วันนี้ (4 กรกฎาคม 2565) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนได้เข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นเรื่องริเริ่มเสนอ “ร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ภาคประชาชน” อันเป็นร่างกฎหมายที่มีประชาชนร่วมลงชื่อผลักดันมากถึงหนึ่งหมื่นราย
ทั้งนี้ เมื่อวาน (3 มิถุนายน 2565) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและภาคีเครือข่ายได้จัดเสวนาเปิดตัวร่างกฎหมายดังกล่าว ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวในเวทีเสวนาว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านมลพิษอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง PM2.5 น้ำเสีย รวมถึงการลักลอบทิ้งของเสียอันตราย ซึ่งกฎหมาย PRTR จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขหรือลดปัญหาเหล่านี้ โดยกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลปริมาณสารเคมี การปลดปล่อย และการเคลื่อนย้ายสารมลพิษในสถานประกอบการโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้
ด้าน ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า กฎหมาย PRTR จะช่วยสร้างความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยพัฒนาฐานข้อมูลด้านมลพิษ ซึ่งรัฐบาลสามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหามลพิษ รวมถึงออกนโยบายต่าง ๆ ทำให้การขับเคลื่อนกฎหมายนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ประชาชน อันเป็นสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติรับรอง
สำหรับร่างกฎหมาย PRTR ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ อาทิ
- บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐที่ผลิต มีไว้ครอบครอง เคลื่อนย้ายหรือปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมต้องรายงานข้อมูลชนิด ปริมาณการปล่อย และการเคลื่อนย้ายสารมลพิษของแต่ละแหล่งกำเนิดมลพิษต่อกรมควบคุมมลพิษ
- ให้จัดตั้ง “คณะกรรมการข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ” ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และด้านกฎหมาย โดยทำหน้าที่หลักในการให้ความเห็นชอบข้อกำหนดและวิธีปฏิบัติงานที่กรมควบคุมมลพิษเสนอเกี่ยวกับการวิเคราะห์และการควบคุมคุณภาพของระบบการจัดการฐานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
- ประชาชนมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองของกรมควบคุมมลพิษ โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่าย เว้นแต่ข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า
- การปกปิด บิดเบือน หรือไม่รายงานข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากพิจารณาทั่วโลกจะพบว่าปัจจุบันมีประเทศกว่า 50 ประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมาย PRTR ขณะที่บางประเทศยังอยู่ในระหว่างการพัฒนากฎหมายดังกล่าว โดยประเทศแรกที่บังคับใช้ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งริเริ่มขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลในรัฐเวสท์-เวอร์จิเนีย ที่ทำให้คนงานและชุมชนที่มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียงต่างเรียกร้องให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายให้แก่สาธารณชนได้รับทราบ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– การจัดการกับสารอันตรายและวิกฤติสิ่งแวดล้อม จะต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
– ผู้ชายมีลูกยากมากขึ้น หนึ่งในสาเหตุที่กระทบต่อฮอร์โมนเพศชายและสเปิร์มมาจากสารเคมีและสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม
– โลกยุติการใช้น้ำมันตะกั่ว แต่ตะกั่วในแบตเตอรี่ยังปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและพัฒนาการเด็กเล็ก
– SDG Updates | พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
แหล่งที่มา:
– #EnLaw #EARTH #Greenpeace – ภาคประชาชน เปิดตัวร่าง กม. #PRTR เตรียมยื่นรัฐสภาพรุ่งนี้ (FB Page มูลนิธิบูรณะนิเวศ)
– PRTR มีที่มาอย่างไร (PRTR)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย