Site icon SDG Move

Director Notes: 22: การนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นและการฟื้นตัวจากโควิด-19 – คำกล่าวของผู้อำนวยการ SDG Move สำหรับกิจกรรมคู่ขนานของ HLPF 2022 ที่จัดโดยรัฐบาลมาเลเซีย

สวัสดีครับทุกท่าน

ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการประชุม High-Level Political Forum on Sustainable Development (HLPF) ที่องค์การสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ต้องดำเนินการแบบออนไลน์แบบ 2 ปีติดต่อกัน ปีนี้ ผมในฐานะผู้อำนวยการของ SDG Move ได้รับเชิญจากรัฐบาลมาเลเซียให้ร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรมคู่ขนาน (side event) ของ HLPF ปี 2022 นี้ ในหัวข้อ Building Back Better In Localising Sdgs, A Case Study Of The Malaysia And Three South East Asian Country Experiences Of The Partnership Model” ที่จัดโดย Economic Planning Unit และ กระทรวงการต่างประเทศของประเทศมาเลเซีย โดยความร่วมมือกับ All Party Parliamentary Group Malaysia on SDGs, Institute of Strategic & International Studies (ISIS Malaysia) และ Malaysia CSO SDG Alliance ในวันที่ 11 กรกฎาคม เวลา 18.30 น. (เวลาประเทศไทย) เป็นต้นไป การได้รับเชิญนี้เป็นเกียรติกับ SDG Move เป็นพิเศษในแง่ที่ว่า เราได้รับเชิญอันเนื่องมาจากการที่ผู้จัดทางฝั่งมาเลเซียได้ติดตามผลงานของ SDG Move แล้วจึงได้เชิญให้เราเข้าร่วมในงานนี้ หาได้เป็น connection ส่วนตัวแต่อย่างใด 

ความน่าสนใจของกิจกรรมคู่ขนานนี้คือ การที่คณะผู้จัดสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศมาเลเซียเมื่อเทียบกับประเทศไทย ในประเทศไทยนั้น เรายังไม่เห็นการขยับตัวของนักการเมืองในเรื่อง SDGs แต่อย่างใด ในขณะที่ทางมาเลเซียมีกลุ่มของสมาชิกรัฐสภาจากทุกพรรคที่มาทำงานเรื่อง SDGs แล้ว นอกจากนี้มาเลเซียยังมีความเข้มแข็งในภาคส่วนองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organizations: CSOs) ด้วยที่มีการรวมตัวกันเป็น Malaysia CSO SDG Alliance ซึ่งการสร้างความร่วมมือภายในภาคการเมืองและภาค CSOs และการสร้างความร่วมมือข้ามภาคส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคการเมืองและภาคองค์กรภาคประชาสังคมสะท้อนความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนของมาเลเซียอย่างมาก ในขณะที่ประเทศไทยเองกำลังมุ่งไปในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะมุมมองที่รัฐบาลมีต่อภาคประชาสังคมในลักษณะที่จะมาควบคุมเข้มงวดมากกว่าอำนวยความสะดวกให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อน พร้อมทั้งโดยเปรียบเทียบกับภาคส่วนอื่นอย่างภาคเอกชนแล้ว ภาคประชาสังคมขาดพื้นที่ทางนโยบาย (policy space) ในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่พวกเขาได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะมี SDGs เสียด้วยซ้ำ 

สำหรับบทบาทของผมในกิจกรรมนี้ คือการแชร์ประสบการณ์ของประเทศไทย ซึ่งจะขออนุญาตแปลบทพูดเป็นภาษาไทยไว้ด้านล่างนี้ โดยภาพรวมคือ ต้องการจะแบ่งปันเรื่องราวการขับเคลื่อน SDGs ที่น่าสนใจเพื่อการรับมือกับโควิด-19 และช่วยให้ผู้คนในพื้นที่ฟื้นตัวได้ โดยอาศัยตัวอย่างของ เทศบาลนครยะลา และกล่าวถึงข้อจำกัดและสิ่งที่จะต้องทำต่อไปในอนาคตเพื่อการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูสังคมเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19 และการขับเคลื่อน SDGs ในครึ่งหลังก่อนถึงปี ค.ศ. 2030  


“อรุณสวัสดิ์ครับทุกท่าน ผมชื่อ ชล บุนนาค เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ SDG Move ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้ร่วมในกิจกรรมนี้

ประเทศไทยประสบกับผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ภาคเศรษฐกิจแทบทุกภาคได้รับผลกระทบจากการระบาดนี้ ภาคบริการ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและบริการทั่วไปได้รับผลกระทบมากกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น คนยากจน แรงงานข้ามชาติ และกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ที่งานของเขาไม่สามารถย้ายมาอยู่บนออนไลน์นั้นได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแย่ลง 

ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะจัดโครงการสวัสดิการและการชดเชยให้กับกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า โครงการเหล่านี้อาจไม่สามารถเข้าถึงได้โดยกลุ่มที่เปราะบางที่สุด และกลุ่มที่จนที่สุดของคนจน โดยเฉพาะในเขตห่างไกล 

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการฟื้นตัวอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ SDGs ไม่สามารถจะบรรลุได้ด้วยความพยายามของรัฐบาลกลางเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความพยายามของท้องถิ่นเพื่อเอื้อมไปให้ถึงคนกลุ่มเหล่านี้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น

หนึ่งในตัวอย่างของแนวปฏิบัติที่ดีเยี่ยมจากประเทศไทยคือ กรณีของเทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ในภาคใต้ชายแดนของไทย เทศบาลนี้ นำโดย ท่านนายกเทศบาล พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ได้ริเริ่มนโยบายมากมายที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการรับมือกับโควิด-19 และทำให้แน่ใจว่าผู้คนในเมืองจะได้รับการฟื้นฟูอย่างครอบคลุม

ในการรับมือกับโควิด-19 เทศบาลนครยะลาจัดการและติดตามสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จัดหาวัคซีนอย่างแข็งขัน และตั้งกองทุนโควิดเพื่อยะลาขึ้นโดยทรัพยากรทางการเงินของกองทุนนี้มาจากการระดมทุนของภาคเอกชนในท้องถิ่น เทศบาลยังได้สร้างแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ประกอบการในท้องถิ่นและผู้บริโภคในท้องถิ่นในช่วงโควิด-19 ระบบส่งของของแพลตฟอร์มนี้ก็จ้างงานจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาด เทศบาลใช้ Line Open Account ในการรับฟังเสียงของคนในเมือง รับเรื่องร้องขอและคำบ่นของผู้คน และเพื่อให้นโยบายนี้สามารถทำงานได้ เทศบาลได้จัดให้มี Wifi ฟรีสำหรับทั้งเมืองเป็นโครงสร้างพื้นฐาน 

กรณีของเทศบาลนครยะลาได้ให้บทเรียนกับเราหลายอย่าง ประการแรก สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบรรลุการพัฒนาที่ครอบคลุมได้หากมีการออกแบบและจัดการอย่างเหมาะสม ประการที่สอง รัฐบาลท้องถิ่นควรมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้จัดการแพลตฟอร์ม และผู้กำกับกติกาที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่นตั้งรับปรับตัวได้ ประการที่สาม รัฐบาลท้องถิ่นควรเล่นบทคนกลางในการสร้างความร่วมมือข้ามภาคส่วนเพื่อระดมทรัพยากรจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา ประการที่สี่ การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เข้าถึงได้และฟรีมีความสำคัญอย่างยิ่ง 

ยังมีอีกหลายเมืองที่กำลังถูกสร้างให้ยั่งยืน ครอบคลุม และตั้งรับปรับตัวได้มากขึ้นด้วยความพยายามของเทศบาลต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่เพียงแต่เฉพาะในยะลาเท่านั้น องค์กรตัวกลางอย่างสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมเทศบาลทั้งหมดและสร้างพื้นที่เรียนรู้ในการขยายแนวปฏิบัติที่ดีไปยังพื้นที่อื่น ทำให้ความร่วมมือข้ามพื้นที่เติบโตและนวัตกรรมถูกสร้างขึ้นมาได้

บทบาทของเทศบาลในการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยยังคงมีจำกัด กระบวนการกระจายอำนาจได้ถูกหยุดลงนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 การเลือกตั้งเทศบาลครั้งล่าสุดได้กลับมามีการดำเนินการอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2564) และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปีพ.ศ. 2565 ที่เพิ่งเกิดขึ้น มีประเด็น SDGs หลายประเด็นยังอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานส่วนภูมิภาคและระดับจังหวัดของรัฐบาลกลาง ดังนั้นหากจะนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ในบริบทประเทศไทย ความร่วมมือที่แข็งขันระหว่างเทศบาลกับหน่วยงานส่วนภูมิภาคและจังหวัดของรัฐบาลกลางมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา รัฐบาลพยายามนำนโยบายเศรษฐกิจจากส่วนกลางมาดำเนินการในท้องถิ่นนี้อันอาจทำให้เสียวิถีการดำเนินชีวิตของคนท้องถิ่นและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ได้ ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับหลักการของ SDGs 

ดังนั้นในการก้าวไปข้างหน้า มี 3 สิ่งที่ควรดำเนินการ

ประการแรก เราต้องการแนวทางการทำงานด้าน SDGs แบบทั้งรัฐบาล (whole-of-government approach) และแบบทั้งสังคม (whole-of-society approach) รัฐบาลต้องรับเอา SDGs เข้ามาดำเนินการทั้งหมด ไม่เฉพาะเป้าหมายและเป้าหมายย่อยเท่านั้น แต่รวมถึงหลักการความยั่งยืน (sustainability) ความครอบคลุม (inclusivity) และความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (resilience) นโยบายภาครัฐทั้งหมดควรจะต้องสอดคล้องกับหลักการเหล่านั้น นอกจากนี้แพลตฟอร์มสำหรับการให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในกระบวนการเชิงนโยบายของ SDGs ยังเป็นที่ต้องการอีกด้วย

ประการที่สอง เจ้าหน้าที่ระดับภาคและจังหวัดของรัฐและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลต้องการกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพให้เข้าใจความรู้พื้นฐานและหลักการของ SDGs และแนวคิดเกี่ยวกับการนำ SDGs ไปใช้ประโยชน์

ประการที่สาม เราต้องการชุดตัวชี้วัดที่มีความหมายกับท้องถิ่น เที่ยงตรง และทันการณ์ ซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายย่อยของ SDGs เราต้องการระบบแสดงผลข้อมูล (dashboard) ซึ่งทำให้เห็นสถานะของตัวชี้วัดเหล่านั้น ทั้งตัวชี้วัดและระบบแสดงผลข้อมูลควรจะช่วยให้ทุกคนที่กำลังขับเคลื่อน SDGs เข้าใจว่าการกระทำของพวกเขามีส่วนในสถานการณ์ความยั่งยืนของท้องถิ่นอย่างไร ทั้งด้านบวกและด้านลบ เพื่อให้พวกเขาได้ปรับพฤติกรรมให้สนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณครับ”

Author

  • ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

Exit mobile version