กระทรวง พม. นำเสนอสถานการณ์ SDG 5 ของประเทศไทย ในเวทีประชุม HLPF พร้อมเน้นย้ำการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่

สัปดาห์ของการหารือในเวทีประชุม HLPF ประจำปี 2565 ได้ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในปีนี้ สำหรับความเคลื่อนไหวของประเทศไทย นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมการประชุมรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ หรือ รายงาน VNR (Voluntary National Reviews) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยได้นำเสนอถึงตัวอย่างการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในระดับพื้นที่ และผลการขับเคลื่อนการสร้างความเท่าเทียมทางเพศท่ามกลางวิกฤตโควิด – 19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

สำหรับการนำเสนอรายงาน VNR ดังกล่าว เป็นเวทีสำหรับทบทวนแลกเปลี่ยนความความก้าวหน้า ประสบการณ์ความสำเร็จ ความท้าทาย และแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศสมาชิกสหประชาชาติในการทำงานเพื่อบรรลุ SDGs ของประเทศต่าง ๆ โดยปีนี้ประเทศไทยมิได้มีชื่อเข้าร่วมนำเสนออย่างเป็นทางการ แต่กระนั้น กระทรวง พม. ก็ได้มีส่วนเข้าร่วมในการประชุม และปีนี้ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการนำเสนอรายงานอย่างเป็นทางการมีทั้งหมด 44 ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศมีการกำหนดนโยบายการขับเคลื่อน SDGs และการนำไปปฏิบัติที่หลากหลายตามบริบทของแต่ละประเทศ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เข้าร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ (gender equality) ของประเทศไทย ประจำปี 2565 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีปลัดกระทรวง พม. นางพัชรี อาระยะกุล เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งได้ระบุในการประชุมว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการส่งเสริมสิทธิสตรีและสร้างความเท่าเทียมทางเพศหลายประการ อาทิ มาตรการการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศ การฟื้นฟูเยียวยาจากการเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การตั้งศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึง “นโยบายการศึกษาเพื่อทุกคน” สำหรับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมของผู้หญิงและเด็ก พร้อมทั้งมีการดำเนินนโยบายและโครงการเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศในระดับพื้นที่ อาทิ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การสร้างความตระหนักรู้ด้านความเท่าเทียมทางเพศผ่านกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน การจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อให้สตรีสามารถมีอาชีพและรายได้ ตลอดจนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการและความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนในครอบครัว สังคม และชุมชน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ภายในปี 2573 โดย “ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 

นอกจากนี้ การขับเคลื่อน #SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ ที่ผ่านมา กระทรวง พม. ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบและประสานงานหลักในการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว และมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายย่อยอื่น ๆ ภายใต้ 17 เป้าหมายหลัก รวมถึงมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงาน VNR ของประเทศไทยประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ก็ได้นำเสนอตัวอย่างการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ด้วย

กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของการบรรลุ SDGs อยู่ที่ท้องถิ่นและชุมชน เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น การรับฟังเสียงของคนในพื้นที่จึงเป็นการสะท้อนปัญหาและนำมาซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตรงเป้าที่สุด โดยแนวทางการขับเคลื่อน SDGs ของกระทรวง พม. ในระยะต่อไปจึงยังคงมุ่งเน้นการนำบริบทเชิงพื้นที่มาผนวกกับแผนการดำเนินงาน หรือ Localizing SDGs อีกทั้งมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนแบบเป็นหุ้นส่วน เพื่อบรรลุ SDGs ให้ได้ภายในปี 2573”

ปลัดกระทรวง พม. นางพัชรี อาระยะกุล

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการนำเสนอในเรื่องการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ (Localizing SDGs) นั้น ถือเป็นกระบวนการที่นำเอาบริบทเชิงพื้นที่เข้าไปผนวกในยุทธศาสตร์การดำเนินงานเรื่อง SDGs ของประเทศ และในระดับภายในประเทศ (sub national) ทำให้กระบวนการนี้มีความสำคัญ เนื่องจากเป้าประสงค์ของ SDGs แทบทุกข้อนั้นล้วนแล้วแต่มีส่วนเชื่อมโยงกับความรับผิดชอบของหน่วยงานในระดับท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
จำนวนผู้หญิง = ผู้ชายในที่ทำงานยังไม่เพียงพอ: สำรวจ 6 ข้อที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายในที่ทำงาน – SDG Move 
ญี่ปุ่นพิจารณาให้บริษัทระบุข้อมูลรายได้เฉลี่ยตามเพศในรายงานประจำปี เพื่อลดช่องว่าง – สร้างความเท่าเทียม – SDG Move 
ช่องว่างรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ (Gender Pay Gap) มีทั้งย่ำแย่ลง ดีขึ้นแต่ยังใช้เวลานานเกินไป และถูกกระทบเพราะโควิด-19 – SDG Move 
– Global Gender Gap Report 2021 เผย 10 ประเทศที่ดีที่สุดในการเป็นผู้หญิง – SDG Move
“WTO” เปิดอภิปรายความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล อาจพลิกผันสู่การสร้างความไม่เท่าเทียม – SDG Move  
หนังสือ “แผนที่นำทางเพื่อการพัฒนา SDGs ในระดับพื้นที่: การดำเนินการ และการติดตามผล” (ฉบับย่อ) – SDG Move

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผ่านการให้บริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG16ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา:
– ปลัด พม. เสนอผลงานสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ท่ามกลางวิกฤตโควิด – 19 ของไทย พร้อมจับมือสมาชิกสหประชาชาติมุ่งบรรลุ SDGs ในปี 2030 
ปลัด พม.ย้ำท้องถิ่น-ชุมชนหัวใจสำคัญการทำงานเชิงพื้นที่ เน้นความร่วมมือแบบภาคีหุ้นส่วน มุ่งบรรลุ SDGs ภายในปี 2573 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น