แนวคิด “การพัฒนาระหว่างประเทศ” เกิดขึ้นบนความพยายามยกระดับ พัฒนา และนำพาทุกประเทศบนโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ยังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านการพัฒนา ไปยังปลายทางที่คุณภาพชีวิตของประชาชน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคม ก้าวหน้าถึงระดับการพัฒนาหนึ่ง ตามที่โลกสากลกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์วิกฤตใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้น ทั้งที่สามารถคาดการณ์ได้และไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดใหญ่หรือสงครามทางการเมืองและการทหารที่รุนแรงขึ้นทุกวัน การแบ่งแยกทางการเมืองและวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจที่พังทลาย ช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้น ความผันผวนซับซ้อนทั้งหมดได้กลายเป็นความปกติใหม่ของโลกไปแล้ว จึงนำมาสู่ประเด็นถกเถียงว่าการดำเนินงานและการทำความเข้าใจการพัฒนาระหว่างประเทศในห้วงอนาคตที่เต็มไปด้วยวิกฤติจะเปลี่ยนไปเช่นไร
SDG Updates ชุด Futures Literacy (EP.6) คิดถึงความหมายใหม่ “การพัฒนาระหว่างประเทศ” – รับรู้ความเชื่อมโยงของปัญหา เปิดใจฟังความต่าง เข้าใจบริบทท้องถิ่น Futures Literacy ฉบับนี้ขอพาผู้อ่านมาร่วมเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนมุมมองกันระหว่าง นักวิชาการและคนทำงาน ถึงความหมายของการพัฒนาระหว่างประเทศในอนาคต และความเชื่อมโยงระหว่างกันของทุกความท้าทาย โอกาส การกระทำของทุกคนในทุกพื้นที่ที่ได้ร่วมกำหนดทิศทางอนาคตการพัฒนาระหว่างประเทศใหม่ และโอกาสที่ความรู้และแนวคิดเรื่องการพัฒนาจะถูกสร้างร่วมกันผ่านบทสนทนาของความหลากหลาย และความเคารพในวัฒนธรรมท้องถิ่น
เข้าถึงภาพประกอบ Visual Note ขนาดเต็มที่นี่: https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/06/FL-EP6.png
สำหรับการอภิปรายหัวข้อนี้ ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
- ภูมิทัศน์ของการพัฒนาระหว่างประเทศในยุคหลังโควิด-19
- การทำความเข้าใจความแตกต่างของแนวคิดของการพัฒนาระหว่างประเทศ และปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น
- การทบทวนอนาคตของการพัฒนาระหว่างประเทศ
01 – ภูมิทัศน์ของการพัฒนาระหว่างประเทศ ในโลกหลังโควิด-19
| วิกฤตโลกเปลี่ยนแนวโน้ม/ทิศทางการพัฒนา
รองศาสตราจารย์ ดร. Mandy Sadan ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา Global Sustainable Development จากมหาวิทยาลัย Warwick ประเทศอังกฤษ ทบทวนแนวคิดการพัฒนาระหว่างประเทศในภาพรวม จากเดิมที่ทำงานอยู่บนกระบวนทัศน์ของการแบ่งกลุ่มประเทศในโลกเป็น “ซีกโลกเหนือ และ ซีกโลกใต้” (Global North & Global South) หรือประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ที่การพัฒนาขับเคลื่อนโดยประเทศซีกโลกเหนือเป็นหลักและเน้นที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์โลกปัจจุบันแล้ว ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.Jin Sato นักวิชาการจากสถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูงด้านเอเชีย มหาวิทยาลัยโตเกียว และประธานสมาคมญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ก็ได้เห็นด้วยกับประเด็นที่ว่านี้ ว่าการพัฒนาระหว่างประเทศแบบที่เป็นมาอาจไม่ครอบคลุมการแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ในระดับโลก ณ ตอนนี้แล้ว
ภายใต้วิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ที่เป็นผลจากการขาดแคลนเงินทุน เทคโนโลยี ความรู้ และยังสัมพันธ์ถึงวาระการเมืองเบื้องหลังด้วย รศ. ดร.Mandy ยังได้พบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับทำให้เห็นการปฏิสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมโลก เพราะทุกคนรู้สึกความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ทั้งในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาด และในฐานะผู้มีส่วนในการสร้างปัญหาต่อทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความพยายามเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรง คือ การขุดหา แรร์เอิร์ธ (rare earth) แร่ธาตุหายากที่ใช้ในพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition) ที่ต้องแลกมากับ (trade-off) ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมในพื้นที่ทำเหมืองในชุมชนชายขอบที่ห่างไกล และนี่จะเป็นอีกประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในอนาคต
รศ. ดร.Mandy ยังได้เสนอมุมมองจากที่อาศัยอยู่ในยุโรปว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจเป็นตัวกำหนดภูมิทัศน์การพัฒนาของซีกโลกเหนือที่ชัดเจนกว่าผลกระทบจากโควิด-19 เพราะประเทศในยุโรปได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงเนื่องจากวิกฤติพลังงานโดยตรง ที่มาพร้อมกับความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคด้วย จึงอาจทำให้ทิศทางของการพัฒนามุ่งไปทางนั้นรวดเร็วขึ้น
เมื่อถามถึงภูมิทัศน์ของการพัฒนาประเทศต่อจากนี้ Hermes Huang นักปฏิบัติด้านการคิดเชิงออกแบบ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท InsightPact ให้ความเห็นว่า ความไม่แน่นอนที่มีมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติโรคระบาดนั้น มีแต่ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ซึ่งรวมถึงแนวคิดต่าง ๆ ที่ทุกคนเคยเชื่อมั่นและยึดถือไว้ด้วย
| พลังสื่อและข้อมูลในการนำเสนอประเด็นการพัฒนา
ศ. ดร.Jin Sato ให้ความเห็นว่า สถานการณ์เฉพาะของการพัฒนาระหว่างประเทศหลังโควิด-19 นั้น ที่ประจักษ์ชัดเจนยิ่งขึ้นคือการเล่น “การเมืองแห่งความจริง” (politics of truth) ภายใต้โลกที่เต็มไปด้วยข่าวสารแต่ก็ไม่ได้ความจริงเสมอไป เพราะขึ้นอยู่ว่าใครเป็นผู้ควบคุมอำนาจ ผู้ควบคุมสื่อ และผู้ควบคุมข้อมูล โดยยกตัวอย่าง จากการบิดเบือนข้อมูล และกระจายข้อมูลเท็จ (misinformation) มากมายที่ผ่านมา การรู้เท่าทันข้อมูลจะทำให้เข้าใกล้ความจริงและข้อเท็จจริงได้มากขึ้น เพื่อนำมาสู่ทิศทางการพัฒนาต่อไป
การเมืองแห่งความเป็นจริง (politics of truth) คือ แนวคิดที่ว่าความรู้ ข้อมูล ความจริงนั้นสัมพันธ์กันเชิงอำนาจ ผู้ที่ควบคุมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้ โดยในอดีต ก็มีคนบางกลุ่มอย่างเหล่าปัญญาชนที่ถือคุมความจริง ความรู้ ข้อมูลเอาไว้ และทำตัวเป็นเครื่องมือของกิจกรรมทางสังคมในการตอบสนองบางอย่าง - ที่มา รศ.วิทยากร เชียงกูล
รศ. ดร.Mandy เห็นว่าประเด็นปัญหาของโลกในปัจจุบันมีมากมาย การที่สื่อให้พื้นที่แก่ประเด็นใดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจสามารถผลักดันการพัฒนาทั้งในประเทศและในระดับโลกได้ โดยยกตัวอย่างในยุโรป หลังจากที่ผ่านมาสื่อมุ่งเน้นเสนอข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปัจจุบันข่าวผลกระทบจากสงคราม เช่น ราคาก๊าซที่พุ่งสูง ได้เข้ามาแทนที่และเข้าถึงใจประชาชนอย่างดีโดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) สามารถช่วยเสริมแรงให้สาธารณชนเห็นพ้องกับวาระทางนโยบายเกี่ยวกับการผลักดันพลังงานสะอาด เป็นการสะท้อนว่าพลังของสื่อนั้นอาจมีบทบาทต่อการเปลี่ยนมุมมองของประชาชนในการนำไปสู่ทิศทางการพัฒนาต่าง ๆ ได้อย่างดี
ประเด็นนี้ Hermes เสนอว่า ควรทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจประเด็นปัญหาการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้น โดยเห็นว่าต้องหาวิธีใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของสื่อ ผ่านวิธีการบอกเล่าเรื่องราว (rhetoric) ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และข้อโต้แย้งอย่างมีเหตุผล ดึงดูดความสนใจ เพื่อช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงของผู้คนได้
| การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน
