การลักพาตัวเด็กจากเหตุสงครามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชวนอ่าน Guidance Note on Abduction – บันทึกแนวทางป้องกันเเละยุติการลักพาตัวเด็กฉบับใหม่ของ UN

เเม้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยไม่ได้เผชิญกับภาวะสงครามหรือความขัดเเย้งระหว่างรัฐถึงขั้นใช้อาวุธ เเละการลักพาตัวเด็กในสงครามก็ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้น กระนั้นหากพิจารณาจากสถานการณ์ความรุนเเรงในพื้นที่จังหวัดชายเเดนภาคใต้ก็พบว่ามีการละเมิดสิทธิเด็กอย่างร้ายเเรงในรูปเเบบของการใช้เด็กปฏิบัติการก่อความไม่สงบโดยฝ่ายกองกำลังของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani: BRN) ซึ่งจากรายงาน “ภาคใต้ของประเทศไทย-การนำเข้าร่วมและการใช้เด็กโดยกลุ่มติดอาวุธ” ที่ ชายด์โซวเจอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (Child Soldiers International) ร่วมจัดทำกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า “จากการสัมภาษณ์อดีตสมาชิกและสมาชิกปัจจุบันของกลุ่ม BRN จำนวน 26 คน  พบว่ามีอย่างน้อย 13 คนที่เข้าร่วมขบวนการขณะที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ 5 คนซึ่งได้เข้าร่วมในช่วงปี 2554-2555 ในจังหวัดนราธิวาสและยังคงปฏิบัติการให้กับกลุ่ม BRN ในช่วงปลายปี 2556”

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งซึ่งภาครัฐเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งหาเเนวทางป้องกันเเละยุติให้ได้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็กอย่างร้ายเเรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 องค์การสหประชาชาติก็ได้เผยแพร่บันทึกแนวทางป้องกันเเละยุติการลักพาตัวเด็กฉบับใหม่ (Guidance Note on Abduction) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญภาคสนามในการปกป้องเด็กที่ถูกลักพาตัวเเละเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงอื่น ๆ รวมถึงการนำเข้าร่วมเเละการใช้เด็กเป็นทหารหรือปฏิบัติการให้กลุ่มติดอาวุธด้วย

เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การลักพาตัวเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการทหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2563 เหตุการณ์การลักพาตัวที่ได้รับการยืนยันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 20 ในปี 2564 โดยโซมาเลีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซีเรีย บูร์กินาฟาโซ และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำทะเลสาบชาด (Lake Chad) พบจำนวนเด็กที่ถูกลักพาตัวมากที่สุด ซึ่งแม้ว่าเด็กที่ถูกลักพาตัวส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชายแต่ปัจจุบันเด็กผู้หญิงก็ตกเป็นเป้าหมายในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เช่นนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างหลักประกันว่าผู้ที่ทำงานด้านการเฝ้าติดตาม รายงาน และการสนับสนุนเกี่ยวกับประเด็นนี้ทั้งหมดจะมีเครื่องมือและแนวทางที่แข็งแกร่งสำหรับการยุติและป้องกันการลักพาตัวเด็กตามเป้าประสงค์ของคณะมนตรีความมั่นคง

นอกจากเรื่องการลักพาตัว บันทึกแนวทางฉบับนี้ยังระบุถึงการละเมิดอย่างร้ายแรงอื่น ๆ (six grave violations) ที่มีความเกี่ยวโยงกับการลักพาตัวด้วย เนื่องจากเด็กมักต้องทนกับการละเมิดที่ร้ายแรงในช่วงเวลาของการลักพาตัว และมักถูกนำเข้าร่วมเป็นทหาร ฆ่า ทำให้พิการ หรือทารุณกรรมทางเพศ ซึ่งการละเมิดอย่างร้ายแรงดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ มีทั้งสิ้น 6 ลักษณะ ได้แก่ การสังหารและการทำให้เด็กพิการ (killing and maiming of children), การนำเข้าร่วมหรือใช้เด็กเป็นทหาร ( recruitment or use of child soldiers), ความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก (sexual violence against children), การลักพาตัว (abduction), การโจมตีโรงเรียนหรือโรงพยาบาล (attacks against schools or hospitals) และสุดท้าย การปฏิเสธการเข้าถึงด้านมนุษยธรรม (denial of humanitarian access)

หัวข้อสำคัญที่ปรากฏในบันทึกแนวทางป้องกันเเละยุติการลักพาตัวเด็กข้างต้น ประกอบด้วย

  • บทนำ (introduction) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าประสงค์ของบันทึกแนวทางฉบับนี้ อาทิ สร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับนิยามของการลักพาตัว / เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่กระบวนการติดตามและการรายงานการลักพาตัว เป็นต้น
  • ภูมิหลัง (background) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปหรือต้นสายปลายเหตุของการจัดทำบันทึกแนวทาง รวมถึงเกณฑ์พิจารณาสำหรับการติดตามและรายงานผลเกี่ยวกับการละเมิดเด็กอย่างร้ายแรง ซึ่งประกอบด้วย การละเมิดอย่างร้ายแรงต่อเด็กจะต้องกระทำในบริบทและเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการทหาร / เหยื่อหรือผู้รอดชีวิตต้องเป็นเด็ก คือมีอายุต่ำกว่า 18 ปี / ผู้กระทำผิดต้องเป็นสมาชิกหรือคนของคู่ฝ่ายที่มีความขัดแย้ง อาทิ สมาชิกของกองกำลังติดอาวุธหรือกลุ่มติดอาวุธ เป็นต้น
  • นิยามในเชิงปฏิบัติของ “การลักพาตัว” (abduction) ในบริบทของกลไกการติดตามและรายงานผล (Monitoring and Reporting: MRM) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญของนิยามในเชิงปฏิบัติของคำว่า “การลักพาตัว” / องค์ประกอบอื่น ๆ ที่พิจารณาภายใต้บริบทของกลไกการติดตามและการรายงานผล / การจำแนก “การลักพาตัว” จาก “การลิดรอนเสรีภาพ” (deprivation of liberty)
  • กลไกการติดตามและรายงานผลการลักพาตัวเด็ก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของข้อมูลที่ควรรวบรวมเมื่อต้องติดตามและรายงานการลักพาตัว / การเกี่ยวโยงการลักพาตัวกับการละเมิดอย่างร้ายแรงอื่น ๆ ต่อเด็ก
  • การเจรจาและสนับสนุนฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเพื่อยุติและป้องกันการลักพาตัวเด็ก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางทั่วไปเพื่อสนับสนุนการยุติและป้องกันการลักพาตัวเด็กโดยฝ่ายที่ขัดแย้ง และแนะนำถึงบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมของรัฐบาล กองกำลังติดอาวุธ ตลอดจนกลุ่มติดอาวุธ รวมทั้งเสนอมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการลักพาตัวเด็ก
  • ปัจจัยที่พึงพิจารณาเพื่อนำไปสู่การยุติและป้องกันการลักพาตัวเด็กด้วยกระบวนการที่สันติ รวมทั้งการเจรจาและทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพ อาทิ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการลักพาตัวเด็กโดยคู่ขัดแย้งของสงคราม เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการเจรจา / ติดตามการปล่อยตัวเด็กที่ถูกลักพาตัวโดยให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามข้อตกลงสันติภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ การลักพาตัวเด็กเพื่อตอบสนองความขัดแย้งกันทางการทหารนั้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และส่งผล อย่างยิ่งต่อความสงบสุขทางร่างกายและจิตใจของเด็ก ครอบครัว และชุมชนอย่างร้ายเเรง ซึ่งสามารถกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงในระยะยาวได้ เช่นนั้นปัญหาดังกล่าวจึงต้องได้รับการแก้ไขอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ด้วยความร่วมมือและเอาจริงเอาจังของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับประเด็นข้างต้น

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เด็กหลักล้านคนในโลกตกเป็นทาสสมัยใหม่ โดยรูปแบบหนึ่งคือการค้ามนุษย์ที่มีสถานสงเคราะห์เด็กบังหน้า
SDG Recommends | 5 อินโฟกราฟิกเล่าสถานการณ์ “ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง” ในโลก 5 รูปแบบ
– ‘ทหารเด็ก’ เป็นแรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด แต่ทั่วโลกมีเด็ก 1 ใน 8 คนในพื้นที่สงครามที่เสี่ยงต่อการถูกเกณฑ์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

แหล่งที่มา: 
UN publishes new guidance on curbing child abduction and other ‘grave violations’ in war (UN)
‘เด็ก’ในกองกำลังติดอาวุธชายแดนใต้  ‘ความเชื่อ-ความแค้น’เหตุร่วมขบวนการ (TCIJ)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กันยายน 26, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น