การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี 2565 ตามตารางกำหนดการวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม (ตามเวลานครนิวยอร์ก) มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การนำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNR) ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations Secretariat) ได้เผยแพร่บันทึกรวบรวมสารสำคัญ (main messages) สำหรับรายงาน VNR จาก 45 ประเทศ ที่จะนำเสนอการประชุมเวทีหารือ HLPF ครั้งนี้ ซึ่งการนำเสนอ VNR จะช่วยสะท้อนการดำเนินการเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลกให้ชัดขึ้น
บันทึกดังกล่าว คือ บันทึก (E/HLPF/2022/5) ของสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ ที่เชิญให้ประเทศต่างๆ ร่วมเตรียมความพร้อมในการนำเสนอ VNR เพื่อเอื้ออำนวยในการแบ่งปันประสบการณ์ระดับชาติ ความสำเร็จ ความท้าทาย และบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำงานขับเคลื่อน SDGs ให้สำเร็จของแต่ละประเทศ ซึ่งได้เผยแพร่ “สารสำคัญ” ออกมาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เป็นภาพรวมโดยสังเขปของเอกสารทบทวนการดำเนินงานพัฒนาที่ครอบคลุมและครบถ้วน เพื่อรายงานความพยายามบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่าง ๆ ที่จะนำเสนอในการประชุม HLPF
จึงขอเลือกหยิบยกตัวอย่างจากบันทึกสารสำคัญของ 45 ประเทศ ในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (โดยสังเขป) ของประเทศต่าง ๆ ดังนี้
- ประเทศสาธารณรัฐบอตสวานา (Botswana) ได้เข้าร่วมนำเสนอ VNR เป็นครั้งที่สอง รายงานว่า จากการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน #SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) นั้น แม้รายจ่ายสาธารณะในด้านการศึกษาจะอยู่ที่ 7.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูง แต่ก็มีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาปฐมวัยและระดับอุดมศึกษามากยิ่งขึ้น และ #SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) ถึงแม้จะดำเนินการประสบความสำเร็จ ในการปรับปรุงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ (sexual and reproductive health) ของผู้หญิง ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ (gender-based violence) และการแสวงประโยชน์ทางเพศ (sexual exploitation) แต่ความท้าทายในด้านของการจ้างงานและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงยังคงมีอยู่
- ประเทศศรีลังกา ระบุว่า แม้จะมีความถดถอย จากเหตุระเบิดในประเทศศรีลังกาปี 2562 การระบาดของโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจจากหนี้ต่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่นั้น การดำเนินการตามมาตรการนโยบายเพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาปี 2573 (Agenda 2030) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงดำเนินต่อไป โดยประเทศศรีลังกา ได้จัดตั้งสภาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Council of Sri Lanka (SDC) ขึ้น รวมถึงเพิ่มความพร้อมใช้งานของข้อมูลในตัวชี้วัด (indicators) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก 46 ตัวชี้วัดในปี 2560 เป็น 104 ตัวชี้วัดในปี 2564 และได้เน้นย้ำถึงเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (blue economy) การดำเนินงานทางเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน และ เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) การยกระดับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความเท่าเทียมในสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงความพยายามในการเร่งการเปลี่ยนแปลงฐานความรู้และการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี
- ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เข้าร่วมนำเสนอ VNR เป็นครั้งที่สาม ได้รายงานอ้างอิงตามการประเมินพื้นฐานจากความคืบหน้าที่ทำได้ระหว่างปี 2561 ถึง 2565 ระบุว่า ความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐาน และความสามารถในการแข่งขัน และการทำงานร่วมกันระหว่าง SDGs และเป้าหมายต่างๆ มีความก้าวหน้าที่ดี อย่างไรก็ตาม จากยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 (ฉบับใหม่) ที่รัฐบาลได้นำมาใช้ในเดือนมิถุนายนปี 2564 นั้น ยังคงมีความจำเป็นอย่างมากในการดำเนินการและประสานงานร่วมกันด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน สภาพภูมิอากาศ พลังงาน และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม (equal opportunities) และสังคมสมานฉันท์ (social cohesion)
ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงความสำเร็จ ความท้าทาย และบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำงานบางส่วนเท่านั้น ยังคงมีความท้าทายอีกมากมายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ โดยสำหรับปีนี้มี 44 ประเทศที่ตกลงเข้าร่วมอย่างเป็นทางการในการนำเสนอรายงานการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติโดยสมัครใจ (VNR) ในการประชุม HLPF 2022 จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่าแต่ละประเทศ จะมีรายงานเผยแพร่การนำเสนอที่สมบูรณ์ออกมาเช่นไรในปีนี้
อนึ่ง แม้ประเทศไทยได้เข้าร่วมการนำเสนอ VNR ในการประชุม HLPF 2021 แต่มิได้เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สามารถติดตามความสำเร็จ ความท้าทาย และบทเรียนจากการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย โดย ผศ. ชล บุนนาคได้จากเวทีคู่ขนาน (side event) โดยองค์กรภาคประชาสังคมของประเทศมาเลเซียได้ ภายใต้การนำเสนอในหัวข้อ “Building Back Better In Localising Sdgs, A Case Study Of The Malaysia And Three South East Asian Country Experiences Of The Partnership Model” ในวันที่ 11 กรกฎาคม เวลา 18.30 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ผ่านมา โดยสามารถดูรายละเอียดงานประชุมได้ที่นี่ และติดตามการแบ่งปันประสบการณ์จากบทความได้ที่นี่
ติตตามข่าวสาร HLPF 2022
ได้ที่ : https://hlpf.un.org/home
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://hlpf.un.org/2022
และ VNR ที่ : https://hlpf.un.org/VNR
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/category/sdg-news/hlpf-vnr/
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
– VNR | High-Level Political Forum 2022
– E/HLPF/2022/5 Economic and Social Council
– VNR 2022 Main Messages for 45 Countries Available | News | SDG Knowledge Hub | IISD
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย