เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการภาวะฉุกเฉินของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations (2005) (IHR) Emergency Committee) ภายใต้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการเเพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามในการประชุมดังกล่าว ยังคงไม่ได้ตัดสินใจประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมการดังกล่าวได้ร่วมประชุมกันอีกครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม ระบุว่าพบผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจากทั่วโลกรวม 15,378 ราย โดยสี่ประเทศที่มีการติดเชื้อมากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ สเปน จำนวน 3,125 ราย, สหราชอาณาจักร จำนวน 2,322 ราย, สหรัฐอเมริกา จำนวน 2,137 ราย, และเยอรมนี จำนวน 2,110 ราย ซึ่งในการประชุมครั้งที่สอง แม้ความเห็นของคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินฯ ต่อการยกระดับความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงจะแตกออกเป็นหลายเสียง และไม่สามารถมีฉันทามติร่วมกันได้ แต่ท้ายที่สุด Tedros Adhanom Ghrebeyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกก็ตัดสินใจประกาศยกระดับให้การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
Tedros Adhanom Ghrebeyesus ระบุว่า “เรามีการแพร่ระบาดที่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วผ่านการแพร่เชื้อในลักษณะที่เรามีความเข้าใจน้อยเกินไป และ(การยกระดับโรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉิน-ผู้เรียบเรียง) ก็ตรงตามเกณฑ์ที่ปรากฏอยู่ในระเบียบของกฎอนามัยระหว่างประเทศ”
พร้อมเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า “แม้จะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่ในขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นโดยมากในหมู่ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนคู่หลับนอนหลายคน นั่นหมายความว่าจะสามารถยุติการแพร่ระบาดลงได้ด้วยแผนการจัดการที่ถูกต้องและสอดคล้องกับกลุ่มเฉพาะ”
นอกจากนี้ Tedros Adhanom Ghrebeyesus ยังระบุว่าได้มีการแบ่งประเทศออกเป็นสี่กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่ 1 ประเทศที่ยังไม่มีประวัติการติดเชื้อ หรือไม่มีรายงานการติดเชื้อมามากกว่า 21 วัน
- กลุ่มที่ 2 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ (imported case) หรือระบาดจากคนสู่คน
- กลุ่มที่ 3 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อเนื่องจากการระบาดจากสัตว์สู่คน
- กลุ่มที่ 4 ประเทศที่มีศักยภาพในเรื่องการวินิฉัยโรค วัคซีน และมีมาตรการรับมือทางการแพทย์
การประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศนอกจากจะเตือนคนทั่วโลกให้ระวังและป้องกันตัวจากโรคดังกล่าวมากขึ้นเป็นพิเศษแล้ว ยังมีเป้าประสงค์เพื่อระดมและประสานงานความร่วมมือเรื่องข้อมูลและทรัพยากรทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศสำหรับป้องกันและเตรียมพร้อมตอบสนองต่อโรคดังกล่าว อย่างไรก็ดีในเชิงปฏิบัติ การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ อาจสร้างความกังวลแก่ประเทศที่เผชิญกับโรคระบาด เนื่องจากต้องแบกรับภาระและความเสี่ยงทางการเงินและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากการเดินทางและการค้าเกิดต้องหยุดชะงัก บางประเทศจึงอาจไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลด้านสาธารณสุขในกรณีที่เกิดการระบาดเนื่องจากมีความกังวลต่อมาตรการดังกล่าว
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 คือประเทศที่พบผู้ป่วยเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ (imported case) หรือระบาดจากคนสู่คน เนื่องจากสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 กรมควบคุมโรคได้ประกาศพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงรายแรกที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งแม้ขณะนี้ผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวจะเดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว แต่ประชาชนก็ยังจำเป็นต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์และป้องกันตัวเองจากโรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เน้นย้ำให้ประชาชนทำความเข้าใจกับโรคและอย่าตื่นตระหนก พร้อมกับให้มั่นใจในมาตรการรับมือและเฝ้าระวังป้องกันโรคดังกล่าวของกระทรวงสาธารณสุขว่ามีความเข้มงวดเพียงพอ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ และยังมีการตรวจคัดกรองและรายงานโรคตามนิยามผู้ป่วยสงสัยทุกรายที่คลินิกนิรนาม คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง และโรงพยาบาล ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความมั่นใจเเก่ประชาชนด้วยว่าวัคซีนโรคฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรมได้เก็บรักษาไว้ตามมาตรฐานเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาทดสอบพบว่ายังมีคุณภาพดี หากมีความจำเป็นก็สามารถนำมาใช้ได้
อย่างไรก็ดี หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยใช้โอกาสจากประกาศยกระดับโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ด้วยการแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือในเรื่องข้อมูล และทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการควบคุมโรคก็อาจช่วยให้การป้องกันและตั้งรับการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– การล่าสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อการบริโภคเนื้อภายในประเทศ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน
– SDG Updates | Immunization Agenda 2030 กับ SDGs ความเชื่อมโยงของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคกับเป้าหมายกับพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมมากไปกว่าเรื่องสุขภาพ
– การประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ เร่งหารือเรื่องระบบเตรียมพร้อมตอบสนองต่อโรคระบาดในระดับโลกอย่างเป็นทางการ
– 15 องค์กรการกุศลชั้นนำเรียกร้องให้ World Bank Group และ IMF ลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดให้มากขึ้น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
แหล่งที่มา:
– Monkeypox: WHO declares outbreak a global public health emergency (DW)
– Second meeting of the International Health Regulations (2005) (IHR) Emergency Committee regarding the multi-country outbreak of monkeypox (WHO)
– Emergency Committee meets again as Monkeypox cases pass 14,000: WHO (UN)
– สธ. ตอบสนองประกาศ WHO ให้โรคฝีดาษวานรเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ยกระดับจาก EOC กรมควบคุมโรค เป็นระดับกระทรวง (สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย