โลกร้อน หมอกควัน โควิด-19 โศกนาฏกรรมกราดยิง จนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน เหล่านี้คือตัวอย่างของปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นความท้าทายที่ไม่เพียงจำกัดอยู่กับประเทศใดหรือภูมิภาคใดโดยเฉพาะ หากแต่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของทุกประเทศทั่วโลกไม่ทางตรงก็ทางอ้อมอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามออกแบบแนวทางที่ใช้ฐานคิดทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้ามาจัดการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านการริเริ่มของประเทศต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และการตั้งต้นจากองค์การระหว่างประเทศโดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ ผลคือบางปัญหาได้รับการคลี่คลายแต่อีกหลายปัญหาก็ยังคงอยู่และมีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้น อาทิ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ คำถามที่น่าสนใจและชวนถกคิดคือ นอกจากแนวทางทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์แล้วจะมีทางเลือกอะไรอีกบ้างที่เราจะใช้หนุนสร้างสังคมที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้
SDG Updates ชุด Futures Literacy (EP.7) กับ Futures Literacy: เสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอนาคตด้วยแนวคิดทางศาสนา ศรัทธา และจิตวิญญาณ ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจและตอบคำถามข้างต้นด้วยการพิจารณาบทบาทของศาสนา ความเชื่อ และจิตวิญญาณ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน ผ่านการส่องความคิดและข้อเสนอแนะของนักวิชาการและนักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการใช้ศาสนาเป็นแนวทางสร้างสังคมที่ดีจากหลากพื้นที่และหลายประสบการณ์ โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่ว่าศาสนา ศรัทธา และจิตวิญญาณ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งนามธรรมจะสามารถมีอิทธิพลต่อการสรรค์สร้างและส่งเสริมมนุษย์ให้มีความสามารถในการเข้าใจ (empathy) และเห็นอกเห็นใจ (compassion) มนุษย์ด้วยกัน ธรรมชาติ รวมถึงสรรพสิ่งอื่น ๆ ที่ดำรงร่วมอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างไรบ้าง
เข้าถึงภาพประกอบ Visual Note ขนาดเต็มที่นี่: https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/06/FL-EP7.png
01 – บริโภคนิยมล้นพ้น ต้นตอโลกท้นปัญหา
ก่อนไปสู่การไขข้อสงสัยว่าศาสนา ศรัทธา และจิตวิญญาณจะมีบทบาทสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้อย่างไร เราอาจเริ่มทำความเข้าใจถึงต้นสายปลายเหตุของนานาปัญหาที่รุมเร้าโลกก่อนในเบื้องต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ร่วมสัมมนาหลายท่านหยิบยกมากล่าวถึง
Theodore (Ted) Mayer ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ จาก Institute for Transformative Learning of the International Network of Engaged Buddhists (INEB Institute) กล่าวว่าประเด็นสำคัญของมนุษย์โลก ณ ปัจจุบัน คือเราทั้งหมดดำรงอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่มีการกีดกันและเอาเปรียบอย่างมาก ซึ่งเป็นระบบที่มาพร้อมกับชุดค่านิยมเฉพาะตัวที่เน้นความสำคัญของชื่อเสียง บารมี และความมั่งคั่ง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นศาสนาประเภทหนึ่ง
ขณะที่ ดร.Dicky Sofjan จากสมาคมศาสนศึกษาแห่งอินโดนีเซีย หรือ ICRS (Indonesian Consortium for Religious Studies) มหาวิทยาลัย Gadjah Mada ระบุว่าวิกฤติทางระบบนิเวศ (ecological crisis) นั้นเกิดจากวิกฤติทางศีลธรรม ศาสนา และจิตวิญญาณ โดยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดและผู้คนที่แข่งขันกันเพื่อสิ่งต่าง ๆ นั้นล้วนเป็นเหตุให้เกิดการหลงทิศต่อวิสัยทัศน์ทางศีลธรรมของสังคม
