เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารโลก (World Bank: WB) ได้เผยแพร่ “รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย – การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Thailand Economic Monitor – Building Back Greener: The Circular Economy ซึ่งจากความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลให้ประเทศไทยมีความเปราะบางต่อภาวการณ์หยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก (supply chain disruption) เป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากผลกระทบภายนอกอย่างสงครามยูเครน-รัสเซียและมาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมืองของจีน ซึ่งประเทศไทยมีลักษณะที่พึ่งพาการนำเข้าจากประเทศเหล่านี้ ดังนั้น การนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) มาปรับใช้ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบภายนอกที่ไม่แน่นอนนี้ได้
รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย “การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” สามารถนำมาสรุปประเด็นสำคัญโดยสังเขปได้ 3 ประเด็น ดังนี้
- การพัฒนาทางเศรษฐกิจระยะที่ผ่านมา เริ่มฟื้นตัวแต่ยังขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย จะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 แต่ก็ยังช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนเช่นประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 พร้อมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทะลุกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยและแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามยูเครน-รัสเซียที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น กระนั้น ระบบการเงินโดยรวมก็ยังคงมีเสถียรภาพอยู่ รวมถึงอัตราการว่างงานและความยากจนก็ลดลงร้อยละ 0.5 จากปี 2564 อนึ่ง ถึงแม้อัตราการว่างงานจะลดลงแต่ค่าจ้างแรงงานกลับลดลงตามไปด้วย รวมถึงหนี้ครัวเรือนก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น
- แนวโน้มทางเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยง ปีนี้ แม้คาดว่าการส่งออกจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม แต่กลับพบว่าสามารถขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 1.4 ซึ่งเป็นผลจากการถูกจำกัดการเข้าถึงปัจจัยการผลิตทำให้การส่งออกเครื่องจักร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ยานยนต์ ที่มีปัจจัยการผลิตนำเข้ามาจากจีนมีภาวะหยุดชะงัก (disruption) ทำให้เศรษฐกิจไทย ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ จึงควรติดตามเเละตรวจสอบจุดอ่อนในภาคการเงิน ตลอดจนสำรวจแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ
- เศรษฐกิจหมุนเวียน–การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจเส้นตรง (linear economy) ไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน นำมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตและการบริโภคนั้น จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวประมาณร้อยละ 1.2 และช่วยให้เกิดการจ้างงานประมาณ 160,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2573 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของการจ้างงานทั้งหมด นอกจากนี้ ด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปกติ จะช่วยให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลดลงประมาณร้อยละ 5 ภายในปี 2573 และการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานก็จะลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถช่วยป้องกันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงและมีความผันผวนในประเทศไทย
จากรายงานดังกล่าว นายไฆเม ฟรีอัส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก ระบุว่า “เนื่องจากความต้องการทรัพยากรภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยสามารถเลือกใช้แนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่จะลดการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก” พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า “การตอบสนองอย่างพร้อมเพรียงทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปที่ตรงเป้าหมาย จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการปลดล็อคศักยภาพของประเทศไทยในด้านดังกล่าว”
อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ ยังมีประเด็นและข้อเสนอแนะสำคัญอีกมากมาย อาทิ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับ มลพิษ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากร รวมถึงสนับสนุนการแบ่งปันความรู้ นวัตกรรม และการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจนำรูปแบบธุรกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ เป็นต้น โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พยายามนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่เพียงจะช่วยสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนแต่ยังเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายในวาระโลกอีกด้วย
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– เวียดนามชูยุทธศาสตร์ชาติ Decision 450 หวังปกป้องสิ่งแวดล้อม-สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายในปี 2573 – SDG Move
– เลขาธิการบริหาร UNECE เสนอว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่คือความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อโลก – SDG Move
– หลายแบรนด์ดังสนับสนุน ‘The Jeans Redesign’ แนวปฏิบัติสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในการผลิตยีนส์ – SDG Move
– SDG Updates | เมื่อโลกต้องการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยจึงมี ‘BCG’ (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติปี 2564
– SDG Updates | โค้งสุดท้ายก่อน 2030: แผนพัฒน์ 13 กับการพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน?
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเป็นหลัก (Labour intensive)
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.1) ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนทุกประเทศนำไปปฏิบัติ โดยประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงการพัฒนาและขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
แหล่งที่มา:
– ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวอย่างยืดหยุ่น ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
– รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย – การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (บทสรุปผู้บริหาร)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย