ในทุก ๆ เดือนผู้คนประมาณ 1.8 พันล้านคนทั่วโลกอยู่ในภาวะมีประจำเดือน และมีทั้งเด็กหญิง ผู้หญิง ผู้ชายข้ามเพศ และบุคคลในเพศสภาพต่าง ๆ อีกหลายล้านคนที่ประสบปัญหาไม่สามารถจัดการเรื่องรอบเดือนของตนเองได้อย่างถูกหลักอนามัย รายงานของยูนิเซฟ (UNICEF) หรือ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติพบว่า สาเหตุมาจากความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ (gender inequality) บรรทัดฐานของสังคมที่เลือกปฏิบัติ (discrimination) และการขาดบริการขั้นพื้นฐาน เช่น ห้องน้ำสะอาดและผลิตภัณฑ์สุขอนามัย เป็นต้น หรือตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ความยากจนในช่วงมีประจำเดือน” (period poverty) จนไม่สามารถซื้อหาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น UN กล่าวว่าในหลายประเทศ ผู้มีประจำเดือนถูกห้ามทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหลายประการ อาทิ การรับประทานอาหารบางชนิด การเข้าสังคมพบปะผู้คน และการไปโรงเรียน ทำให้รัฐบาลในหลาย ๆประเทศมีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนทั้งสุขอนามัยของผู้ที่มีประจำเดือนและทลายข้อจำกัดต่าง ๆ
ปัจจุบัน รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขอนามัยในเรื่องประจำเดือนมากขึ้น จึงขอหยิบยกตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและน่าสนใจ มาบอกเล่าให้แก่ผู้อ่าน
- เริ่มจากในปี 2563 ประเทศสกอตแลนด์ เป็นประเทศแรกในโลกที่บุกเบิกนโยบายเพื่อลดภาระทางการเงินของผู้มีประจำเดือน มีการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยและจัดหาผ้าอนามัยให้ผู้หญิงเข้าถึงได้ฟรี ทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานที่ทำงาน
- รัฐบาลประเทศนิวซีแลนด์ ได้ประกาศให้ทุกโรงเรียนมีบริการผ้าอนามัยฟรีตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2564 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผ้าอนามัยของเด็กผู้หญิง หลังจากเคยมีโครงนำร่องให้เยาวชนประมาณ 3,200 คนใน 15 โรงเรียนเข้าถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขอนามัยได้ฟรี ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการขาดเรียนระหว่างมีประจำเดือนได้
- ประเทศเคนยา เป็นประเทศแรกในโลกที่รัฐบาลยกเลิกภาษีสินค้าอนามัยตั้งแต่ปี 2547 เพื่อแก้ปัญหาทั้งสินค้าอนามัยมีสูงเกินจับต้องได้ การตีตราการมีประจำเดือน (period stigma) ว่าเป็นเรื่องสกปรก และการสุขาภิบาลที่ไม่ดีในประเทศ ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกับการมีประจำเดือน และส่งผลกระทบกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและผู้มีรายได้น้อยหนักที่สุด
- เมื่อปี 2561 ณ เมืองหลวงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีการเปิดตัวโครงการนำร่องให้มีการแจกสินค้าอนามัยฟรีสำหรับผู้หญิงในสถานที่สาธารณะ 10 แห่ง ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการสำรวจประชากรในเมืองและการรณรงค์เรื่องความยากจนในช่วงมีประจำเดือน
นอกจากนโยบายที่มุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินค้าเพื่อการดูแลตนเองช่วงมีประจำเดือนแล้ว หลาย ๆ ประเทศในเอเชียมีนโยบายให้ผู้มีอาการเจ็บป่วยจากการมีประจำเดือนได้ (menstrual leave) อาทิ ประเทศอินเดีย ที่ระบุให้มีการลาหยุดพักเมื่อมีประจำเดือน และไต้หวัน ก็ให้สิทธิพนักงานที่มีประจำเดือนได้ลาหยุดสามวันต่อปีตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศในการจ้างงาน (Act of Gender Equality in Employment)
ในขณะที่ประเทศไทย พรรคการเมืองและประชาชนยังคงต้องออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิพื้นฐานนี้ให้กับผู้มีประจำเดือนทุกคน โดยต้องการให้รัฐบาลจัดหาผ้าอนามัยฟรี และยกเลิกการเก็บภาษีเพื่อให้ผ้าอนามัยมีราคาถูกที่สุด เพราะหลายเสียงคิดว่าผ้าอนามัยยังคงมีราคาสูงเมื่อเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำของคนไทย จนทำให้เป็นสินค้าที่สร้างความเหลื่อมล้ำและปัญหาความไม่เท่าเทียม ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระด้านค่าครองชีพของผู้ที่มีประจำเดือน ที่ผู้มีรายได้น้อยบางคนเข้าถึงได้เฉพาะผ้าอนามัยที่มีคุณภาพต่ำหรือต้องใช้ผ้าอนามัยชิ้นเดียวตลอดวัน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ สถานการณ์เหล่านี้ล้วนสะท้อนปัญหาด้านสุขอนามัยและความยากจนช่วงมีประจำเดือน ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งสิ้น
จะเห็นได้ว่า ความพยายามในการแก้ไขปัญหาความยากจนในช่วงเวลาที่มีประจำเดือนเป็นประเด็นที่มีการขับเคลื่อนในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้เข้าถึงห้องน้ำและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยได้อย่างเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น จึงควรเป็นหน้าที่รัฐที่จะจัดสรรสวัสดิการขั้นพื้นฐานนี้ให้ประชาชนทุกคนให้มีสุขอนามัยที่ดี ไม่ว่าจะเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร และมีรายได้มากน้อยเพียงใด และเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ 6 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ว่าด้วย “การสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน”
● อ่านคำศัพท์และบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Vocab | 16 – Sanitation and Hygiene – สุขาภิบาลและสุขอนามัย
– ครั้งแรก! ร้านค้าปลีกรายใหญ่ Lidl ในไอร์แลนด์ เดินหน้า ‘Period Poverty Initiative’ จ่ายแจกผ้าอนามัยให้ผู้หญิงฟรี – SDG Move
– 1 ปีของการใช้ซ้ำถ้วยรองประจำเดือน ทดแทนผ้าอนามัยราว 20 ชิ้นต่อเดือนและอีกหลายร้อยปีกว่าที่ขยะผ้าอนามัยจะย่อยสลาย – SDG Move
– SDG Recommends | Period Poverty Calculator คำนวณเวลาของชีวิตที่เสียไปเพราะความจนในช่วงมีประจำเดือน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.2) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มที่อยู่ใต้สถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
แหล่งที่มา:
– The unsanitary truth about period poverty – and what governments can do
– Menstrual hygiene | UNICEF
– ปิติพงศ์ ดันยกเลิกภาษี ผ้าอนามัย จี้รัฐจัดเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้ผู้หญิง
– Explained: What is menstrual leave and which countries allow it?
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย