หมุดหมายการติดตามและทบทวนการดำเนินงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีระดับสากลอย่าง การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี พ.ศ. 2565 กำลังจะหวนกลับมาอีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์ที่จะถึงนี้ ระหว่างวันที่ 5 – 15 กรกฎาคม โดยปีนี้ยังคงเป็นอีกปีหนึ่งที่ที่ประชุมจะย้ำถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงแนวทางการฟื้นฟู/ฟื้นกลับและขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายภายในปี 2573 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กับธีม “การฟื้นฟูศักยภาพให้กลับมาเข้มแข็งและผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Building Back Better and Advancing the SDGs)
โดยส่วนการอภิปรายที่น่าจับตาส่วนหนึ่งจากเวทีการประชุม HLPF คือการติดตามและทบทวนเชิงลึกกับบางเป้าหมาย SDGs ที่จะถูกหยิบมาพูดถึง ซึ่งปีนี้มี 5 เป้าหมายด้วยกัน ได้แก่ #SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) #SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) #SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) #SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง #SDG17 (หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นกลับมาเร่งเครื่องการพัฒนาต่อไป
เพื่อให้เราสามารถตามติดตามการทบทวนเชิงลึกได้อย่างเข้าใจมากขึ้น SDG Updates ฉบับนี้ จะพาผู้อ่านไปสำรวจสถานะปัจจุบันของทั้ง 5 เป้าหมายในบริบทภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอย่างรวบรัด รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะลำดับความสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ จากคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) สำหรับนำไปใช้แก้โจทย์ความท้าทายที่ 5 เป้าหมายดังกล่าวกำลังเผชิญ และยังจะเป็นการทบทวนอย่างจริงจังว่านานาประเทศจะสามารถฟื้นฟูศักยภาพของตนให้กลับมาเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร
SDG4
การศึกษาที่มีคุณภาพ
ในภาพรวมด้านการศึกษาของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พบว่า “การเข้าถึงการศึกษา” เป็นประเด็นที่เห็นความก้าวหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทว่าการพัฒนา “คุณภาพของการศึกษา” ในทุกระดับยังคงเป็นความท้าทายสำหรับภูมิภาคนี้อยู่ หากยกสถานการณ์ของโควิด-19 เข้ามามองผลกระทบที่มีต่อการศึกษาแล้วจะพบว่า วิกฤติสาธารณสุขเข้ามาทำให้ปัญหาด้านการศึกษาที่มีมาแต่ก่อนโควิด-19 ย่ำแย่ลงกว่าเดิม โดยเฉพาะปัญหาด้าน “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”
ส่วนผลกระทบอื่นจากการระบาดของโรค อาทิ การปิดโรงเรียน ปัญหาคุณภาพการสอนทางไกล และปัญหาเด็กหลุดออกจากโครงข่ายของโรงเรียนในจำนวนมากขึ้น ยังเป็นผลให้เด็ก “สูญเสียทักษะการเรียนรู้” ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่ครูผู้สอนก็ประสบกับ “ปัญหาทักษะการสอน” เนื่องจากจำเป็นต้องหันมาใช้สื่อการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปจากเดิม เหล่านี้เป็นโจทย์ที่นานาประเทศต้องกลับมาใส่ใจ พยายามลดผลกระทบลง และเพิ่มศักยภาพของบุคคลากรให้มากขึ้น พร้อมกับที่ตระหนักว่าประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงความท้าทายด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับสุขภาวะที่ดีในมิติอื่น เช่น การไปโรงเรียนสำหรับเด็กบางกลุ่มยังหมายถึงการเข้าถึงอาหารและโภชนาการที่ดีที่โรงเรียนจัดหาไว้ให้ด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ หากมองในเชิงระบบจะพบว่า ปัญหาข้อสำคัญสำหรับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังรวมถึง “การขาดข้อมูลด้านการศึกษาที่มีคุณภาพดีและความเข้าใจที่ครอบคลุม” หมายรวมถึงความเข้าใจที่ครอบคลุมไปถึงมิติด้านสุขภาพ การคุ้มครองเด็ก โภชนาการ แรงงาน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภาพจาก: SDG4 Goal Profile (UN ESCAP)
| แล้วควรทำอย่างไรกับสถานะของ SDG4 ?
UN ESCAP เสนอว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะต้องสร้างหลักประกันว่าจะมีงบประมาณด้านการศึกษาที่เพียงพอ โดยควรเพิ่มงบประมาณฯ ให้มากขึ้นราว 4 – 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือ 15 – 20% ของงบประมาณภาครัฐ ระหว่างนั้นจำเป็นต้องจัดอันดับความสำคัญด้านการเรียนรู้โดยคำนึงถึงเรื่อง “ความเท่าเทียมและเสมอภาค” ตลอดจน “การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาจากฐานราก” เพื่อปรับปรุงให้เป็นระบบการศึกษาที่สามารถตั้งรับปรับตัวและฟื้นกลับจากการเปลี่ยนแปลง (resilience) และให้เป็นระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ (efficiency) เช่นนั้นถึงจะสามารถฟื้นกลับจากโรคระบาดและเร่งเครื่องดำเนินงานไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 ได้สำเร็จ
สำหรับเอเชียและแปซิฟิกแล้ว มีลำดับความสำคัญด้วยกัน 7 ข้อ ภายใต้ธีมหลัก 3 ธีม ดังนี้
- การฟื้นฟู/ฟื้นกลับด้านการเรียนรู้ และการจัดการกับวิกฤติด้านการศึกษา
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 1 – กลับมาเปิดเรียนอย่างปลอดภัยต่อไป กำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นฟู/ฟื้นกลับด้านการเรียนรู้ โดยมีนโยบายที่มุ่งเป้า และการมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความเสมอภาคทางการศึกษา
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 2 – เสริมความเข้มแข็งด้านการสอนและสนับสนุนครูผู้สอนให้สามารถจัดการกับระดับการเรียนรู้ที่ค่อนข้างต่ำและอุดช่องว่างปัญหาการแบ่งแยกทางการศึกษา (learning divide) ที่มีอยู่
- การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาจากฐานราก
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 3 – ทำการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยให้มีความยืดหยุ่นและเป็นสากล
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 4 – ถอดบทเรียน/ศึกษาจากประสบการณ์ที่เผชิญในช่วงการปิดโรงเรียนเพราะโควิด-19 เพื่อนำมาจัดโมเดลการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและเสมอภาค จัดเส้นทางสำหรับนักเรียน รวมถึงพัฒนาทักษะสำหรับเด็กวัยรุ่น
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 5 – สร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว ชุมชน และนโยบาย/โครงการข้ามภาคส่วนให้มีความเข้มแข็งมากกว่าเดิม เพื่อที่จะสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ทั้งภายในโรงเรียนและรอบโรงเรียนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
- การลงทุนด้านการศึกษาและส่วนสนับสนุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก (enablers for transformation) ที่มีเพิ่มขึ้นและดีขึ้น
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 6 – ปกป้องการลงทุนทางการเงินของภาครัฐ ประสิทธิภาพทางการศึกษา และสนับสนุนกลไกการสนับสนุนทางการเงินที่มีความเสมอภาค
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 7 – เสริมความเข้มแข็งในกลไกการติดตามข้อมูลให้มีความครอบคลุม ตลอดจนการพัฒนาให้โครงสร้างธรรมาภิบาลเป็นส่วนสนับสนุนให้ระบบการศึกษาสามารถตอบรับกับความผันผวนในอนาคตได้ อาทิ การตอบรับกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
SDG5
ความเท่าเทียมทางเพศ
ตั้งแต่ที่มีการรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573 มาดำเนินการ พบว่าในบริบทของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีความก้าวหน้าไปในทิศทางที่ดีในด้าน “ความเท่าเทียมทางเพศ” และ “การเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง” ทั้งความพยายามที่จะพัฒนาให้มี “ข้อมูลสถิติที่เกี่ยวกับเพศ” สำหรับใช้ในการติดตามและรายงานความก้าวหน้า แม้นว่าปัจจุบันราวครึ่งหนึ่งของตัวชี้วัดใน SDGs ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางเพศยังคงไม่มีข้อมูล รวมถึงว่าการประเมิน SDG5 เองอย่างเช่นการประเมินในระดับภูมิภาค มักกระจุกอยู่ที่การประเมินเป้าหมายย่อยภายใต้ SDG5 เพียง 1 เป้าหมายเท่านั้น กล่าวคือ การประเมินยังคงเน้นไปที่ SDG 5.5 (หลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสเท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ) เป็นสำคัญ ขณะที่บางเป้าหมายย่อยที่เป็นข้อสำคัญเช่นกันอย่าง SDG 5.1 (ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่) กลับมีข้อมูลอย่างเป็นทางการในบางช่วงเวลาเท่านั้น ทำให้การประเมินความก้าวหน้าสำหรับข้อนี้เป็นไปค่อนข้างลำบาก โดยจำเป็นต้องอาศัยตัวชี้วัดโดยอ้อม (proxy indicators) ในการประเมิน
ภาพจาก: SDG5 Goal Profile (UN ESCAP)
| แล้วควรทำอย่างไรกับสถานะของ SDG5 ?
ดังที่กล่าวข้างต้น ปัญหาสำหรับการวิเคราะห์และประเมินความก้าวหน้าใน SDG5 มักมาจากการขาดข้อมูลหรือปัญหาช่องว่างของข้อมูล UN ESCAP เสนอว่า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “ความชุกของกรณีความรุนแรงที่มาจากคู่ครอง” (intimate partner violence) “ความชุกของกรณีการบังคับเด็กแต่งงาน” ในอนุภูมิภาคเอเชียใต้และโอเชียเนีย (ไม่นับรวมประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ไปจนถึงกรณีของการที่ “ผู้หญิงดูแลและทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงขึ้นด้วยเหตุของโรคระบาด
กระนั้น แม้เราจะเห็นว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีความก้าวหน้าในเป้าหมายความเท่าเทียมทางเพศ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับความก้าวหน้าในระดับโลกแล้ว พบว่ายังคงไม่เป็นไปในระดับที่ตั้งเป้าหมายร่วมกันเอาไว้ และคาดว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน SDG5 ภายในปี 2573
เพื่อไปสู่การลงมือดำเนินงานที่ตรงจุดมากขึ้น UN ESCAP เสนอลำดับความสำคัญ 6 ข้อที่ควรเร่งดำเนินการ ดังนี้
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 1 – สนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้หญิงและบทบาทการเป็นผู้นำของผู้หญิงในการบริหารจัดการธรรมาภิบาลและการตัดสินใจ
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 2 – สนับสนุนการจัดทำงบประมาณที่สอดรับ/ตอบรับกับประเด็นทางเพศ (gender-responsive budgeting) ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินในนวัตกรรมที่จะช่วยให้สามารถฟื้นฟู/ฟื้นกลับได้อย่างมีประสิทธิผล และช่วยในการนำ SDGs ไปปฏิบัติ
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 3 – บูรณาการประเด็นทางเพศไว้ในยุทธศาสตร์ระดับชาติและการพัฒนาระบบ/ข้อมูลสถิติ
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 4 – เสริมพลังอำนาจให้แก่ผู้หญิงในด้านพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ อันหมายรวมถึงการฟื้นกลับหลังยุคโควิด-19
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 5 – คืนสถานะและคงไว้ซึ่งการสนับสนุนทางการเงินและบริการที่มุ่งจัดการกับความรุนแรงหรือการปฏิบัติที่เป็นภัยต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 6 – เน้นมุมมองการพัฒนาประเด็นทางเพศในบริบทเฉพาะของอนุภูมิภาคนั้น ๆ
SDG14
ทรัพยากรทางทะเล
SDG14 เป็นเป้าหมายที่น่ากังวลสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยพบว่าเส้นทางปัจจุบันไม่เป็นไปในทิศทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้เลย ทั้งเป้าหมายย่อยที่เกี่ยวข้องกับ “การจัดการมลพิษทางทะเล” “การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งและทรัพยากรทางทะเล” ในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS) และประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries: LDCs) ขณะที่ “ระบบนิเวศทางมหาสมุทร” เผชิญกับความยากลำบากที่จะลดผลกระทบซึ่งมาจากวิถีชีวิตและกิจกรรมบนบก อาทิ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการฟอกขาวปะการัง ความเป็นกรดในทะเล ปรากฎการณ์ยูโทรฟิเคชัน (eutrophication) มหาสมุทรที่ร้อนขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และอื่น ๆ ส่วนไฮไลท์สำคัญของภูมิภาคคือศักยภาพของอุตสากรรม “การประมง” ที่สามารถผลิตอาหารทะเลเพื่อเลี้ยงปากท้องชุมชนทั่วทั้งภูมิภาคได้ อย่างไรก็ดี “จำนวนประชากรปลา” ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุที่รูปแบบการบริโภคไม่ยั่งยืน โดยสถานการณ์เหล่านี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความน่ากังวลอื่นทั้ง “การโยกย้ายถิ่นฐานของสปีชีส์อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (climate change-induced migrations of species) และการปฏิบัติที่เป็นอันตรายอย่าง “การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม” (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU)
ภาพจาก: SDG14 Goal Profile (UN ESCAP)
| แล้วควรทำอย่างไรกับสถานะของ SDG14 ?
เมื่อทะเลและมหาสมุทรเป็นพื้นที่ทรัพยากรสากล จึงต้องมีการประสานความร่วมมือในภูมิภาคและข้ามเขตแดน รวมถึงต้องมีกลไกที่จะช่วยเร่งเครื่องดำเนินงานตาม SDG14 ได้ โดย UN ESCAP ได้แนะนำลำดับความสำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไว้ด้วยกัน 5 ข้อ ดังนี้
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 1 – ปรับปรุงการรวบรวมข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข้อมูล
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 2 – เสริมสร้างการออกแบบนโยบายและการนำไปปฏิบัติ โดยรวมถึงการปรับปรุงการจัดการขยะและการป้องกันมลพิษทางทะเล
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 3 – เพิ่มการสนับสนุนทางการเงินสำหรับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 4 – บังคับใช้กฎระเบียบ/กฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 5 – สนับสนุนความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างธรมมาภิบาลทางทะเลและมหาสมุทร
SDG15
ระบบนิเวศบนบก
ภาพรวมความก้าวหน้าด้านระบบนิเวศบนบกของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นไปอย่างช้า โดยมีเป้าหมายย่อยเป้าหมายเดียวที่เกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) สำหรับความหลากหลายทางชีวภาพ ที่คาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่กำหนดไว้ หมายความว่าสถานะของระบบนิเวศบนบกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้จำเป็นต้องรีบจัดการ เพราะมีการประมาณว่าสถานการณ์ในหลายประเทศของภูมิภาคจะยิ่งเลวร้ายลงก่อนปี 2573
การประเมินของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผ่านเวทีระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (Intergovernmental Science Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services: IPBES) ปี 2561 ระบุว่า ปัจจัยทางตรงอย่างการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย การแปลงที่อยู่อาศัย ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับปัจจัยทางอ้อมอย่างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมและประชากร ได้สร้างความเครียดและความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ เป็นภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่และความมั่นคงทางอาหารของประชากรหลักล้าน โดยที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นตัวเร่งผลกระทบเหล่านี้ โดยเฉพาะต่อชุมชนพื้นเมืองและกลุ่มที่เปราะบาง
ภาพจาก: SDG15 Goal Profile (UN ESCAP)
| แล้วควรทำอย่างไรกับสถานะของ SDG15 ?
สิ่งที่เอเชียแปซิฟิกควรทำเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ คือการปกป้องระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศน้ำจืดให้มากขึ้น ปรับปรุงการบริหารจัดการป่าไม้และการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขา ไปจนถึงการสร้างหลักประกันว่าชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการอนุรักษ์และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่การอนุรักษ์ระบบนิเวศและสัตว์ป่ายังเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดหรือการถ่ายโอนเชื้อโรคจากสัตว์มาสู่คนในอนาคตด้วย ทั้งนี้ UN ESCAP ได้เสนอแนะ 9 ลำดับความสำคัญที่นานาประเทศควรเร่งลงมือทำ ดังนี้
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 1 – เร่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นไปสู่ระบบเกษตรกรรม การประมง และการป่าไม้ ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ที่เป็นการฟื้นฟู (regenerative) และที่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง (resilience)
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 2 – มีส่วนร่วมกับข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำข้อตกลงเหล่านั้นไปปฏิบัติ
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 3 – สนับสนุนให้ผู้ตัดสินใจนำหลักการ 4 ข้อที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของ International Resource Pane คณะทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ไปปฏิบัติ เพื่อที่จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถดำเนินนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 4 – แก้ไขปัญหาการขาดดุลข้อมูล
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 5 – ระดมทรัพยากรจากภาคเอกชน ภาครัฐ และกองทุนการเงินระดับโลก เพื่อดำเนินงานทางสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายย่อย 15.a (ระดมและเพิ่มทรัพยากรทางการเงินจากทุกแหล่งเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน) และ 15.b (ระดมทรัพยากรจากทุกแหล่งและทุกระดับเพื่อสนับสนุนเงินแก่การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และจัดหาแรงจูงใจที่เหมาะสมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าในการบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึงการอนุรักษ์และการปลูกป่า)
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 6 – เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนเพิ่มความตระหนักรู้ในการจัดการกับปัญหาของ SDG15
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 7 – เสริมสร้างแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One-Health approach) ในโลกยุคหลังโควิด-19
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 8 – ผนวกประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพในการทำงานของทุกหน่วยงานภาครัฐ
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 9 – ตระหนักและสนับสนุนนโยบายที่เกี่ยวข้อง SDG 15 ที่มีการกล่าวถึงไว้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 4 ณ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
SDG17
หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างที่เราทราบกันดีว่า SDG17 เป็นปัจจัยสนับสนุนพื้นฐาน (fundamental enabler) ของการขับเคลื่อนการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมาย SDGs โดยกรอบคิดของเป้าหมายนี้คือการรวมหลากประเด็น อาทิ ด้านการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศ ขีดความสามารถ ไปจนถึงการค้าระหว่างประเทศและการติดตามข้อมูลไว้ในเป้าหมายเดียวกัน
โดยข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาชี้ว่า ภาพรวมตัวชี้วัดส่วนใหญ่ภายใต้เป้าหมายนี้มีความก้าวหน้าค่อนข้างน้อย และอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ภายในปี 2573 ซึ่งนอกจากจะมีปัญหาด้าน “การมีข้อมูล” สำหรับใช้ในการติดตามและรายงานความก้าวหน้าแล้ว ผลกระทบจากโควิด-19 ยังทำให้ความก้าวหน้าที่สั่งสมมาอย่างยากลำบากกลับถอยหลังลงหรือประสบกับความผันผวนไม่แน่นอน อย่างเช่น “กระแสการไหลเวียนของเงิน” ทั้งภายในและภายนอก อาทิ รายได้ของภาครัฐจากการเก็บภาษี ประเด็นเรื่องเงินส่งกลับบ้าน (remittances) และความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA)
อย่างไรก็ดี ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกถือว่ามีความก้าวหน้าไปในทิศทางที่ดี แม้ว่ายังพบ “การแบ่งแยกในการเข้าถึง” (divide in access) อย่างชัดเจนทั้งระหว่างประเทศ ภายในประเทศ หรือระหว่างประชากรเมืองและประชากรที่อาศัยในชนบท ส่วนด้าน “ระบบสถิติแห่งชาติ” ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการติดตามข้อมูลความคืบหน้านั้น จำเป็นที่นานาประเทศต้องให้ความสำคัญและพัฒนาให้ดีขึ้น ขณะที่ “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม” กลับลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ในด้านความร่วมมือของทุกภาคส่วนจึงเป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุงเป็นอย่างมาก
ภาพจาก: SDG17 Goal Profile (UN ESCAP)
| แล้วควรทำอย่างไรกับสถานะของ SDG17 ?
ข้อมูลจาก UN ESCAP ระบุว่า จำเป็นต้องมี “การประสานการทำงาน” ของทุกภาคส่วนในสังคมในการบูรณาการ SDGs จำเป็นต้องมีความครอบคลุมทั้งมุมมอง องค์ความรู้ และข้อริเริ่มของหน่วยงานท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม เยาวชน นักวิชาการ และกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากทุกภาคส่วนที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการนำ SDGs ไปปฏิบัติ รวมถึงการติดตามประเมินผลและการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย โดยสิ่งที่จะต้องเน้นย้ำคือประเด็นด้าน “ขีดความสามารถ” และ “การเงิน” ที่จะต้องเสริมพลังซึ่งกันและกันเพื่อการสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่มีความหมายและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น การเสริมพลังอำนาจให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางขึ้น จะต้องมาควบคู่กับ “การจัดการปัญหาช่องว่างทางข้อมูล การกระจายข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูล” ด้วย
ท้ายที่สุดนี้ การจะเร่งเครื่องเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ UN ESCAP ได้นำเสนอต่อไปถึงลำดับความสำคัญในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหลาย ๆ ข้อ รวมทั้งสิ้น 9 ลำดับความสำคัญ ดังนี้
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 1 – การออกแบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคเป็นอันดับแรก
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 2 – ตระหนักว่ารูปแบบการพัฒนาที่หลากหลาย อาทิ ความร่วมมือเหนือ-ใต้ ความร่วมมือใต้-ใต้ และความร่วมมือไตรภาคี ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้นและยังสนับสนุนการพัฒนาซึ่งกันและกัน
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 3 – การสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงข้อมูลและการเป็นเจ้าของข้อมูล โดยให้มีการลงทุนในกรอบธรรมาภิบาลด้านข้อมูลระดับชาติ การให้บริการดูแล (stewardship) และนวัตกรรม โดยเฉพาะการบูรณาการข้อมูลที่มีตำแหน่งที่ตั้ง (geospatial data) ให้มีการนำโดยพลเมือง และมีข้อมูลสถิติ
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 4 – การลงทุนเป็นหัวใจต่อวิสัยทัศน์ด้านระบบทะเบียนราษฎร์ (Civil Registration and Vital Statistics Systems: CRVS) ที่เป็นสากลและตอบสนองได้รวดเร็ว ซึ่งประเทศภายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีร่วมกัน
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 5 – การเงินของภาครัฐสำคัญต่อทั้งแพ็กเกจการฟื้นกลับจากโควิด-19 การบรรลุ SDGs และหลักประกันสินค้าสาธารณะและความเสมอภาค ตามตัวชี้วัด 17.1 และ 17.2
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 6 – การเงินของภาคเอกชนจะต้องเสริมพลังในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้นและพุ่งเป้าไปที่การบรรลุ SDGs อย่างมีประสิทธิภาพ
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 7 – ส่งเสริมประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดและประเทศกำลังพัฒนาในการค้าขายในยุคดิจิทัลต่อไป
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 8 – ขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ
- ลำดับความสำคัญข้อที่ 9 – ภายใต้ประเด็นการส่งเสริมการลงทุน ควรจัดอันดับความสำคัญให้กับการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศด้วย
ติดตามการประชุม HLPF 2565 และการนำเสนอรายงาน VNR ได้จากช่องทางของ UN ที่นี่
รวมข้อมูลพื้นฐานและข่าวสารความคืบหน้าเกี่ยวกับการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF) และรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (VNR) จัดทำโดย SDG Move ที่นี่
อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | (EP.1/2) Sustainability Transformation: ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ พลิก “ระบบ” จากฐานรากในทศวรรษสุดท้ายแห่งการลงมือทำ
– SDG Updates | ACT NOW! in “DECADE OF ACTION (2021-2030)” : อัปเดตความก้าวหน้า สำรวจความท้าทาย แล้วลงมือทำได้เลย!
– SDG Updates | สรุป 9 เป้าหมายย่อยที่ยังวิกฤต (ฉบับรวบรัด) จากรายงาน 5 ปีสถานะ SDGs ประเทศไทย โดยสภาพัฒน์
– SDG Updates | โค้งสุดท้ายก่อน 2030: แผนพัฒน์ 13 กับการพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน?
– ที่ประชุม กพย. เร่งขับเคลื่อน SDGs ในระยะต่อไป ภายใต้ “ทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง”
– ทักษะการเรียนรู้ สุขภาพจิต และพัฒนาการทางสังคม-ความรู้สึก: ต้นทุนที่เด็กสูญเสียไปจากการปิดโรงเรียนเพื่อรับมือกับโรคระบาด
– ฝึกฝนครู – เชื่อมต่อ digital divide – คิดหลักสูตรใหม่ จินตนาการถึงการศึกษารูปแบบใหม่ในช่วงวิกฤติโรคระบาด
– SDG Updates | อีก 135 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – สรุปรายงาน GLOBAL GENDER GAP REPORT 2021
– ASEAN Gender Outlook แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนผู้หญิงและเด็กหญิงที่เปราะบาง เป็นกุญแจสำคัญไปสู่การบรรลุ SDGs
– รัฐบาล-เอกชนทั่วโลก ผนึกกำลังขับเคลื่อน 410 ข้อผูกพัน เพื่อการพัฒนามหาสมุทรที่ยั่งยืน ในการประชุม Our Ocean Conference 2022
– การเจรจายับยั้งการอุดหนุนทำประมงเกินขนาดและ IUU โดย WTO ยังไม่เสร็จสิ้น – เลยกำหนดจากเป้าหมายภายในปี 2563
– รายงานสถานะแนวปะการังจากข้อมูล 40 ปี พบว่า โลกสูญเสียแนวปะการังไปถึง 14% ภายในช่วงแค่สิบปีที่ผ่านมา
– SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่
– ประชากรในโลกจำนวนมากยังไม่มีเอกลักษณ์ทางกฎหมาย – จดทะเบียนแจ้งตายและแจ้งเกิด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
– UN ESCAP Policy Brief: SDG4 Goal Profile (unescap.org) – ข้อมูลเผยแพร่วันที่ 16 มีนาคม 2565
– UN ESCAP Policy Brief: SDG5 Goal Profile (unescap.org) – ข้อมูลเผยแพร่วันที่ 16 มีนาคม 2565
– UN ESCAP Policy Brief: SDG14 Goal Profile (unescap.org) – ข้อมูลเผยแพร่วันที่ 16 มีนาคม 2565
– UN ESCAP Policy Brief: SDG15 Goal Profile (unescap.org) – ข้อมูลเผยแพร่วันที่ 16 มีนาคม 2565
– UN ESCAP Policy Brief: SDG17 Goal Profile (unescap.org) – ข้อมูลเผยแพร่วันที่ 24 มีนาคม 2565