Site icon SDG Move

SDSN Thailand โดย IHPP และ SDG Move ร่วมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 พร้อมเปิดตัว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย”

กรุงเทพมหานคร 26 กรกฎาคม 2565 – สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ภายใต้เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2565 (Thailand Sustainable Development Forum 2022) ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ ร่วมกับ ภาคีหน่วยงานเจ้าภาพซึ่งประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และธนาคารโลก (The World Bank) และภาคีหน่วยงานผู้จัดซึ่งได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ทางเพจ IHPP – สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และ SDG Move TH

เวทีฯ ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีสนับสนุนการสื่อสารความรู้ไปสู่นโยบายอย่างมีส่วนร่วมในการดําเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย และมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ ได้แก่

1. เพื่อสร้างกลไกการนําข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ไปสู่การกําหนดวาระนโยบายหรือประเด็นสำคัญ เพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย

2. เพื่อส่งเสริมการสร้างและจัดการความรู้ระหว่างภาคส่วน ผ่านการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ ในการจัดทําข้อมูลสถานการณ์และช่องว่างในการดําเนินงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

3. เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายและการทํางานร่วมกันของนักวิชาการและภาคส่วนต่าง ๆ อย่างบูรณาการข้ามศาสตร์ ภายใต้ประเด็นความยั่งยืนที่สําคัญ และ

4. เพื่อสร้างความมุ่งมั่นในการดําเนินงานเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. 2573


กิจกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของเวทีฯ วันนี้คือการเปิดตัว “รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอในฐานะกลไกสำคัญของการนำข้อมูลสู่การกำหนดวาระนโยบายและกลไกส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างบูรณาการ อันจะนำไปสู่การดําเนินงานเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2573 ผ่านข้อมูลเชิงลึกและความคิดเห็นที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบวงจรสุวัฏจักร (virtuous cycle) ระหว่างนักวิชาการ หน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญทุกระดับ ตั้งแต่ตุลาคม ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา

สาระสำคัญของรายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565

รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ได้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของการนำแนวคิด Sustainability Transformation มาปรับเข้ากับบริบทของประเทศไทย และนำเสนอสถานการณ์รายประเด็นภายใต้ 5 ธีม ได้แก่

• ธีมที่ 1 สุขภาวะและทรัพยากรมนุษย์ (Human Well-being and Capabilities)

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดสรรและบริหารจัดการทรัพยากรและโอกาสที่เป็นธรรม เพื่อสร้างหลักประกันทางการศึกษา การประกอบอาชีพ และการมีสุขภาวะในประชากรแต่ละกลุ่มอย่างเสมอภาค (equity) โดยการจัดสรรทรัพยากรในระบบการศึกษาให้เพียงพอและเป็นธรรม จะสร้างโอกาสทางการศึกษา ลดผลกระทบจากภูมิหลังด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาวะของผู้เรียนไม่ให้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันการศึกษารูปแบบทางเลือกที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด และความสามารถของผู้เรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน

ความท้าทายและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การให้ความสําคัญกับการสร้างความคุ้มครองทางสังคมให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบาง การมุ่งเน้นการทำงานในระดับพื้นที่โดยให้ชุมชนและท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนงาน และการสร้างสังคมที่นําข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างบูรณาการและเป็นระบบ

• ธีมที่ 2 เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม (Sustainable and Just Economies)

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การคุ้มครองทางสังคมสําหรับคนฐานราก เช่น แรงงาน ผู้พิการ และคนในชนบท ผ่านระบบและกฎหมายสวัสดิภาพแรงงาน การเข้าถึงกลไกความคุ้มครองทางสังคมของภาครัฐ ระบบสวัสดิการชุมชน และการเข้าถึงเทคโนโลยี แม้ปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองทางสังคมของคนกลุ่มต่าง ๆ แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายดังกล่าวยังไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร เห็นได้จากปัญหาของการตกสํารวจ (exclusion error) ที่คนจนจริงมิได้รับสวัสดิการเป็นอาทิ ซึ่งกลไกการคุ้มครองทางสังคมนี้จะเกี่ยวพันกับสถานะทางเศรษฐกิจของชุมชนอันเป็นบ่อเกิดของการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนที่ดี

ความท้าทาย ได้แก่ ปัญหาเชิงระบบภายในภาครัฐ เช่น ความล่าช้าในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ การขาดการสรุปบทเรียนจากการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานกับพื้นที่ และปัญหาเชิงระบบภายนอกภาครัฐ เช่น การขาดปฏิสัมพันธ์ข้ามภาคส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคส่วนอื่น รวมทั้งการขาดทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่และงบประมาณในภาคส่วนอื่นนอกภาครัฐ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การปรับปรุงให้ข้อมูลและระบบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สังคมและระบบการคุ้มครองทางสังคมมีความแม่นยํา ทันการณ์ เข้าถึงเข้าใจและใช้ประโยชน์ได้โดยคนทุกกลุ่ม การขับเคลื่อนความคุ้มครองทางสังคมสําหรับคนฐานรากโดยใช้กลไกข้ามกระทรวงและข้ามภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพ การให้ความสําคัญกับการเสริมพลังภาคส่วนอื่นนอกภาครัฐให้มีทรัพยากรเพียงพอ การเพิ่มการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในกลุ่มคนเปราะบาง และการจัดให้มีการทบทวนผลการดําเนินงาน กระบวนการทํางาน และการบังคับใช้กฎหมายแบบข้ามภาคส่วนอย่างสม่ำเสมอ

• ธีมที่ 3 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Energy Decarbonization with Universal Access)

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การนําประเทศไปสู่สังคมที่มีคาร์บอนเป็นกลาง การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ผ่านการทำให้พลังงานปลอดคาร์บอนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางภูมิอากาศ (การทําให้ผลสุทธิของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์) และผ่านมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานสะอาดที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ใช้พลังงานสะอาด

ความท้าทายและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ นโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนพลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานควรมีความต่อเนื่อง มีกรอบเวลาที่ยืดหยุ่น และมีการเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ ผ่านกลไกการสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน การทําวิจัยร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนโดยให้ทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้มีการใช้งบประมาณอย่างมีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและการนําข้อมูลไปใช้ร่วมกัน เพิ่มการมองการเข้าถึงพลังงานจากแง่มุมคุณภาพชีวิต อาทิ การขาดการเข้าถึงพลังงานของคนรายได้ต่ำ และให้ความสําคัญและพัฒนาเรื่องภาษีคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกําหนดนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

• ธีมที่ 4 การพัฒนาของพื้นที่เมืองและพื้นที่กึ่งเมือง (Urban and Peri-urban Development)

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความยากจน ที่ดิน ที่อยู่อาศัยและการมีสิทธิในที่ดิน การเชื่อมโยงข้อมูล พื้นที่สีเขียวและการสนับสนุนงบประมาณ โดยการลดความเหลื่อมล้ำและเปราะบางของประชากรในเมือง การส่งเสริมการเข้าถึงและสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวนั้น สามารถทำด้วยการรวบรวมข้อมูลและจัดทําฐานข้อมูลกลางของแต่ละหน่วยงาน จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยง และเปิดเผย รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพื่อนําข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและแก้ไขข้อจำกัดของเมืองอย่างยั่งยืน

ความท้าทาย ได้แก่ ปัญหาความกระจัดกระจายและขาดการบูรณาการของข้อมูล ปัญหาความต่อเนื่องของการเก็บข้อมูลเมือง และปัญหาการนําข้อมูลเมืองไปใช้ประโยชน์

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การพัฒนาระบบข้อมูลเปิด (open data) เพื่อให้เกิดการนําข้อมูลเมืองไปใช้ประโยชน์และต่อยอดทางนโยบาย การสนับสนุนการกระจายทรัพยากรสู่ท้องถิ่นและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในระดับเมืองเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชากรกลุ่มเปราะบางในเมือง และการบูรณาการความรู้และทรัพยากรการดําเนินงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงในเชิงสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสังคมในอนาคต

• ธีมที่ 5 ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Food, Water, Land and Oceans)

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ระบบเกษตรและอาหารที่มีความสมดุล ยั่งยืน และปรับตัวได้ เกี่ยวข้องกับความสมดุลและความเชื่อมโยงของมิติทั้งสามของการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันระบบการเกษตรและการผลิตอาหารในประเทศไทยยังขาดความสมดุลและศักยภาพในการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ทั้งผู้อยู่ในภาคส่วนการเกษตรยังเป็นกลุ่มเปราะบาง จึงต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของระบบเกษตร ระบบอาหาร ระบบจัดการและธรรมาภิบาลของสภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับน้ํา ป่าไม้และการใช้ที่ดิน ระบบการจัดการที่ลดความสูญเสียอาหารและหมุนเวียนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรและให้ความสําคัญต่อสภาพแวดล้อมของชุมชน