Hermes บอกเล่าในฐานะที่เป็นตัวแทนคนทำงานที่มาจากภาคเอกชน ว่าเห็นโอกาสที่ภาคเอกชน อาทิ องค์กรบริษัท สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างผลกระทบทางสังคมได้มากขึ้น ไม่แตกต่างจากองค์กรไม่แสวงหากำไร แม้จะมีโครงสร้างดำเนินงานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการให้การสนับสนุนกระบวนการทำความเข้าใจความต้องการ และช่วยขยายเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ
02 – เข้าใจโลก ปรับใช้แนวคิดของการพัฒนาระหว่างประเทศตามบริบท
Hermes เชื่อว่าก่อนที่จะไปถึงการร่วมแก้ปัญหาต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการสร้างพื้นที่เพื่อรับฟังแนวคิดที่แตกต่างไปจากตนเอง เรียนรู้จากผู้อื่น และทำความเข้าใจว่าผู้คนมีแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตของตนเองเช่นไร เพราะ “เราจะไม่สามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้เลย หากปราศจากความเข้าใจต่อปัญหานั้นอย่างแท้จริง” จึงจะนำมาสู่การสร้างความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งจะเป็นกระบวนการต่อไปถึงการร่วมคิดร่วมสร้างความรู้ที่พาไปสู่อนาคตที่ต้องการได้
ในโลกที่วิทยาการเรื่องการพัฒนานั้นส่วนใหญ่มาจากฝั่งตะวันตก ศ. ดร.Jin ค้นพบว่า ในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีการรับเอาแนวคิดตะวันตกมาใช้ไม่น้อยกว่า 200-300 ปี และส่วนใหญ่ไม่ผ่านการวิเคราะห์วิพากษ์ว่ามีความเหมาะสมหรือถูกปรับเข้ากับบริบทท้องถิ่น (localization) มากน้อยเพียงใด โดยให้เหตุผลเสริมเพราะว่าแต่ละแนวคิดนั้นมีความหมายโดยนัยทางวัฒนธรรมและมีขอบเขตข้อจำกัดที่แตกต่างกัน และชุดความคิดเช่นนี้ก็อาจส่งผลให้หลงลืมการใช้ประโยชน์จากแนวคิดการพัฒนาที่มีรากฐานในประเทศเองไปด้วย
ขณะเดียวกัน ศ. ดร.Jin เห็นว่า เราต้องการแนวทางด้านความรู้แบบ inside-out มากขึ้น กล่าวคือ มีการส่งออกแนวคิดการพัฒนาที่ดีภายในประเทศให้ไปสู่บทสนทนาระดับโลกได้ด้วยเช่นกัน โดยผ่านการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น
| เปลี่ยนแนวทางทำความเข้าใจการพัฒนาระหว่างประเทศ
ศ. ดร.Jin เห็นว่าความท้าทายใหญ่ในการพัฒนาระหว่างประเทศที่จะชัดขึ้นในอนาคตคือ การต่อสู้กันระหว่างความเป็นชาตินิยม (nationalism) และ การสร้างความร่วมมือระดับโลก (global collaboration) ซึ่งการจะสร้างบทสนทนาระหว่างสองขั้วความคิดนี้ได้ ต้องเริ่มตั้งแต่การให้นักเรียนได้รับการศึกษาเพื่อสร้างจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองโลกตั้งแต่เด็ก เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักรู้และเข้าใจในความหลากหลายและความแตกต่างของโลกใบนี้ และหลุดจากความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เป็น “คอขวดของความก้าวหน้าในการสร้างความร่วมมือระดับโลก” ไปได้
ในฐานะอดีตนักศึกษาในโปรแกรมการศึกษาเรื่องการพัฒนาระหว่างประเทศที่ก้าวเข้ามาสู่การทำงานจริง Hermes เห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงเห็นว่าทักษะของการทำกระบวนการ (facilitation) มีความจำเป็น ผู้เรียนหรือแม้แต่คนทำงานในวงการการพัฒนาควรมีความสามารถในการสร้างพื้นที่บทสนทนาให้คนกลุ่มที่ความหลากหลาย ตั้งคำถามถูกจุด กระตุ้นให้เกิดการสื่อสาร รับฟังอย่างเข้าใจ และมีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยทักษะนี้นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน
รศ. ดร.Mandy มองว่า ไม่ควรแบ่งแยกว่าความรู้ในระบบการศึกษาต้องมาจากนักวิชาการเท่านั้น โดยเล่าจากประสบการณ์ในการทำงานในเมียนมา พบว่าผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มีความรู้ลึกและเข้าใจบริบทของปัญหาในท้องถิ่นตนเองเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม คนเหล่านั้นมักติดกับดักที่ว่าการจะถ่ายทอดความรู้ในบริบทของการศึกษานั้น จำเป็นต้องมีคุณวุฒิทางวิชาการด้านวิธีการสอนแบบตะวันตกเสียก่อน จึงทำให้ความรู้ที่แท้จริงนี้อาจไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาแต่ต้น พร้อมทั้งยกตัวอย่างถึงหลายคนที่เข้ามาทำงานในพื้นที่มาพร้อมกับความพยายามแก้ปัญหาที่มาจากความรู้ทางวิชาการชุดหนึ่ง และไม่ได้เรียนรู้เพื่อให้เข้าใจถึงความซับซ้อนของบริบทปัญหาในพื้นที่มากเท่าทีควร จึงไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชน
03 – บทสรุปจากการทบทวนอนาคตในการพัฒนาระหว่างประเทศ
ศ. ดร.Jin เห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องค้นหาคำที่ดีกว่า “การพัฒนา” เพราะนี่มาจากผลผลิตทางแนวความคิดในศตวรรษที่ 20 ที่เก่าแล้ว โดยคำที่ดีกว่าอาจเป็นคำว่า “ความยั่งยืน” แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนอีกครั้งในอนาคตว่าความยั่งยืนคือสิ่งใดแน่ แม้จะอยู่ภายใต้คำใหม่ ๆ แต่การพัฒนานั้นมิได้สูญหายไป เพียงแต่ต้องหาคำนิยามที่เหมาะสมตามบริบทโลก ณ ตอนนี้
รศ. ดร.Mandy ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่แล้วในเวลานี้ คือ การรับรู้ว่าทุกปัญหาเชื่อมโยงถึงกัน และนั่นอาจเป็นจุดตั้งต้นที่จะหาโซลูชันร่วมได้ อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.Mandy คิดว่ากรอบที่รวมทุกอย่างไว้นั้นไม่มีอีกต่อไป เนื่องจากปัญหาการพัฒนานั้นแตกต่างออกไปมากมาย และเสนอว่าที่สามารถทำได้ คือ การเรียนรู้และทำความเข้าใจทุกสถานการณ์ในบริบทที่แตกต่างกันอย่างเข้มข้น อาทิเช่น หากจะยึดว่าวาระการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือจุดร่วมของพลวัตแนวคิดเรื่องการพัฒนาต่าง ๆ ก็ต้องทำงานอย่างมีความหมายกับคนในพื้นที่ การนำไปใช้อย่างเข้าใจและตรงกับสภาพแวดล้อมของปัญหาจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
Hermes ยังคงยืนยันความสำคัญของกระบวนการแลกเปลี่ยนรู้ โดยสุดท้ายแล้วต้อง “ก้าวให้ช้าลง ทำความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถก้าวต่อไปร่วมกันได้เร็วขึ้น”
ปิดท้ายการเสวนานี้ ด้วยผู้ดำเนินรายการ ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง ที่ทิ้งท้ายคำถามสำคัญไว้ว่า “หากคำว่า “การพัฒนา” ไม่ได้เป็นคำที่เหมาะสมสำหรับการทำความเข้าใจพลวัตของโลกต่อไป อะไรจะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่จะนำพาเราไปสู่สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม” และคำตอบคงจะปรากฏให้เห็นในอนาคตที่ไม่ไกลจากนี้
เรียบเรียงใหม่จากการสัมมนา – แพรวพรรณ ศิริเลิศ
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง
บรรณาธิการ – เนตรธิดาร์ บุนนาค
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่หกในซีรีส์องค์ความรู้ชุด “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” (Futures Literacy) ในฐานะหนึ่งเครื่องมือสำคัญแห่งยุคสมัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนผ่านปัจจุบันจากฐานราก ร่วมขับเคลื่อนหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่มีความผันผวนและซับซ้อนได้อย่างยั่งยืน (Resilience) โดยซีรีส์ดังกล่าวเป็นบทสังเคราะห์จากงานสัมมนานานาชาติ “Futures Literacy in a Post-Covid-19 Asia: Solidarity and Transformative Learning” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) เมื่อวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการเผยแพร่บทความผ่านช่องทางของ SDG Move ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565
รับฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook: Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U. และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ Chula Futures Literacy Week ได้ที่เว็บไซต์ www.inter.chula.ac.th/futuresliteracy/
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Vocab | 32 – Inequality – ความไม่เท่าเทียม/ความเหลื่อมล้ำ
– รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับล่าสุดเผย โควิด-19 ทำความก้าวหน้าการบรรลุ SDGs ‘ถดถอย’ และเรียกร้องให้เพิ่มพื้นที่ทางการคลังในประเทศกำลังพัฒนา – SDG Move
– SDG Updates | สำรวจศตวรรษแห่งความเหลื่อมล้ำผ่านรายงาน World Inequality Report 2022
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2 ) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Last Updated on กรกฎาคม 6, 2022