หากกล่าวถึงโลกหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คงปฏิเสธความจริงไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันเทคโนโลยี มีผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (12th WTO Ministerial Conference: MC12) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีการอภิปรายพิจารณาความเชื่อมโยงของการแปลงข้อมูลสู่รูปแบบดิจิทัล (digitization) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) กับความไม่เท่าเทียม เนื่องจากพบการแบ่งแยกทางดิจิทัล (digital divides) รวมถึงอุปสรรคต่าง ๆ เช่น การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน ความล่าช้าของอินเทอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายที่สูง รวมถึงผลกระทบของการพัฒนาและการบริหารจัดการ e-commerce ซึ่งทั้งหมดถือเป็นความเหลื่อมล้ำจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในปัจจุบัน
การแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล (digitization) เป็นกระบวนการเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ ๆ สำหรับองค์กรหรือธุรกิจ ขณะที่ จากคำนิยามองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) นิยามว่า e-commerce ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบธุรกิจการซื้อขายสินค้าและการให้บริการ ผ่านช่องทางดิจิทัลหรือระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสื่อกลางที่ช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในปัจจุบัน
การอภิปรายในประเด็นนี้ นำการประชุมโดยสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Institute for Sustainable Development: IISD) และ CUTS International (Consumer Unity & Trust Society) ของเจนีวา กล่าวถึง ความสัมพันธ์ของ “การแบ่งแยกทางดิจิทัล” สู่ความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้ดิจิทัลและ e-commerce เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกลับพบการแบ่งแยกทางดิจิทัลระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ประชากรในเมืองและในชนบท อันสะท้อนช่องว่างความแตกต่างของทักษะดิจิทัลและความจำเป็นที่จะต้องมีกรอบของกฎระเบียบที่สนับสนุนส่งเสริมอย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน โดยจากข้อสังเกตพบว่าในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ e-commerce มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภูมิภาคแอฟริกานั้น e-commerce กลับเติบโตลดลง ซึ่งอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบดิจิทัลของประเทศที่มีรายได้ต่ำ (low-income) เกิดจากการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน ความล่าช้าของอินเทอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้การเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตมีไม่เท่าเทียมกัน
อธิบายว่า “การแบ่งแยกทางดิจิทัลภายในประเทศ มักเกิดระหว่างประชากรในเมืองและในชนบท ซึ่งขึ้นอยู่กับเพศและอายุ โดยปัญหาการแบ่งแยกทางดิจิทัลมักเกิดจากสาเหตุต่างๆ อาทิ อินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพต่ำแต่มีราคาสูง การขาดการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคม การเข้าถึงโทรศัพท์มือถือที่มีอย่างจำกัด การขาดการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และการขาดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ e-commerce เป็นต้น”
Jamie Macleod ที่ปรึกษาด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศและผู้ช่วยวิจัย London School of Economics and Political Science
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการนำเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบดิจิทัลและ e-commerce มาอภิปรายพิจารณา แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สมาชิกองค์การการค้าโลกโดยเฉพาะในกลุ่มสมาชิกประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเช่นแอฟริกา ยังคงทบทวนอยู่ว่า e-commerce จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงได้จริงหรือไม่ และการแบ่งแยกทางดิจิทัล อาจทำให้การค้าทางดิจิทัล (digital trade) เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้กับประเทศเศรษฐกิจที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีเพียงเท่านั้น ทำให้ในภาพรวมจึงไม่มีความคืบหน้ามากนักในประเด็นดังกล่าว แม้ว่าจะมีการหารือมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันด้วยการเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบดิจิทัลได้ส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของ e-commerce รวมถึงความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น จึงเป็นโจทย์สำคัญของ WTO ว่าจะมีบทบาทในการสนับสนุนความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในประเด็นดังกล่าวไปพร้อม ๆ กับการกำหนดกติกาอย่างเท่าเทียมร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกต่อไปเช่นไร
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ผู้ประกอบการหญิงในบอตสวานาเติบโตมากขึ้น แต่ยังเผชิญกับความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในการแบ่งแยกทางดิจิทัล – SDG Move
– นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จะช่วยพลิกฟื้นเอเชียแปซิฟิกหลังโรคระบาดให้ก้าวหน้าตาม SDGs – SDG Move
– Komerce แพลตฟอร์มเชื่อมเยาวชนในชนบทกับ SMEs ให้มีงานทำโดยไม่ต้องเข้าเมืองเพราะโอกาสงานที่กระจุกตัว – SDG Move
– World Data Lab พบว่าคนราว 1.1 พันล้านคน มี ‘ความยากจนทางอินเทอร์เน็ต’ (Internet Poverty) – SDG Move
– ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นอย่างไร? เมื่อครึ่งหนึ่งของโลกยังเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่ได้ และไม่มีกรอบ “global data governance” – SDG Move
– ฝึกฝนครู – เชื่อมต่อ digital divide – คิดหลักสูตรใหม่ จินตนาการถึงการศึกษารูปแบบใหม่ในช่วงวิกฤติโรคระบาด – SDG Move
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.b) เพิ่มพูนการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการเพิ่มอำนาจแก่ผู้หญิง
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.a) อำนวยความสะดวกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงและยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา ผ่านทางการยกระดับการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และด้านวิชาการให้แก่ประเทศในแอฟริกา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก
– (9.c) เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี 2563
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.6) เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศและในภูมิภาคแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี และการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และยกระดับการแบ่งปันความรู้ตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน รวมถึง การพัฒนาการประสานงานระหว่างกลไกที่มีอยู่เดิมเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของสหประชาชาติ และผ่านทางกลไกอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีของโลก
แหล่งที่มา
– Roundtable Considers Links of Digitization and E-Commerce to Inequality | News | SDG Knowledge Hub | IISD
– การยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ จาก WTO สู่พันธกรณีในความตกลงการค้าเสรี
– Digitization คืออะไร สำคัญสำหรับองค์กรในปี 2022 มากแค่ไหน?
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย