“หมอซินเธีย” อาสาสมัครไร้สัญชาติ รับรางวัล ‘Gwangju Prize for Human Rights’

อนาคตของชาวเมียนมา แสงแห่งความหวังในการมีระบบสุขภาพที่ดี ซินเธีย หม่อง แพทย์อาสาไร้สัญชาติ ผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’ หรือ Mae Tao Clinic สถานพยาบาลขั้นปฐมภูมิแห่งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิสิทธิมนุษยชน (Gwangju Prize for Human Rights: GPHR) ประจำปี 2565 เพื่อยกย่องการทำกิจกรรมด้านมนุษยธรรมในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรางวัล Gwangju Prize for Human Rights อันเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก มอบโดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของเกาหลีใต้ “มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก” หรือ “May 18 Memorial Foundation” เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ทางการเมืองของชาวเกาหลีใต้ที่ออกมาต่อต้านการปกครองเผด็จการทหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2523 (ค.ศ. 1980) ซึ่งมีการเริ่มมอบรางวัลแก่นักสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ให้แก่ “บุคคล กลุ่ม หรือสถาบันในเกาหลีและต่างประเทศที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสันติภาพผ่านการดำเนินงานของพวกเขา” 

ซินเธีย หม่อง หรือ “หมอซินเธีย” แพทย์อาสาผู้ลี้ภัยสงครามกลางเมืองจากประเทศเมียนมา ผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เริ่มทำงานในฐานะแพทย์ผู้รักษาคนไข้ที่ยากจนตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา รวมถึงประชากรในพื้นที่ แรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยที่เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขของประเทศ มาเป็นเวลานานกว่า 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งแม่ตาวคลินิกขึ้นในปี 2532 โดยแต่ละปีแม่ตาวคลินิก ต้องรักษาผู้ป่วยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100,000 คน และนับจากจำนวนนี้เป็นการทำคลอดราว 2,300 ราย นอกจากนี้ แม่ตาวคลินิกยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านสาธารณสุขให้แก่อาสาสมัครและบุคลากรด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานมาแล้วมากกว่า 2,000 คนอีกด้วย

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 จากการสนับสนุนระบบสาธารณสุขตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา มาอย่างยาวนานนี้เอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกวางจู จึงมอบรางวัลอันทรงเกียรติให้เเก่เธอ ด้วยเหตุผลว่า “หมอซินเธียนั้นทำกิจกรรมเพื่อมนุษยธรรมเเละช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาและแรงงานข้ามชาติมาอย่างต่อเนื่อง”

 โดยที่ผ่านมา มีคนไทยที่เคยได้รับ ‘รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิสิทธิมนุษยชน’ มาแล้วเช่นกัน ได้แก่

  • อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม รับรางวัลในปี 2549 จากการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่สามีที่หายตัวไปกว่า 2 ปี 
  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รับรางวัลในปี 2560 จากการเคลื่อนไหวต่อสู้กับระบอบเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตย
  • อานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน รับรางวัลในปี 2564 จากการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการเรียกร้องประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง

เช่นนั้น สิทธิมนุษยชน (Human Rights) นับว่าเป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะมีความเชื่ออะไร หรือใช้ชีวิตแบบไหนก็ตาม สิทธิมนุษยชนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความเคารพ และเสรีภาพนั้น เป็นสิ่งที่มิควรถูกพรากไปได้ โดยสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิดที่เป็นนามธรรมเท่านั้น แต่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วย

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | Right to know สิทธิได้รู้ : การเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างไรต่อการบรรลุ SDGs 
SDG Updates | ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ – เมื่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กำหนดสถานะสุขภาพและอายุขัยของคุณไว้แล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด – SDG Move 
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว นักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขง รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี 2565 – SDG Move
รายงาน ILO เผยว่า ยังมีคนอีก 1.6 พันล้านคน ในเอเชียและแปซิฟิกที่ขาดการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ – SDG Move

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา
2022 Gwangju Prize for Human Rights Winner Announcement   
‘หมอซินเธีย’ ได้รับรางวัล ‘กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ในฐานะผู้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย | ประชาไท Prachatai.com 
BREAKING: มอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ ‘อานนท์ นำภา’ ทนายความและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไทย – THE STANDARD 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กรกฎาคม 1, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น