รายงานความก้าวหน้าด้านพลังงาน ประจำปี 2565 (Tracking SDG 7: The Energy Progress Report 2022) ระบุว่าอัตราความก้าวหน้าด้านพลังงานในปัจจุบันสะท้อนว่าโลกอาจไม่บรรลุเป้าหมาย SDG 7 ภายในปี 2573 ได้ ขณะที่รายงานสรุปเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2565 ที่เน้นความเชื่อมโยงระหว่างพลังงานกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายอื่น ๆ (Policy Briefs in Support of the High-level Political Forum 2022: Addressing Energy’s Interlinkages with Other SDGs) เผยถึงความเชื่อมโยงระหว่าง SDG 7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) กับ SDG 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) SDG 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) และ SDG 15 (ระบบนิเวศบนบก) โดยชี้ว่าการเข้าถึงพลังงานที่สะอาดและเท่าเทียมนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมระบบนิเวศบกที่ดี
โดยรายงานทั้งสองฉบับเป็นเอกสารตีพิมพ์ที่องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IRENA) หน่วยงานสถิติแห่งสหประชาชาติ (UNSD) ธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำร่วมกัน โดยได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565
สำหรับประเด็นสำคัญ (โดยสังเขป) จากรายงานความก้าวหน้าด้านพลังงาน ได้แก่
- การเข้าถึงพลังงาน – สัดส่วนของประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าลดลงจาก 1.2 พันล้านคน ในปี 2553 เหลือเพียง 733 ล้านคนในปี 2563 โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้เข้าถึงไฟฟ้าไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งหากอัตราดังกล่าวยังอยู่ในระดับเดิมต่อไปอาจส่งผลให้ในปี 2573 โลกจะใช้ไฟฟ้าได้เพียง 92%
- การทำครัวโดยใช้พลังงานสะอาด – จำนวนคนทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงการทำครัวโดยใช้พลังงานสะอาดได้ลดลงจาก 6 พันล้านคนในปี 2553 เหลือเพียง 2.4 พันล้านคนในปี 2563 โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงการเรียนรู้จากความท้าทายและความสำเร็จล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าถึงการประกอบอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างทั่วถึงภายในปี 2573
- ประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน – ส่วนแบ่งพลังงานหมุนเวียนในการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 16.1% ในปี 2563 เป็น 17.7% ในปี 2562 และพบว่าตลอดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การใช้พลังงานหมุนเวียนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องตรงข้ามกับการใช้พลังงานอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มลดลง รายงานยังเน้นย้ำด้วยว่าต้องมีการสนับสนุนนโยบายเพิ่มส่วนแบ่งการใช้พลังงานหมุนเวียนในการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายโดยรวมให้มากกว่า 30% เพื่อบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
- พลังงานหมุนเวียน – ความเข้มข้นของการใช้พลังงานขั้นต้น (primary energy) หรือปริมาณพลังงานที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหนึ่ง ๆ ใช้ไป ลดลงจาก 5.6 เมกะจูลต่อดอลลาร์สหรัฐ (MJ/USD) ในปี 2553 เป็น 4.7 เมกะจูลต่อดอลลาร์สหรัฐ (MJ/USD) ในปี 2562 โดยหากโลกต้องการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการผลิตพลังงานให้เป็นศูนย์ (net zero energy emissions)ภายในปี 2593 จากนี้ไปอัตราการปรับปรุงการใช้พลังงานประจำปีจะต้องสูงถึงร้อยละ 3.2 และต้องแตะร้อยละ 4 ในปี 2573
- ความร่วมมือ/การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ – การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาดนั้นลดลงจาก 112,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2553 เหลือเพียง 109,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 ประเด็นนี้ข้อเสนอคือควรเพิ่มการสนับสนุนเงินทุนแก่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG 7 SDG 13 และเป้าหมายอื่น ๆ รวมทั้งการสนับสนุนการฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างยั่งยืน
ขณะที่รายงานสรุปเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการประชุม HLPF ปี 2565 นี้ (Policy Briefs in Support of the High-level Political Forum 2022: Addressing Energy’s Interlinkages with Other SDGs) ระบุถึงข้อมูลที่น่าสนใจ สำหรับความเชื่อมโยง (interlinkage) ระหว่าง SDG 7 กับอีก 3 เป้าหมาย ได้แก่ SDG 4 SDG 5 และ SDG 15 ซึ่งเป็นสามในห้าเป้าหมายที่จะมีการทบทวนเชิงลึกในการประชุมปีนี้ ดังนี้
- ความเชื่อมโยงกับ SDG 4 นั้นพบว่าพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้นักเรียนเข้าถึงบริการทางการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น การมีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICTs) ที่ดี มีแสงไฟที่เพียงพอ และน้ำดื่มที่สะอาดจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ อย่างไรก็ดี ข้อมูล ณ ปัจจุบันระบุได้เพียงว่าโรงเรียนหลายแห่งมีไฟฟ้าใช้แต่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า คุณภาพของไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น ๆ นั้นเป็นอย่างไร เพียงพอหรือไม่
- ความเชื่อมโยงกับ SDG 5 พบว่าการเข้าถึงพลังงานสะอาดเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการบรรลุ SDG 5 โดยความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในพลังงานมีความสำคัญในมิติที่สำคัญซึ่งควรพิจารณา ได้แก่ การเข้าถึงไฟฟ้า เชื้อเพลิงและเทคโนโลยีการประกอบอาหารที่สะอาด การมีงานทำและเป็นผู้นำได้ทั้งในภาคส่วนการจัดการและการเมือง และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการวางแผน กำหนดนโยบาย งบประมาณ และระเบียบข้อบังคับด้านพลังงาน
- สำหรับความเชื่อมโยงกับ SDG 15 พบว่า พลังงานหมุนเวียนและระบบนิเวศบกนั้นมีความเชื่อมโยงใน 4 มิติที่ควรตรวจสอบติดตาม ประกอบด้วย (1) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (2) การใช้ที่ดินและชีวมวลอย่างมีประสิทธิภาพ (3) การจัดการระบบที่ดินอย่างมีธรรมาภิบาล และ (4) ผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้ที่ดิน โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญคือควรมีวิธีการและมาตรฐานการประเมินที่ชัดเจนในการตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างพลังงานหมุนเวียนกับที่ดิน
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Vocab | 19 – Modern Energy Services – บริการพลังงานสมัยใหม่
– UN เผยแพร่ร่างกำหนดการประชุม HLPF กรกฎาคม 2565 เน้นการมีส่วนร่วมและการฟื้นฟูมุ่งสู่ความยั่งยืน
– Tracking SDG7: 10 ปีที่ผ่านมา พลังงานยังมีช่องว่างระหว่างภูมิภาค และประเทศด้อยพัฒนายังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
– รัฐสภายุโรปผ่านร่างข้อเสนอห้ามจำหน่ายรถยนต์เเละรถตู้ใช้ดีเซล-แก๊สโซลีน ภายในปี 2578 เป็นต้นไป
– รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเปลี่ยนรถโรงเรียนเป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและลดมลพิษทางอากาศ
– รายงาน ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ จากภาคการขนส่งในเอเชีย ชี้หลักสำคัญ 6 ข้อ สู่พลังงานสะอาดในอนาคต
– EU เตรียมเสนอข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงระบบพลังงานในอาคารให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลงภายใน 10 ปีนี้
– EU ร่างข้อเสนอให้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเปลี่ยนผ่านพลังงานและการลงทุนที่ยั่งยืน
– SDG Insights | เติมเต็มความเป็นธรรมที่อาจหล่นหาย ผ่านมุมมองการเปลี่ยนผ่านพลังงานอุตสาหกรรมยานยนต์ (EP. 16)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.a) สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผ่านการให้บริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.a) ดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และการเข้าถึงการเป็นเจ้าของที่ดิน การควบคุมที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น การบริการทางการเงิน การรับมรดก และทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายของประเทศ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.3) เพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังานของโลกให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.3) ต่อสู้การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูแผ่นดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความแห้งแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดินภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลทีมีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ ที่จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี 2563
– (17.19) ต่อยอดจากข้อริเริ่มที่มีอยู่แล้วในการพัฒนามาตรการวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถด้านสถิติในประเทศกำลังพัฒนา ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
SDG 7 Publications Call for Safeguarding Gains, Tracking Interlinkages (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย