กระทรวงทรัพยากรฯ ประกาศให้ ‘เตาเผาศพ’ เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ หวังลดอากาศเสียในสิ่งแวดล้อม

สังคมไทยเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมีวิธีการจัดการศพผ่านการเผาด้วยเตาเผาศพเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีจำนวนเตาเผาศพจากวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศประมาณ 25,500 เตา ทำให้ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเขม่าควันและกลิ่นจากการเผาศพอยู่เป็นระยะ ในบางวัดที่เตาเผาไม่ได้มาตรฐานยังส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และขี้เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรืออุณหภูมิไม่สูงพอ จึงส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป ขณะที่ข้อมูลจาก Natural Death Centre ระบุว่า การเผาศพใน 1 ครั้งใช้ทั้งก๊าซและไฟฟ้าเทียบเท่าได้กับการขับรถยนต์กว่า 500 ไมล์ (ราว 805 กิโลเมตร) และในกระบวนการเผาศพ 1 ศพยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 250 ปอนด์ (ประมาณ 113 กิโลกรัม)

ล่าสุด 21 มิถุนายน 2565 รัฐบาลไทยได้ยกระดับการจัดการปัญหาข้างต้นอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565 โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเปิดเผยว่า “เห็นสมควรปรับปรุงการกำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยได้ประสานงานพร้อมกับประชุมรับฟังความคิดเห็นกับสำนักงานสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติและจากทุกภาคส่วนแล้วด้วย”

สาระสำคัญที่ปรากฏในประกาศฉบับดังกล่าว ได้แก่

  • ให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม
  • การปล่อยทิ้งอากาศเสียผ่านเตาเผาศพ ต้องทำอากาศเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานค่าความทึบแสงของเขม่าจากควันจากปล่องเตาเผาศพของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ ต้องมีค่าความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 10 โดยต้องไม่ใช้วิธีทำให้เจือจาง (dilution)
  • ประกาศฉบับนี้ มีผลใช้บังคับกับเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนครและเขตเทศบาลเมือง ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ส่วนในเขตพื้นที่อื่น ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศฉบับดังกล่าวส่งผลให้วัดหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเผาศพ ตามข้อเสนอแนะของกรมควบคุมมลพิษในการลดมลพิษจากการเผาศพ อาทิ

  • ใช้เตาเผาศพชนิด 2 ห้องเผา คือ ห้องเผาศพและห้องเผาควัน
  • คัดแยกวัสดุที่ไม่ควรเผาออก ได้แก่ พวงหรีด โฟม พลาสติก วัสดุตกแต่งโลงศพต่าง ๆ
  • อุ่นห้องเผาควัน (ห้องเผาสุดท้าย) ก่อนติดไฟห้องเผาศพ และควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส 
  • ควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาศพ (ห้องเผาแรก) ไม่ให้ต่ำกว่า 800 องศาเซลเซียส 
  • ตรวจสอบว่าเกิดการเผาไหม้สมบูรณ์หรือไม่ โดยสังเกตเขม่าควันที่ปลายปล่อง 
  • หลังจากเผาศพเรียบร้อยแล้ว ให้ทำความสะอาดเตาเผาและกวาดเถ้าออกให้หมด
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด แว่นตา รองเท้า ผ้าปิดจมูก ถุงมือ ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีการเผาทางเลือกที่เรียกว่า ‘การเผาสีเขียว’ (green cremation) ผ่านกระบวนการอัลคาไลน์ไฮโดรไลซิส ที่สามารถละลายศพเหลือเป็นชิ้นส่วนกระดูกและผงขาวภายในระยะเวลา 20 ชั่วโมง โดยข้อมูลจากผู้รับจัดการเผาศพด้วยน้ำสัญชาติอังกฤษ Resomation ระบุว่า วิธีการนี้ใช้พลังงานน้อยกว่าการเผาด้วยไฟถึง 5 เท่า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 35 เปอร์เซ็นต์

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเปลี่ยนรถโรงเรียนเป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและลดมลพิษทางอากาศ
SDG Updates | งานศพกับรอยเท้าความยั่งยืนของผู้ที่จากไป
แม้ถึงปี 2030 จะยังคงมีคน 1 ใน 3 ทั่วโลกที่ใช้เชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษทางอากาศเป็นหลักในการประกอบอาหาร
เชื้อเพลิงอากาศยานทางเลือกช่วยลดมลพิษทางอากาศ และลดการตายก่อนวัยของผู้อาศัยใกล้สนามบินจาก PM2.5
หลายเมืองใหญ่ในยุโรปเริ่มลดเพดานการใช้ความเร็วบนท้องถนนลงเพื่อลดอุบัติเหตุและลดการปล่อยมลพิษ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมเเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา:
ทส.แจงประกาศกำหนดมาตรฐานเตาเผาศพเพื่อรักษาสวล.โดยเฉพาะชุมชนใกล้วัดที่ได้รับผลกระทบ นอกเขตเทศบาลเมืองผ่อนปรน 3 ปี (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
วัดปรับตัวอย่างไรเมื่อต้องคุมมลพิษจากเตาเผาศพ (BBC News ไทย)
‘เผาศพด้วยน้ำ’ คืนร่างสู่โลกอย่างเป็นมิตร พิธีศพสีเขียวของ เดสมอนด์ ตูตู (Thairath Online)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on มิถุนายน 27, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น