ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความโกลาหลให้กับโลกอย่างหนักหน่วงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน กระนั้น โควิด-19 ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียว หากยังก่อให้เกิดปัญหาด้านมนุษยธรรมด้วยเช่นกัน ทั้งปัญหาการเมืองภายในประเทศ โอกาสในการเข้าถึงวัคซีน หรือสิทธิที่จะเข้าถึงการรักษา ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่เข้ามาซ้ำเติมความยากลำบากของผู้คน
นอกจากนี้ โควิด-19 ยังส่งผลกระทบไปไกลเกินกว่าปัญหาด้านสุขภาพ อย่างที่ปัญหาด้าน “ความเหลื่อมล้ำ” อันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฎให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น จึงกลับมาสู่ต้นทางความคิดที่ว่าแท้จริงแล้วควรจัดการความท้าทายของวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไร สิ่งใดจะนำไปสู่คำตอบในการจัดการความท้าทายครั้งนี้ และ “ความรู้” เช่นใดที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้
SDG Updates ชุด Futures Literacy (EP.8) เรียนรู้รอบด้าน – บูรณาการศาสตร์และศิลป์เเก้ไขวิกฤต เพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกหลังโควิด-19 อย่างมีภูมิคุ้มกัน Futures Literacy ฉบับนี้ ขอชวนผู้อ่านมาร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากโควิด-19 ซึ่งล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ในหลากหลายบทบาทและพื้นที่บนพื้นฐานความรู้ทั้งสายสุขภาพและสายศิลปะ ผ่านการเชื่อมโยงทุกความท้าทายในแต่ละบริบท และการเชื่อมโยงความรู้ความสามารถข้ามสาขา เพื่อร่วมค้นหาทางออกจากวิกฤตสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบไปไกลเกินกว่าปัญหาที่เกิดจากโควิด-19 โดยตรง
เข้าถึงภาพประกอบ Visual Note ขนาดเต็มที่นี่: https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/07/FL-EP8.png
01 – บริบทความท้าทายในสถานการณ์โควิด-19: การเมืองและการจัดสรรวัคซีน
| ความท้าทายทางการเมือง
ดร. Cynthia Maung กรรมการและผู้ก่อตั้ง “แม่ตาวคลินิก” ได้อธิบายถึงปัญหาการจัดการโควิด-19 จากบริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาภายหลังจากการรัฐประหาร ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินการได้ยากขึ้น และภัยคุกคามที่เกิดขึ้นต่อสถานบริการสาธารณสุข โดยความท้าทายซึ่งมีที่มาจากปัจจัยด้านการเมืองดังกล่าว ทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับทั้งปัญหาด้านสุขภาพและปัญหาด้านมนุษยธรรม จนทำให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินการเกี่ยวกับระบบสุขภาพอย่างสุขภาพชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ ได้จัดตั้งสถานพยาบาลขั้นปฐมภูมิขึ้นในท้องถิ่น เพื่อขยายขอบเขตการบริการด้านสุขภาพเบื้องต้นที่จำเป็นแก่กลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะ
ภายใต้วิกฤตโควิด-19 ที่มีความซับซ้อนเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าบริบทแวดล้อมต่าง ๆ ส่งผลต่อการรับมือกับวิกฤตเป็นอย่างมาก โดย ดร.Chan Chee Khoon นักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยมาลายา ได้ให้ความเห็นว่า โลกต้องก้าวข้ามแนวคิดที่ว่าเราสามารถเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดได้มากกว่านี้ เนื่องมาจากว่าวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง มีความแตกต่างกันออกไป ทำให้การแก้ไขปัญหาย่อมมีความแตกต่างกันตามบริบท ณ เวลานั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า ‘บริบท’ มีอิทธิพลต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนในสังคมต้องเผชิญกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่หรือ “ความปกติใหม่ (new normal)” จากการที่บริบททางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้หลายคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น อาทิ การพบปะผู้คน จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งอันเป็นผลจากความท้าทายที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
| ความท้าทายในการจัดสรรวัคซีน
แม้ว่าโลกเราจะมีการรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น เห็นได้จากการผลิตวัคซีน การออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และมาตรการอื่น ๆ ในหลายประเทศทั่วโลก ทว่าปัญหาที่เห็นได้ชัดและไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ “ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการเข้าถึงวัคซีน”
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.Miwako Hosoda มหาวิทยาลัย Seisa ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Inclusive Action for All ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการ COVAX ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ (equality)ในการกระจายวัคซีนระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในแง่การผลิตและการนำเข้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนเงินทุนและความสามารถในการจัดหาวัคซีน ทำให้ต้องอาศัยตัวกลางในการบริจาคและกระจายวัคซีน เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน
ขณะที่ ดร.Chan Chee ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน หรือของโรคไข้หวัดหมู (H1N1) ในอดีต ก็ยังพบว่า ประเทศที่มีความสามารถในการผลิตวัคซีนเช่นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมักมีสิทธิเข้าถึงวัคซีนก่อนเสมอ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนานั้นกลับต้องเป็นกลุ่มที่สองในการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ศ. ดร.Miwako กล่าวถึงปัญหาที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งคือ “การเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่รับการฉีดวัคซีน” เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลในหลายประเทศได้กำหนดให้ “เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน” เป็นเอกสารที่จำเป็นสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ส่งผลให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้รับหรือเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนถูกกีดกันออกจากสังคม และเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดกลุ่มต่อต้านผู้ไม่ฉีดวัคซีน (vaccine harassment) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตามหลักความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ (equality and non-discrimination) นั้น ไม่ควรมีผู้ใดที่ถูกกีดกันออกจากสังคมเพียงเพราะไม่รับการฉีดวัคซีน
02 – ความท้าทายในการเข้าถึงความรู้และการบริการด้านสุขภาพ
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับการเตรียมรับมือในภาวะวิกฤตอีกสิ่งหนึ่งก็คือ ความรู้และการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ (health literacy)
ศาสตราจารย์ ดร.Imtiaz Ahmed ผู้ดำเนินรายการเสวนา เสนอว่า รูปแบบของความรู้และศาสตร์ที่มีการศึกษาในโลกปัจจุบันนั้นเป็นไปในรูปแบบ “สหวิทยาการ” หรือ multi-disciplinary ที่มีการบูรณาการองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ มากกว่าการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจงในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง ซึ่งในประเด็นนี้โลกควรส่งเสริมกรอบการศึกษาแบบบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อที่จะศึกษาความรู้ต่าง ๆ นอกจากความรู้เฉพาะทาง
ขณะเดียวกัน ศ. ดร.Miwako ยังจำแนกความรู้เป็น 2 ระดับ คือ ความรู้ด้านวิชาชีพและความรู้ทั่วไป ซึ่งโดยปกติมนุษย์จะมีความรู้ 2 รูปแบบ ได้แก่ ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์และความเชื่อของตน แต่เมื่อเกิดวิกฤตเช่นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนมักจะได้รับความรู้ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญ (ทางการแพทย์) และความรู้ที่มาจากความเชื่อหรือประสบการณ์ส่วนตนเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความรู้และการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพนั้นมีความสำคัญมาก โดย ศ. ดร.Miwako เน้นย้ำว่า ข้อมูลด้านสุขภาพควรได้รับการแปลให้อยู่ในทุกภาษาทั่วโลก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างครบถ้วน และสามารถใช้สื่อสารไปในทางเดียวกัน
ด้าน ดร.Chan Chee ได้เล่าถึงประสบการณ์การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนร่วมกับองค์กรไม่แสวงผลกำไร (non-governmental organization: NGO) อย่าง Citizens Health Initiative ในมาเลเซีย ซึ่งได้ร่วมเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน รวมถึงเพิ่มการนำเสนอความรู้และข้อมูลที่สำคัญเพื่อสร้างความเข้าใจต่อการปฏิรูประบบสาธารณสุขของมาเลเซีย โดยให้กลุ่ม NGOs เป็นแกนกลางให้ความรู้ด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์แก่ประชาชน แต่ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าภาครัฐก็เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถมีความรู้ด้านสุขภาพและคุ้นเคยกับวิธีการเตรียมรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
03 – บทบาทด้านศิลปะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19
ศ. ดร.บุษกร กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในช่วงโควิด-19 ไม่จำกัดเพียงด้านวิถีชีวิต แต่ยังรวมถึงกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรมด้วย จึงเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการผสมผสานความรู้ด้านเทคโนโลยีกับการสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบใหม่ เพื่อให้เชื่อมโยงเข้าถึงผู้คนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากโครงการรูปแบบออนไลน์ของนักศึกษาระดับปริญญาเอก ที่แบ่งปันแนวคิดและวิธีปฏิบัติการด้านศิลปะผ่านการสร้างสรรค์คลิปวิดีโอหรือภาพนิ่งเพื่อเป็นสื่อบันเทิงและให้ความรู้ด้านสุขอนามัยที่เหมาะสมกับชีวิตประจำวันแก่ผู้คน ซึ่งสะท้อนบทบาทของศิลปะในการช่วยเหลือผู้คนในยามวิกฤต
นอกจากนี้ ศ. ดร.บุษกร ยังชี้ให้เห็นว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 แม้การสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะจะมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้นจากวิถีชีวิตที่มีการปรับเปลี่ยนไป แต่ศิลปะนั้นกลับมีบทบาทสำคัญในการรักษาและหล่อเลี้ยงจิตใจของผู้คนระหว่างช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้
ขณะที่ ศ. ดร.Miwako กล่าวเสริมว่า การทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความรู้ในอนาคตนั้น สิ่งสำคัญ คือ การผสมผสานทางวิชาการระหว่างวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และปรัชญา เพราะการแบ่งแยกระหว่างองค์ความรู้ของศาสตร์ต่าง ๆ แม้จะทำให้เกิดวิธีคิดที่ลึกซึ้งเฉพาะทางมากขึ้น แต่ความรู้ที่เกิดขึ้นย่อมแคบลงเนื่องจากจะต้องเลือกศึกษาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างจากระบบการศึกษาปัจจุบัน นักเรียนต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามความถนัดของสาขาวิชาที่ต้องการจะศึกษา อย่างการที่หากเลือกศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ อาจทำให้ไม่สามารถศึกษาศาสตร์ด้านศิลปะและปรัชญาได้มากนัก ซึ่งถือเป็นการตีกรอบความรู้ในแบบเฉพาะด้านที่เกินความจำเป็น
จากมุมมองของเหล่านักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานทั้งด้านสุขภาพ วิทยาศาสตร์ และศิลปะดังที่กล่าวมาข้างต้น ความท้าทายใหม่ ๆ ในหลากมิติที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นว่าในการจะรับมือกับความท้าทายทางด้านบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป การมีความรู้และความเข้าใจข้ามศาสตร์ – ศิลป์อย่างบูรณาการนั้น เป็น “ความรอบรู้ในทุกด้าน” ที่ทุกคนในโลกควรมีให้พร้อมสำหรับการรับมือกับวิกฤตครั้งใหม่ในโลกยุคหลังโควิด-19 นานาวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและที่มักจะเข้ามาท้าทาย “จินตนาการ” และศักยภาพของเราในทุกแง่มุมอยู่เสมอ
เรียบเรียงใหม่จากการสัมมนา – แพรวพรรณ ศิริเลิศ
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง
บรรณาธิการ – เนตรธิดาร์ บุนนาค และ ถิรพร สิงห์ลอ
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่แปดในซีรีส์องค์ความรู้ชุด “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” (Futures Literacy) ในฐานะหนึ่งเครื่องมือสำคัญแห่งยุคสมัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนผ่านปัจจุบันจากฐานราก ร่วมขับเคลื่อนหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่มีความผันผวนและซับซ้อนได้อย่างยั่งยืน (Resilience) โดยซีรีส์ดังกล่าวเป็นบทสังเคราะห์จากงานสัมมนานานาชาติ “Futures Literacy in a Post-Covid-19 Asia: Solidarity and Transformative Learning” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) เมื่อวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการเผยแพร่บทความผ่านช่องทางของ SDG Move ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565
รับฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook: Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U. และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ Chula Futures Literacy Week ได้ที่เว็บไซต์ www.inter.chula.ac.th/futuresliteracy/
อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– วิกฤติทางการเมืองในเมียนมาทำให้ประชากรอีก 3.4 ล้านคนต้องเผชิญกับ ‘ความหิวโหย’ – SDG Move
– “Vaccine Nationalism” ทำให้ประเทศที่รวยจนไม่เท่ากันเข้าถึงวัคซีนได้ไม่เท่าเทียม – SDG Move
– แม้แอฟริกาจะได้รับวัคซีน 1 พันล้านโดส ก็อาจไม่ช่วยบรรเทาวิกฤตโควิด-19 เพราะติดหลายความไม่พร้อมในพื้นที่ – SDG Move
– แผนที่ ‘ดัชนีความเปราะบางโควิด-19’ ช่วยให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ จัดสรรวัคซีนและทรัพยากรไปถึงผู้เปราะบางที่สุดก่อน – SDG Move
– หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนยากจนขั้นรุนแรงเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล – SDG Move
– หลายประเทศผนวกมิติสุขภาพของพลเมืองในการรับมือกับผลกระทบ – โรคที่มาจาก Climate Change แต่อุปสรรคหลักคือขาดเงินทุน – SDG Move
– รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนด การเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นวิจัยและพัฒนาสำคัญของรัฐลำดับต้น – SDG Move
– SDG Updates | ข้อสังเกตต่อ SDGs ของเมียนมา ในวันที่แผนพัฒนาประเทศที่วางไว้อาจหยุดชะงัก
– SDG Updates | รายงานสุขภาพคนไทย 2565 – เปิดข้อมูลสุขภาพ และครอบครัวไทย ใต้วิกฤติโควิด 19
– SDG Updates | ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพจิตผ่านบริบท SDGs โดย The Lancet Commission on Global Mental Health and Sustainable Development
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
แหล่งที่มา:
Panel Session 5: Beyond COVID-19 – Futures for All, Health as Global Commons