โตเกียวรับรองสถานะ “คู่ชีวิต”ของ คู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งก็ยังไม่เท่ากับ “คู่สมรส” ตามกฎหมาย

ช่วงที่ผ่านมาประเด็น “สมรสเท่าเทียม” หรือ same-sex marriage เป็นอีกประเด็นร้อนที่มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นทั้งในสังคมและสื่อออนไลน์ในหลายประเทศ โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลเมืองโตเกียว  ประเทศญี่ปุ่น ได้ผ่านร่างกฎหมาย “การรับรองสถานะคู่ชีวิตแก่คู่รักเพศเดียวกัน” หรือ same-sex partnerships ซึ่งเป็นการขยายสิทธิบางอย่างแก่คู่รักกลุ่ม LGBTQ+ ให้ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศที่แต่งงานกัน และจะช่วยให้คู่รักเพศเดียวกันในสังคมญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงนั้น สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ในที่สาธารณะและไม่ต้องเผชิญปัญหาการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ในที่ทำงาน แม้จะไม่ใช่การสมรสตามกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียกร้องให้เกิดสิทธิและเสรีภาพในการสมรสเท่าเทียมอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

แม้การรับรองสถานะคู่ชีวิตนั้น จะมีการขยายสิทธิบางประการให้ครอบคลุมผู้คนในสังคมเพิ่มขึ้น เช่น สิทธิการเยี่ยมคู่ชีวิตหรือตัดสินใจแทนกันได้หากอีกฝ่ายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สิทธิการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่มาก เพราะยังคงไม่ใช่การสมรสเท่าเทียม ทำให้สิทธิบางอย่างไม่อาจครอบคลุมตามกฎหมาย  เช่น การเก็บภาษีที่ไม่เท่าเทียมกันของบุคคล การรับมรดก และข้อจำกัดอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งจุดประสงค์การสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยกลุ่ม LGBTQ+ แท้จริงแล้ว ก็เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคในสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายที่ครอบคลุมบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

เส้นทางการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เกิดขึ้นในดินแดนแถบเอเชีย มีดังนี้  

  • เริ่มจากไต้หวัน ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ได้มีการเห็นชอบร่างกฎหมายว่าด้วยการแต่งงานระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน ด้วยคะแนน 66 ต่อ 27 เสียงจากรัฐสภา ซึ่งเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ทำให้ไต้หวันเป็นดินแดนเดียวและแห่งแรกในทวีปเอเชียที่มีการรับรองการสมรสเท่าเทียม
  • ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2558 ได้มีการเริ่มใช้ระบบคู่ชีวิต ในเขตชิบูยะของโตเกียวเป็นท้องที่แรกในการรับรองสิทธิให้จดทะเบียนครอบครัวในพื้นที่ของตนเองได้ แต่การรับรองสิทธินี้ไม่มีผลผูกพันอื่นใดในทางกฎหมาย ทำให้ในปี 2562 นักเคลื่อนไหวและคู่รักเพศเดียวกัน จึงมีการฟ้องร้องเพื่อให้ได้สิทธิในการสมรสเท่าเทียมตามกฎหมาย ซึ่งจากการสำรวจในปีที่แล้ว พบว่า 65% ของกลุ่มตัวอย่างสนับสนุนการสมรสเท่าเทียม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปี 2558 ถึง 24% สะท้อนถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน กระทั่งในเดือนมิถุนายน ปี 2565 ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการรับรองสถานะคู่รักเพศเดียวกันในฐานะ “คู่ชีวิต” ซึ่งคู่รักที่ขอใบรับรองต้องเป็นบุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และอย่างน้อยหนึ่งคนต้องอาศัย เดินทางไปทำงาน หรือศึกษาอยู่ในกรุงโตเกียว โดยสามารถขอรับรองสถานะได้ผ่านระบบออนไลน์ การรับรองดังกล่าวแม้ไม่ใช่การสมรสตามหลักกฎหมาย แต่ก็นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับการผลักดันให้เกิดการสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นในญี่ปุ่น
  • ขณะที่ประเทศไทย ได้เริ่มมีการเรียกร้องการสมรสเท่าเทียมตั้งแต่ปี 2555  และในปี 2556 จึงเกิดร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตร่างแรกในยุครัฐบาลของ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งจนบัดนี้ผ่านมาแล้ว 9 ปีเต็ม ก็มีการปรับแก้ร่างกฎหมายมาเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการสมรสเท่าเทียม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยได้มีการรับหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศถึง 2 ร่าง คือ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต และ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งทั้งสองร่างมีหลักการแตกต่างกัน กล่าวคือ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตนั้น บุคคลผู้มีคุณสมบัติจะมีสิทธิในการจดทะเบียนและได้รับสถานะทางกฎหมายเป็น “คู่ชีวิต” แต่จะไม่ได้รับผลประโยชน์ทางกฎหมายในบางประการเมื่อเทียบกับการสมรส ขณะที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะได้รับสถานะทางกฎหมายเป็น “คู่สมรส” และได้รับสิทธิเฉกเช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิงทุกประการ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าการเดินทางของกฎหมายเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมจะออกมาเป็นเช่นไร

สุดท้ายนี้ ถึงปัจจุบันจะมีการเปิดรับแนวคิดความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้นในสังคม แต่มีเพียง 33 ประเทศและดินแดนทั่วโลกเท่านั้นที่มีกฎหมายรับรองการสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นรูปธรรม โดยหวังว่าจะมีการขยายผลเรื่องนี้ให้เกิดมากยิ่งขึ้น ทั้งในประเทศไทยและประเทศหรือดินแดนอื่น ๆ เพราะสิทธิการสมรสกันได้ตามกฎหมายนั้น ถือเป็นสิทธิที่พึงจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันทุกคน โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นใครหรือเพศใดก็ตาม 

● อ่านคำศัพท์และบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Vocab | 32 – Inequality – ความไม่เท่าเทียม/ความเหลื่อมล้ำ 
SDG Vocab | 33 – Discrimination – การเลือกปฏิบัติ
SDG 101 | รู้หรือไม่? ความเท่าเทียมทางเพศตาม SDG 5 ยังไม่ครอบคลุมถึง LGBTQI
SDG Insights | กลไกกฎหมายไปสู่สมรสเท่าเทียม: ถอดบทเรียนจากคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญต่างประเทศ 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

แหล่งที่มา
Tokyo moves to allow same-sex partnerships, but not as legal marriage 
LGBT: สภาไต้หวันผ่านกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันครั้งแรกในเอเชีย (BBC News) 
เทียบชัดๆ ร่างพ.ร.บ.แก้ประมวลกฎหมายแพ่ง #สมรสเท่าเทียม ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ต่างกันยังไง? | iLaw.or.th

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on มิถุนายน 21, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น