ไม่นานมานี้ ก่อนถึงสัปดาห์แห่งการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) วันที่ 5-15 ก.ค. 2565 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กลุ่มภาคประชาสังคมซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหลัก (Major Groups of stakeholders) ที่มีบทบาทสำคัญในการแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมฯ และร่วมทบทวนความคืบหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ยื่นเอกสารแสดงจุดยืน เรียกร้องประเทศสมาชิกสหประชาชาติให้ร่วมกันแสดงความมุ่งมั่นไปสู่การดำเนินการอย่างมีความหมาย ทั้งการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และสร้างหลักประกันทางการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะที่ปัจจุบันโลกประสบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ภาวะสงคราม และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสิ้น
ตามย่อหน้าที่ 85 ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 นั้น นอกจากจะระบุให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหลัก และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและทบทวนความคืบหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีการประชุม HLPF แล้ว ยังสนับสนุนให้ยื่นเอกสารแสดงจุดยืนที่เกี่ยวข้องกับธีมของเวทีการประชุม HLPF “การฟื้นฟูศักยภาพให้กลับมาเข้มแข็งจากโควิด-19 และผลักดันการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ไปสู่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573” และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เป้าหมายที่จะมีการติดตามและทบทวนเชิงลึกในปีนี้ ได้แก่ #SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) #SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) #SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) #SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง #SDG17 (หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ทั้งนี้ เอกสารแสดงจุดยืนดังกล่าวนับเป็นข้อมูลรายงานการประชุมอย่างเป็นทางการที่จะได้รับการแปลเป็น 6 ภาษาราชการของสหประชาชาติอีกด้วย
โดยในปีนี้ จุดยืนหลักของกลุ่มภาคประชาสังคมได้เรียกร้องให้ “ยุติการสู้รบ” (cessation of hostilities) อันเนื่องจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าทั้งหมดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น จึงได้เรียกร้องประเทศสมาชิกสหประชาชาติให้ดำเนินการในประเด็นสำคัญ (โดยสังเขป) ดังนี้
- #SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) – ให้เจตจำนงค์ทางการเมืองและความมุ่งมั่นร่วมกันในโลกเป็นหลักประกันการมีการศึกษาในระบบและนอกระบบที่มีคุณภาพสูง
- #SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) ปรับใช้และดำเนินนโยบายตามความเหมาะสม ตามมาตรการพิเศษแบบชั่วคราว (Temporary special measures: TSM) ที่มุ่งเน้นยุติการเลือกปฏิบัติ (discrimination) และความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ (gender-based violence) รวมถึงการรับรองความหลากหลายทางเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ (reproductive health) และสิทธิของผู้หญิงทุกคน เนื่องจากการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดไว้ภายในปี 2573
- #SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) เพิ่มเงินทุนสำหรับความพยายามในการปรับตัว (adaptation) และเพิ่มการมุ่งเน้นในการป้องกัน กฎระเบียบ และการบังคับใช้แนวทางปฏิบัติทางอุตสาหกรรมและทะเลที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทรัพยากรสำหรับการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change mitigation) และการปรับตัวของชุมชนชายฝั่ง ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDs) และชุมชนห่างไกลอื่น ๆ
- #SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวเร่งรัด การป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก ป่าไม้ พื้นที่ชุมน้ำ และพื้นที่เกษตรกรรม การลำดับความสำคัญของการจัดเก็บและการกักเก็บคาร์บอน (carbon sequestration) และแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน โดยไม่ส่งเสริมการเอารัดเอาเปรียบจากมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
- #SDG17 (หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) สร้างหลักประกันในการเข้าถึงเทคโนโลยีสีเขียวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน (green technologies) อย่างเท่าเทียมกัน โดยตระหนักว่า “นโยบายคุ้มครองทางการค้าเป็นการจำกัดไม่ให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดเข้าถึงได้” รวมถึงว่า เชื่อมต่อการแบ่งแยกของซีกโลกเหนือ/ใต้ ขณะที่ “จัดการกับการแบ่งแยกทางประวัติศาสตร์ การล่าอาณานิคม และการแยกประเทศผู้บริจาค/ผู้รับอย่างเป็นระบบ” โดยการรับฟังและการให้ความร่วมมือมีความสำคัญพอ ๆ กับภาวะการเป็นผู้นำ
นอกจากนี้ เอกสารแสดงจุดยืนยังได้รายงานต่อว่า “การที่จะบรรลุผลการลงมือทำอย่างบูรณาการข้ามภาคส่วน (cross-sectoral) รัฐบาลระดับชาติต้องให้การสนับสนุนโยบายแบบข้ามสายงานตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น” และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มิใช่ภาครัฐ มีสิทธิในการตัดสินใจและดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต่อไป
ติตตามข่าวสาร HLPF 2022 ได้ที่ : https://hlpf.un.org/home
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://hlpf.un.org/2022
และ VNRs ที่ : https://hlpf.un.org/vnrs
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/category/sdg-news/hlpf-vnr/
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
– NGOs Urge “Cultural Coherence,” “Cultural Accountability” to Achieve SDGs | News | SDG Knowledge Hub | IISD
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on กรกฎาคม 11, 2022