ด้าน ดร.Nadarajah Manickam จาก Loyola Extension Services (LES) และ Loyola College of Social Sciences Speaker ให้ความเห็นว่าปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่โหดร้ายและเผชิญกับนานาปัญหา โดยมีข้อมูลเชิงสถิติมากมายที่สนับสนุนข้อคิดเห็นดังกล่าว ทั้งเกี่ยวกับรอยเท้าแห่งระบบนิเวศโลก (global footprint) และดัชนีเเรงงานทาส (slavery index) ทั้งนี้ เมื่อประเด็นคำถามมาถึงจุดที่ว่าโลกกลายเป็นแบบนี้ได้อย่างไร ดร.Nadarajah ก็เผยให้เห็นถึงเหตุและผลของปัญหาด้วยการเสนอแนวคิดความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรมในการสนับสนุนทุนนิยมและบริโภคนิยม กล่าวคือ ประการแรก ปริมาณสารพิษที่ถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งในอากาศ น้ำ และพื้นดินของเรานั้นล้วนมาจากภาคอุตสาหกรรม แล้วใครกันที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็คือคนหนุ่มสาวที่เล่าเรียนและฝึกฝนตนจากรั้วมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยนั่นเอง
ประการต่อมา แม้ภาคอุตสาหกรรมอาจเป็นต้นตอของการสร้างสมปัญหาต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นด้วยการทำให้คนหนุ่มสาวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ก่อผลกระทบต่อสังคมโลกและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นวัฏจักร กระนั้น การมองอุตสาหกรรมเป็นต้นตอเดียวทั้งหมดก็มักทำให้ละเลยอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญนั่นคือมหาวิทยาลัย ซึ่งทำงานสอดประสานกับภาคอุตสาหกรรมในการผลิตสร้างคนหนุ่มสาวปัจจุบันป้อนสู่โครงสร้างอาชีพซึ่งยึดโยงแนบแน่นกับระบบทุนนิยม
ประเด็นแรกนี้ กล่าวได้ว่าความเห็นของ Theodore ดร.Dicky และ ดร.Nadarajah ต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่าสังคมที่เน้นการแข่งขันและการบริโภคนิยมเป็นสาเหตุของหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลก และเฉพาะ ดร.Nadarajah ยังได้วิเคราะห์ไปถึงฐานรากของปัญหาซึ่งคือการผลิตสร้างเยาวชนคนรุ่นปัจจุบันป้อนสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างปราศจากการส่งเสริมให้มีจิตสำนึกร่วมรู้สึกว่างานที่ตนทำนั้นก่อผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร
02 – ศาสนาเพื่อสังคม ก้าวจากสำนึกปัจเจกสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับโลก
คำถามสำคัญซึ่งสืบเนื่องจากประเด็นแรกคือเราจะใช้ศาสนา ศรัทธา และจิตวิญญาณมาจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้หรือไม่ อย่างไร
Theodore อธิบายว่าศาสนาสอนให้ปัจเจกมีความรู้สึกร่วมกับความทุกข์ของโลก โดยยกตัวอย่างชาวพุทธที่มีส่วนร่วมกับสังคมและสร้างความเคลื่อนไหวที่ก่อผลกระทบในระดับภูมิภาคและระดับโลก อาทิ ติช นัท ฮันห์ ดาไล ลามะ อัมเบดการ์ รวมทั้งสุลักษณ์ ศิวารักษ์ ปัญญาชนสยามร่วมสมัย Theodore ระบุว่าหากพิจารณาผ่านมุมมองของพุทธศาสนาแล้วสิ่งพื้นฐานซึ่งบรรดาบุคคลดังกล่าวมีร่วมกันนั่นคือ พวกเขามีทัศนะว่าวงกรอบของศาสนานั้นข้องเกี่ยวกับจักรวาลและมนุษยชาติทั้งหมด กล่าวอีกนัยหนึ่ง เรื่องศาสนาไม่ได้ตีกรอบแคบแต่เพียงการเป็นปัจเจกที่เปี่ยมคุณธรรมหรือปฏิบัติตามหลักคำสอนในระดับปัจเจกเท่านั้น และความทุกข์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบริบทส่วนบุคคล ทว่าเกิดขึ้นในบริบททางสังคมโดยรวมด้วยเช่นกัน เช่นนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการรับรู้และร่วมรู้สึกต่อปัญหาที่สังคมส่วนรวมกำลังเผชิญ
ด้าน ผศ. ดร.Swati Chakraborty จากมหาวิทยาลัย GLA และผู้ก่อตั้ง WebPlatform4Dialogue นำเสนอประเด็นเดียวกันผ่านแนวคิดของสังคมอินเดียและศาสนาฮินดู เธอระบุว่าในอินเดีย ความเชื่อและจิตวิญญาณเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมและศาสนานั้นมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจ ความรัก และความเมตตา สู่ครอบครัวและสังคม โดยอาจเริ่มต้นจากธรรมชาติเพราะธรรมชาติเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดทุกคน
“ในศาสนาฮินดู เราวิงวอนขอพรให้แก่ธรรมชาติ และทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิต และสำหรับผู้แสวงหาด้านจิตวิญญาณ (spiritual aspirant) นั้นพึงเอาชนะความต้องการที่เห็นแก่ตัว พร้อมทั้งควรละทิ้งความสุขทางโลก ซึมซับความคิดของตนในการไตร่ตรองถึงพระเจ้า และปลูกฝังความเป็นหนึ่งเดียวกับโลก ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ตนเองบริสุทธิ์”
“ศาสนาฮินดูส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจต่อทุกคนเสมอ ทุกชีวิตนั้นล้วนก่อตัวขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวสากล (“Vasudhaiva Kutumbakam” – โลกทั้งใบล้วนเป็นครอบครัวเดียวกัน) เนื่องจากทุกคนและทุกสิ่งในจักรวาลล้วนเป็นการสำแดงของพระเจ้า เราจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นสากลและเพิ่มการอุทิศตนในความรักแบบเดียวกับที่เรารู้สึกต่อพระเจ้าไปยังคนทุกคน”
ข้อคิดเห็นของ Theodore และ ผศ. ดร.Swati มีจุดร่วมที่สำคัญคือการขับเน้นว่าทั้งศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูนั้นไม่ได้สอนให้คนมีศีลธรรมแต่เพียงภายในตัวเองเท่านั้น แต่ต้องร่วมรับรู้เเละมีความตระหนักว่าแต่ละปัจเจกบุคคลนั้นเป็นหนึ่งเดียวบนโลกใบเดียวกัน จึงต้องสร้างความเข้าอกเข้าใจและความรักต่อบุคคลหรือสรรพสิ่งอื่นให้เกิดขึ้นด้วย
03 – เสริมสร้างพลเมืองที่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านสถาบันสำคัญอย่างครอบครัวและสถานศึกษา
ประเด็นน่าสนใจสุดท้ายคือศาสนา ศรัทธา และจิตวิญญาณ ซึ่งจะฟูมฟักคนในสังคมให้มีความสามารถในการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั้นควรเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนเราตั้งแต่เมื่อไร
ต่อประเด็นข้างต้น ผศ. ดร.Swati กล่าวว่าควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กเพราะแม้เราไม่สามารถหยุดยั้งสงครามได้ แต่การเลี้ยงดูสมาชิกผู้เยาว์วัยโดยส่งเสริมความสามารถในการเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และรักบุคคลอื่น พร้อมกับส่งเสริมสิทธิที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคนในโลกนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เริ่มต้นได้จากตัวเรา เราพึงเริ่มเปลี่ยนแปลงโลกด้วยการวางรากฐานสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในครอบครัว ขยับมาสู่สังคม ส่งต่อไปในระดับประเทศและโลกตามลำดับ
ผศ. ดร.Swati ยังกล่าวอีกว่าเราสามารถวางรากฐานเรื่องดังกล่าวกับนักเรียนได้เพราะในวัยหนุ่มสาวจิตใจเรามักสดชื่นจึงสามารถสร้างความเห็นอกเห็นใจและไว้วางใจผู้อื่นได้มากขึ้น ในช่วงอายุยังน้อย เราสามารถมีกิจกรรมนอกหลักสูตรบางอย่างได้ แทนที่จะให้เล่นหรือใช้เวลาไปกับเกมในร่ม เกมกลางแจ้งก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่นักเรียนสามารถนำความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่อทางจิตวิญญาณของพวกเขาแต่ละคนมารวมกันได้ พวกเขาจะอยู่ด้วยกัน เป็นเพื่อนกัน ภายในพื้นที่ที่เท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคน
นอกจากการเริ่มต้นที่ครอบครัวและโรงเรียนแล้วแล้ว ดร.Dicky และ ดร.Nadarajah ยังกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการเสริมสร้างความสามารถในการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเช่นกัน โดยระบุว่าความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยในลักษณะของธุรกิจนั้นกลายเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่นั่นอาจไม่ใช่รูปแบบการช่วยเหลือสังคมที่เราต้องการจากบรรดาปัญญาชนและนักวิชาการ ดังนั้นคำถามที่เราจำเป็นต้องถามตัวเองคือจะหนุนสร้างความสามารถในการเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจ นี้ให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของเราได้อย่างไร
ซึ่งคำตอบของ ดร.Nadarajah สำหรับประเด็นนี้คือการจัดการกับวิกฤติทางจิตวิญญาณ โดยมหาวิทยาลัยต้องให้ความสนใจอย่างมากกับวิธีจัดการกับวิกฤติทางจิตวิญญาณนี้
ขณะที่ Theodore กล่าวถึงแนวทางเสริมสร้างความสามารถในการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นผ่านประสบการณ์การสอนนักเรียนจากทั่วทุกมุมโลกของตน จำนวน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. นำนักเรียนจากที่ต่าง ๆ มาเรียนรวมกัน โดยมีตัวอย่างจากการให้ทั้งสตรีมุสลิมและสตรีฮินดูที่กำลังศึกษาพระพุทธศาสนา ใช้เวลาในการฝึกฝนภาษาอังกฤษ ความเป็นผู้นำ และผ่านหลาย ๆ ความท้าทายมากมายร่วมกัน แม้พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับอคติทางชาติพันธุ์และการเหยียดเชื้อชาติในชั้นเรียน แต่ก็ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้เรียนที่มีความหลากหลายด้วยตนเอง 2. การให้นักเรียนได้ฝึกจิตตปัญญา (comtemplative practice) ที่ไม่ใช่จำกัดเฉพาะการฝึกแบบพุทธเท่านั้น รวมถึงการทำฝึกที่สัมผัสกับความเงียบในธรรมชาติด้วย และ 3. การฝึกให้นักเรียนเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังเรื่องราวของผู้อื่นด้วยความเคารพและให้พื้นที่กับทุกความรู้สึกที่เกิดร่วมไปด้วย
04 – บทสรุปของบทบาทศาสนา ศรัทธา และจิตวิญญาณ เพื่อการสร้างสังคมที่ยั่งยืน
ถึงตรงนี้คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่าข้อถกสนทนาและทัศนะของนักวิชาการและนักปฏิบัติข้างต้นได้เปิดโลกทัศน์และเสนอทางเลือกที่น่าสนใจแก่วงการการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างน้อยที่สุดก็ชวนให้เห็นว่านอกจากแนวทางทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์แล้ว ศาสนา ศรัทธา และจิตวิญญาณก็สามารถใช้ช่วยเสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้ โดยเป็นความยั่งยืนที่เน้นสร้างจากฐานสำนึกของบุคคล ให้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียว ร่วมรับรู้ทุกข์สุขกับองคาพยพอื่นของโลก และสามารถเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ แผ่เผื่อความรัก ความเมตตา แก่สรรพสิ่งอื่นที่ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่มนุษย์ด้วย
หากแนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ปลายทางแห่งอนาคตก็คงเป็นปลายทางที่มนุษย์อยู่ร่วมกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้อย่างสงบ สันติ และสมานฉันท์มากขึ้น ทุกคนคงหยุดทำร้ายกันเองและยุติทำลายธรรมชาติอย่างที่เคยเป็นมา ยิ่งกว่านั้นอาจไปถึงขั้นที่ต่างรู้สึกเดือดร้อน ทนไม่ได้ เมื่อมีใครหรือกลุ่มใดกระทำสิ่งซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อโลกใบนี้
เรียบเรียงใหม่จากการสัมมนา – อติรุจ ดือเระ
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง
บรรณาธิการ – ธนภัทร โกสุมาภินันท์ และ เนตรธิดาร์ บุนนาค
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่เจ็ดในซีรีส์องค์ความรู้ชุด “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” (Futures Literacy) ในฐานะหนึ่งเครื่องมือสำคัญแห่งยุคสมัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนผ่านปัจจุบันจากฐานราก ร่วมขับเคลื่อนหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่มีความผันผวนและซับซ้อนได้อย่างยั่งยืน (Resilience) โดยซีรีส์ดังกล่าวเป็นบทสังเคราะห์จากงานสัมมนานานาชาติ “Futures Literacy in a Post-Covid-19 Asia: Solidarity and Transformative Learning” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) เมื่อวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการเผยแพร่บทความผ่านช่องทางของ SDG Move ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565
รับฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook: Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U. และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ Chula Futures Literacy Week ได้ที่เว็บไซต์ www.inter.chula.ac.th/futuresliteracy/
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Recommends | โลกเราดีขึ้นหรือแย่ลงสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่? หาคำตอบใน ‘The Changing Childhood Project’
– กลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามมีความก้าวหน้าถึง 61% ในการบรรลุ SDGs แต่ความสำเร็จแต่ละประเทศต่างกันมาก
– COP26 Youth Climate Dialogue ย้ำเยาวชนมีบทบาทลงมือจัดการ Climate Change ได้ตั้งแต่กำหนดนโยบายและวางแผนขับเคลื่อน
– Director’s Note: 10: มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– SDG Updates | ปรับโฉมการศึกษาในเอเชียเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต – สรุปการแสดงปาฐกถา โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตเเละการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี 2573