ในปัจจุบัน ปัญหาวิกฤตด้านพลังงาน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบไปยังทั่วโลก แม้แต่ประเทศผู้ส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง “ออสเตรเลีย” ก็เช่นเดียวกันที่ต้องเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังภาคการผลิตถ่านหินหยุดชะงัก ส่งผลให้ผลิตพลังงานได้ไม่เพียงพอเเละเสี่ยงที่จะทำให้ไฟฟ้าดับ เป็นเหตุให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ต้องวอนขอให้ประชาชนในรัฐนิวเซาท์เวลส์กว่า 8 ล้านคน ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ และเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่อย่างซิดนีย์ ช่วยกันปิดไฟในครัวเรือนเป็นเวลา 2 ชั่วโมงของทุกวันเพื่อประหยัดพลังงาน
จากเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศออสเตรเลียเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหากับเหมืองถ่านหินบางแห่งในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐควีนส์แลนด์ จนส่งผลให้มีการหยุดชะงักของการจัดหาถ่านหินประกอบกับราคาพลังงานโลกที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าในออสเตรเลียจึงต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินหลาย ๆ แห่งต้องปิดตัวลง เเละยังต้องเผชิญกับปัญหาความขัดข้องทางการผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของตลาดไฟฟ้าในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานอย่างมากแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งปัจจุบันปริมาณ 3 ใน 4 ของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศต้องอาศัยเชื้อเพลิงถ่านหินเป็นหลัก
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 หน่วยงานกำกับดูแลตลาดพลังงานออสเตรเลีย (Australian Energy Market Operator: AEMO) ได้ตัดสินใจระงับตลาดจรซื้อขายไฟฟ้า (spot market) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังราคาพลังงานถ่านหินเพิ่มสูงขึ้น เหตุจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งเกิดไฟดับและมีการปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อซ่อมปรับปรุง โดยจะมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์เป็นรายวันต่อไปและแจ้งให้ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม อันส่งผลให้ในวันถัดมา 16 มิถุนายน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของออสเตรเลีย Chris Bowen ได้แถลงข่าวผ่านทางโทรทัศน์จากกรุงแคนเบอร์รา วอนขอความร่วมมือจากประชาชนในนิวเซาท์เวลส์กว่า 8 ล้านคน งดใช้ไฟฟ้าเป็นเวลา 2 ชั่วโมงในช่วงเวลา 18.00-20.00 น. ของทุกวันหากเป็นไปได้ เพื่อช่วยกันประหยัดพลังงาน ซึ่งช่วงเวลาเย็นเป็นช่วงเสี่ยงไฟฟ้าดับสูง เนื่องจากผู้คนใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แต่กลับกันในช่วงเวลานี้ กำลังไฟฟ้าจากกังหันลมและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นลดลง ทำให้ไม่สามารถผลิตพลังงานได้ตามเป้าหมาย จึงขอให้ประชาชนลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว โดยให้มั่นใจได้ว่านิวเซาท์เวลส์อาจไม่ถึงขั้นต้องเผชิญกับภาวะไฟฟ้าดับทั่วเมือง
จากปัญหาดังกล่าว Lynne Chester ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ระบุว่า “ผู้วางนโยบายในออสเตรเลียได้รับรู้ถึงปัญหาความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตพลังงานเช่นนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ภาครัฐโดยเฉพาะผู้วางนโยบายและกฎหมายต่าง ๆ เพิกเฉยที่จะหาแนวทางการใช้พลังงานที่ยั่งยืน เเต่กลับยังคงยึดการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีวันหมดไป เป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ”
แนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านพลังงานของออสเตรเลียจำเป็นจะต้องสนับสนุนพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยลดสัดส่วนการพึ่งพากำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งปัจจุบันเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ โดยสามารถเรียนรู้ได้จากบทเรียนในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ที่มีการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มาตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน ซึ่งเป็นการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน (mix of renewables sources) และมีโครงข่ายพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าของรัฐที่ช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพและมั่นคง ซึ่งช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยหากนำมาปรับใช้ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะช่วยเป็นแนวทางสำหรับวางแผนการใช้พลังงานสะอาดอย่างเป็นระบบให้เกิดขึ้นได้ในระยะยาว
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน อาจฉุดรั้งความก้าวหน้าการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศ – SDG Move
– SDG Insights | ต่อจิ๊กซอว์การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมของไทย ไปกับภาคประชาสังคม (EP. 11)
– “Tracking SDG 7 ประจำปี 2565” ระบุ 773 ล้านคนทั่วโลกยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้า และการศึกษาที่มีคุณภาพต้องอาศัยความเท่าเทียมด้านพลังงาน
– SDG Updates | ฤาพลังงานสะอาดจะไม่ยั่งยืน – ใครคือแนวหน้าผู้สูญเสีย หากเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจะทอดทิ้งผู้คนไว้ข้างหลัง (EP.1)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.3) เพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังานของโลกให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2573
แหล่งที่มา
– Eight million Australians urged to turn off lights – BBC News
– รัฐ South Australia กับบทเรียนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน 7 ประการให้เราได้เรียนรู้ – SDG Move
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย