เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ปรากฏความเคลื่อนไหวในประเด็นการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางอากาศจากรัฐสภายุโรป ซึ่งได้ลงมติเห็นชอบร่างข้อเสนอให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์นั่ง ประเภทรถตู้ที่อัตรา 50% และรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่งที่อัตรา 55% ภายในปี 2573 อีกทั้งห้ามจำหน่ายรถยนต์และรถตู้ที่ใช้พลังงานจากดีเซลและเเก๊สโซลีน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ตั้งแต่ปี 2578 เป็นต้นไป
โดย Cornelia Ernst สมาชิกแห่งรัฐสภายุโรปจากเยอรมนีสังกัดพรรคฝ่ายซ้ายซึ่งสนับสนุนมติดังกล่าวได้เผยกับสำนักข่าวดอยช์เวลล์ (DW) ว่า “หากสหภาพยุโรปต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมาก คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยกการเลิกใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงดีเซลและแก๊สโซลีน”
ด้าน Jan Huitema จาก Renew Europe Group ซึ่งยินดีกับผลการลงมติ กล่าวว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นที่รัฐสภายุโรปสนับสนุนการแก้ไขเป้าหมายของการลดการใช้พลังงานดีเซลและเเก๊สโซลีน ในปี 2573 อย่างมุ่งมั่นและจริงจัง ทั้งยังสนับสนุนเป้าหมายการยกเลิกใช้พลังงานดังกล่าว 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2578 ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุความเป็นเป็นกลางทางก๊าซเรือนกระจก (climate neutrality) ภายในปี 2593”
อย่างไรก็ดี แม้มติดังกล่าวจะได้รับเสียงสนับสนุนมากถึง 339 เสียง แต่สมาชิกรัฐสภายุโรปอีก 249 เสียง ก็ลงคะแนนคัดค้าน โดย Jens Gieseke จากพรรคขวากลาง European People’s Party ระบุว่า “กฎหมายใหม่นี้พึ่งพาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ามากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของการนำเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ยั่งยืนมาใช้ในรถยนต์ทั่วไป” พร้อมกับแสดงความกังวลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลให้ตำแหน่งงานมากถึง 500,000 ตำแหน่งต้องหายไป
ขณะที่ Timo Wölken จาก Progressive Alliance of Socialists and Democrats ให้สัมภาษณ์ว่า “เราต้องการแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของเรา ในขณะเดียวกันแนวทางนั้นก็ต้องเหมาะสมและสอดรับกับอุตสาหกรรม คนงาน และพลเมืองยุโรปด้วยเช่นกัน”
ทั้งนี้ มติการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืนในยานพาหนะทางบกครั้งนี้นับว่าเป็นก้าวสำคัญของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคและป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผน Fit For 55 Package ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ อาทิ ร่างกฎหมายว่าด้วยการกำหนดสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิก ข้อเสนอการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีของสินค้าพลังงานและไฟฟ้า ข้อเสนอการจัดตั้งกองทุน Climate Social Fund เพื่อเยียวยาประชาชนและธุรกิจรายย่อย เป็นต้น
หากพิจารณาความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะพบว่านอกจากร่างข้อเสนอห้ามจำหน่ายรถยนต์เครื่องสันดาปภายในปี 2578 แล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่สหภาพยุโรปขยับขับเคลื่อนไปก่อนหน้านี้เช่นกัน อาทิ การร่างข้อเสนอการจัดให้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานทางเลือกของ “การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน” การเสนอข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงระบบพลังงานในอาคารให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลงภายใน 10 ปีนี้ และการเสนอ “ข้อริเริ่มผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน” (Sustainable Products Initiative) ที่มุ่งผลักดันให้สินค้าของสหภาพยุโรปมีความทนทาน สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ ซ่อมแซม และรีไซเคิลได้ รวมถึงใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นที่น่าจับตาว่าร่างข้อเสนอห้ามจำหน่ายรถยนต์และรถตู้ซึ่งใช้เชื้อเพลิงดีเซลและแก๊สโซลีนนี้จะถูกขยับไปในทิศทางใดต่อ เพราะแน่นอนว่าผลที่ตามมาไม่เพียงกระทบต่อพลเมืองชาวยุโรปเท่านั้น แต่คนทั่วโลกที่ใช้รถยนต์จากยุโรปหรือประเทศที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ปล่อยคาร์บอนสูงก็ย่อมเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายนี้ด้วยเช่นกัน โดยขั้นต่อไปจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแห่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศที่จะต้องพิจารณาร่างข้อเสนอนี้ต่อในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเปลี่ยนรถโรงเรียนเป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและลดมลพิษทางอากาศ
– รายงาน ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ จากภาคการขนส่งในเอเชีย ชี้หลักสำคัญ 6 ข้อ สู่พลังงานสะอาดในอนาคต
– EU เตรียมเสนอข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงระบบพลังงานในอาคารให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลงภายใน 10 ปีนี้
– เพียงหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่พอ แต่ต้องทำให้เมืองเป็น “compact city” ด้วย ถึงจะลดการปล่อยก๊าซได้เร็วขึ้น
– SDG Updates | ฤาพลังงานสะอาดจะไม่ยั่งยืน – ใครคือแนวหน้าผู้สูญเสีย หากเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจะทอดทิ้งผู้คนไว้ข้างหลัง (EP.1)
– EU ร่างข้อเสนอให้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเปลี่ยนผ่านพลังงานและการลงทุนที่ยั่งยืน
– SDG Insights | เติมเต็มความเป็นธรรมที่อาจหล่นหาย ผ่านมุมมองการเปลี่ยนผ่านพลังงานอุตสาหกรรมยานยนต์ (EP. 16)
– SDG Updates | การเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศเยอรมนี และการถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (EP.13)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
แหล่งที่มา:
– EU Parliament votes to ban sale of petrol cars, rejects ‘weak’ reforms to emissions trading (DW)
– Goodbye gasoline cars? E.U. lawmakers vote to ban new sales from 2035 (NBC News)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย