ระหว่างการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี 2565 ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs – UN DESA) ได้เผยแพร่รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2565 (Sustainable Development Goals Report) ย้ำเตือนถึงวิกฤติที่เกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกัน ที่ถูกชักนำโดยโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้ง เป็นเหตุให้ความก้าวหน้าในการขจัดความยากจนและความหิวโหย การปรับปรุงสุขภาพและการศึกษา รวมถึงการให้บริการขั้นพื้นฐานเกิดการก้าวถอยหลัง ซึ่งเป็นผลให้วาระการพัฒนา 2030 (The 2030 Agenda) ตกอยู่ในภาวะวิกฤติอันตราย
รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นรายงานอย่างเป็นทางการฉบับเดียวขององค์การสหประชาชาติที่ติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับวาระการพัฒนา 2030 ทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดย UN DESA ร่วมมือกับระบบสถิติของสหประชาชาติ (UN Statistical System) โดยอาศัยข้อมูลและการวินิจฉัยของฐานข้อมูลตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก (Global SDG Indicators Database) และฐานข้อมูลนี้ประกอบด้วยตัวข้อมูล (data) และข้อมูลอภิพันธุ์ (metadata) ที่เกี่ยวกับตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ
ตามที่ Yongyi Min หัวหน้ากลุ่มติดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Monitoring Section) แผนกสถิติของ UN DESA และหัวหน้าทีมผู้เขียนรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2565 ได้บรรยายถึง “ภาพแห่งความสิ้นหวัง” ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2573 และ “ภาวะการถูกทำให้ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างร้ายแรง” จากหลายวิกฤตการณ์ที่ซ้อนทับกัน ซึ่งมาขัดขวางความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปหลายปี และผลักส่งคนนับล้านเผชิญความหิวโหยและความยากจน
ข้อค้นพบที่สำคัญบางประการของรายงาน ได้แก่ :
- SDG 1: คาดการณ์ว่าผู้คนประมาณ 657 ถึง 676 ล้านคนดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้นในปี 2565 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนเกิดโรคระบาดที่ระบุไว้ 581 ล้านคน
- SDG 2: ประมาณหนึ่งในสิบของผู้คนทั่วโลกกำลังประสบความทุกข์ทรมานจากความหิวโหย โดยในปี 2563 เพียงปีเดียวมีคนกว่า 161 ล้านคนที่ตกอยู่ในความหิวโหยเรื้อรัง
- SDG 3: การระบาดของโควิด-19 กำลังคุกคามทศวรรษแห่งความก้าวหน้าด้านสุขภาพทั่วโลก ลดอายุขัยของโลกจากที่เคยคาดการณ์ความคุ้มครองในการสร้างภูมิคุ้มกันขั้นพื้นฐาน รวมถึงทำให้เพิ่มขึ้นซึ่งความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และการเสียชีวิตจากวัณโรคและมาลาเรีย
- SDG 4: เด็กกว่า 147 ล้านคนไม่ได้เรียนในชั้นเรียน (in-person instruction) นับเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งจากสถิติปี 2563-2564 และนักเรียนกว่า 24 ล้านคนอาจไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีก
- SDG 5: ในปี 2562 แม้การจ้างงานผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 39 ของการจ้างงานทั้งหมด ทว่าในปี 2563 การจ้างงานกลับหายไปมากถึงร้อยละ 45 โดยที่หลายคนยังต้องแบกรับภาระงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (unpaid care work) ขณะที่ความรุนแรงในครอบครัวก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น
- SDG 6: การบรรลุเป้าหมายด้านน้ำดื่ม การสุขาภิบาล และสุขอนามัยภายในปี 2573 จำเป็นต้องมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นสี่เท่า
- SDG 7: ความก้าวหน้าในการใช้พลังงานไฟฟ้าชะลอตัวลง โดยเมื่อพิจารณาตามแนวโน้มในปัจจุบัน คาดว่าในปี 2573 คนกว่า 679 ล้านคนอาจไม่มีไฟฟ้าใช้
- SDG 8: เด็ก 1 ใน 10 คนถูกใช้แรงงาน ซึ่งเฉพาะปี 2563 แรงงานเด็กทั้งหมดมีมากกว่า 160 ล้านคน
- SDG 9: การผลิตทั่วโลกฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (least developed countries: LDCs) กลับถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
- SDG 10: การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคสมัยของคนรุ่นนี้
- SDG 11: การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะต้องให้ความสำคัญกับคนที่อาศัยในสลัมกว่า 1 พันล้านคน
- SDG 12: กว่าร้อยละ 13.3 ของอาหารในโลกต้องสูญเสียไปช่วงหลังการเก็บเกี่ยวและก่อนถึงตลาดค้าปลีก และอีกร้อยละ 17 ของอาหารทั้งหมดถูกทิ้งเป็นขยะเมื่อถึงขั้นของการบริโภค
- SDG 13: การปล่อยพลังงานที่เกี่ยวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในปี 2564 นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา
- SDG 14: ในปี 2564 พลาสติกมากกว่า 17 ล้านเมตริกตันถูกปล่อยสู่มหาสมุทร ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าหรือสามเท่าภายในปี 2583
- SDG 15: ทุก ๆ ปีมีป่าไม้ถูกทำลายกว่า 10 ล้านเฮกตาร์ โดยเกือบ ร้อยละ 90 ของการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกนั้นมีสาเหตุมาจากการขยายตัวทางเกษตรกรรม
- SDG 16: ในขณะที่อัตราการฆาตกรรมทั่วโลกลดลงร้อยละ 5.2 ระหว่างปี 2558 – 2563 แต่หนึ่งในสี่ของประชากรโลกยังคงอาศัยอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง
- SDG 17: ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (official direct assistance: ODA) ทั้งหมด มีสูงถึง 177.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่มาจากความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แต่ความช่วยเหลือเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2563 ลดลงมากกว่าร้อยละ 18
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนรายงานฉบับนี้ António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีความพยายามในการสนับสนุนอย่างเร่งด่วนสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เป็นประโยชน์สำหรับคนทุกคน รวมถึงการสร้างหลักประกันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลเพิ่มขึ้น ขณะที่ Liu Zhenmin รองเลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจและสังคม สะท้อนถึงสารดังกล่าว โดยสรุปว่าแผนการดำเนินการเพื่อความอยู่รอด หรือ “road map for survival” นั้นมีสามขั้นตอน ได้แก่ หนึ่ง ยุติความขัดแย้งทางการทหารและเริ่มดำเนินการผ่านวิธีการทางการทูตและสันติภาพ สอง ใช้แนวทางการพัฒนาที่เน้นการใช้คาร์บอนต่ำ การฟื้นคืนอย่างมีภูมิคุ้มกัน และครอบคลุมคนทั้งหมด และสาม ปฏิรูปโครงสร้างระบบทางการเงินและหนี้ระหว่างประเทศอย่างทั่วถึง
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– UNDESA ออกรายงาน ‘SDGs Report 2021’ พบผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกเพิ่มขึ้นในรอบ 20 ปี
– สำนักเลขาธิการ UN รวบรวมสารสำคัญ VNR ปี 2022 นำเสนอความท้ายทายในการเร่งบรรลุ SDGs ของ 45 ประเทศ
– SDGs in Focus for HLPF 2022: โลกหลังโควิดมีเด็กหญิงราว 11 ล้านคนเสี่ยงไม่ได้เรียน ต้องเร่งสร้างคุณภาพทางการศึกษาที่มีความเท่าเทียมทางเพศ
– SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report 2022 และ SDG Index 2022
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
SDGs Report 2022 Delivers “Reality Check” on Reversal of Progress (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on กรกฎาคม 19, 2022