ความท้าทายและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การขาดปัจจัยสําคัญที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านทรัพยากรบุคคล ระบบการจัดการ ข้อมูลและเครือข่าย การขาดความเชื่อมโยงสู่การดําเนินงาน การติดตามผล และเรียนรู้ระดับท้องถิ่น ระหว่างภาควิชาการและภาคปฏิบัติการ และความเข้าใจและคํานึงถึงบทบาทของชุมชนในฐานะแกนหลักร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา

ในภาพรวม รายงานฯ ยังได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้

● การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

○ สร้างกลไกการสร้างและใช้ข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (integrated data systems)

○ ใช้ข้อมูลสถิติจากภาคส่วนอื่น มาเสริมข้อมูลภาครัฐ

○ พัฒนาคุณภาพและความทันการณ์ของข้อมูลไปสู่ระดับภายในประเทศ

○ จัดทํารายงานสถานการณ์รายปี เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลและประเมินผลของการดําเนินงาน

○ นําข้อมูลไปกําหนดนโยบาย/แผนงาน/มาตรการที่เกี่ยวข้อง

● การขับเคลื่อนทุกภาคส่วน และทุกระดับสอดประสานกัน

○ ทํางานเป็นเครือข่าย และส่งเสริมให้ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ทํางานร่วมกับท้องถิ่น แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดยมีนักวิชาการเป็นโซ่ข้อกลาง และใช้กลไกที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์

○ หาวิธีการแก้ปัญหา/วิธีการทํางานร่วมกันที่มีความจําเพาะในแต่ละพื้นที่ และอาจนําไปขยายผลในพื้นที่อื่น 

● การขับเคลื่อนผ่านการวิจัย นวัตกรรม และกระบวนการเรียนรู้ในสังคม

○ ใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกรอบระบุความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติและท้องถิ่น ในการกําหนดเป้าหมายและวางแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมองประเด็นวิจัยอย่างบูรณาการและไม่ละเลยประเด็นเชิงระบบ

○ สร้างพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนกําหนดโจทย์วิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

○ สร้างพื้นที่เรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

○ ผลิตความรู้และนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน○ เป็นสติให้กับสังคมด้วยการใช้ข้อมูลและความรู้ในการทบทวนสถานการณ์ วิเคราะห์ วิพากษ์ และให้ข้อเสนอแนะ


ทั้งนี้ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2565 ในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก
ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านในการแสดงปาฐกพิเศษ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในหัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก (Transformation)” และ ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมทั้งมีการจัด เสวนาสาธารณะ: สถานการณ์และปัญหาการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน แนวทางการขับเคลื่อนงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้แก่ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม คุณสมสุข
บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน และคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี และเสวนารายประเด็น: กำหนดอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน บน 5 ธีมหลักของแนวคิด Sustainability Transformation


ดาวน์โหลด Press Release เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2565 ฉบับเต็ม:
(รูปแบบ PDF) https://bit.ly/3b1Rmj2
(รูปแบบ DOCX) https://bit.ly/3zujXqC

ดาวน์โหลด รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 ฉบับเต็ม และเอกสารประกอบทั้งหมดของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2565 ได้ที่ https://bit.ly/3Rejhwr


ติดต่อผู้ประสานงาน

– คุณนัสรินทร์ อาหมัดธีรกุล | 02-590-2367
– คุณวริศรา จารุวรรโณ | 02-590-2367
– อีเมล ihppsdg@gmail.com

ภาคีหน่วยงานเจ้าภาพและหน่วยงานผู้จัด

เกี่ยวกับ SDSN

Sustainable Development Solutions Network (SDSN) คือ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกที่ได้ระดมความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคจากทั้งภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก SDSN ได้ดําเนินงานมาตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้การสนับสนุนของเลขาธิการสหประชาชาติ ปัจจุบัน SDSN กําลังสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาระดับชาติและระดับภูมิภาค เครือข่ายเชิงประเด็นที่ 4 เน้นการแก้ปัญหา และตั้ง SDG Academy ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยออนไลน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีนาคม 2563 โดยมี 4 องค์กรภาคีขับเคลื่อน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ในนามคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) ภายใต้สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ปัจจุบันมีสมาชิกทางการในประเทศไทยเป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย 19 แห่ง

Author

Exit mobile version