรกฎาคม 2563 ถึง มิถุนายน 2565 และเผยแพร่ก่อนการจัดประชุม Stockholm+50 เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ที่การประชุมระดับโลกอันเป็นรากฐานของนโยบายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมจนถึงปัจจุบัน หรือ การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UN Conference on the Human Environment) จัดขึ้นครั้งแรก ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อปี 2515 (ค.ศ. 1972)
บทความ 40 ชิ้นในโปรเจกต์นี้ ได้คณะทำงานจาก Earth Negotiations Bulletin (ENB) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สื่อข่าวสารประจำวันด้านการเจรจาของสหประชาชาติในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (IISD) ประกอบด้วย ทีมนักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารที่มีประสบการณ์ยาวนาน มาร่วมถ่ายทอด “บทเรียน” ตลอด 50 ปีที่ผ่านมาของความพยายามเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและคำนึงถึงมิติสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศแคนาดา นอร์เวย์ และสวีเดน ในการจัดทำซีรีส์นี้
- บทเรียนที่น่าสนใจจาก Still Only One Earth
ซีรีส์ถอดบทเรียนนโยบายสิ่งแวดล้อม “Still Only One Earth” ชุดนี้ ไม่เพียงแต่พิจารณาความก้าวหน้าหรือการถดถอยของนโยบายความร่วมมือระดับโลกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดมา ยังแสดงความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมกับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ผู้คนต้องพบเจอ โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นแนวทางสำหรับความพยายามในอนาคตเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม เพื่อเตือนใจมนุษยชาติอยู่เสมอว่าเราไม่ได้มีบ้านหลังอื่น แต่บ้านของเรามีเพียงดาวเคราะห์ดวงนี้เท่านั้น – โลกของเรามีเพียงแค่ใบเดียว
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | การประชุม ‘Stockholm+50’ ครบรอบ 50 ปี จุดกำเนิดความร่วมมือพหุภาคีเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก
– SDG Updates | ดัชนี้วัดผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (EPI) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
– Still Only One Earth: Lessons from 50 years of UN sustainable development policy
– ENB team | IISD Earth Negotiations Bulletin
– Stockholm+50 | IISD Earth Negotiations Bulletin
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย