เริ่มต้นเดือนสิงหาคม เดือนแห่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 8 ว่าด้วย งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยข่าวการสนับสนุนเยาวชนและชุมชนไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ด้านการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ภายใต้โครงการ “DASTA SE HERO 2022” ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันรอบตัดสินชิงรางวัลชนะเลิศไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565
โครงการ “DASTA SE HERO 2022” ริเริ่มและดำเนินการโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับ Local Alike สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว ในลักษณะการจัดประกวดแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งมีชุมชนจากทั่วประเทศส่งแผนธุรกิจเข้าร่วมกว่า 23 ราย
โครงการดังกล่าวนี้มีเป้าประสงค์สำคัญ คือ การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้แก่เยาวชนชุมชนในการเรียนรู้และมองหาแนวทางจัดการการท่องเที่ยวชุมชนเชิงธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ดังเช่นที่นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. ระบุว่า “โครงการ DASTA SE HERO 2022 จะมีส่วนช่วยพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่และชุมชนที่มีศักยภาพไปสู่ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ social enterprise ด้านการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนรุ่นใหม่และชุมชน มีศักยภาพในการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยว โดยจะมีการต่อยอดขยายผลไปสู่การเป็นเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวต่อไป”
สำหรับ 5 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งมีการริเริ่มและดำเนินการการท่องเที่ยวเชิงชุมชนที่น่าสนใจ ได้แก่
- ทีมภูคูนคำ จากอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย: ชาวบ้านและเยาวชนผู้ขยับตัวเองจากการทำเกษตรอินทรีย์มาต่อยอดให้เป็นการท่องเที่ยว ผ่านการรวมตัวของเกษตรกรที่ผลิตสินค้าหลากหลาย อาทิ กาแฟ โกโก้ขี้ชะมด สินค้าแปรรูปกล้วย เป็นต้น เพื่อนำมาจัดจำหน่าย พร้อมกับจัดสรรพื้นที่ให้มีที่พักและการบริการอาหารแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน
- ทีมคนรุ่นใหม่ใส่ใจชุมชน จากอำเภอบางกอบัว จังหวัดสมุทรปราการ: กลุ่มที่เริ่มต้นการดำเนินการจากการเก็บเศษไม้มาสร้างสะพานเพื่อเป็นทางเดินไปนั่งจิบกาแฟกลางป่า ก่อนจะพัฒนามาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวล่องเรือชมป่าและคลองใส และมีกิจกรรมสนุก ๆ ให้ทำ อาทิ การทำผ้ามัดย้อมธรรมชาติ การทำลูกประคบจากสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน เป็นต้น
- ทีมพรานพอเพียง จากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์: กลุ่มที่ตั้งต้นด้วยคนเพียงสองคนภายใต้โจทย์ “จะพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นอย่างไร” ก่อนจะพบคำตอบและหันมามุ่งพัฒนาเรื่องการเกษตรเพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวและเรียนรู้ พร้อมทั้งให้บริการฝึกทักษะแก่ผู้ที่สนใจจะทำการเกษตรแบบไร้สารเคมี
- ทีมวาวี โฮป จากอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย: กลุ่มที่รวมตัวกัน เพราะเล็งเห็นปัญหาป่าต้นน้ำ และปัญหาต้นชาที่มีอายุเยอะถูกทำลาย จึงคิดแก้ไขด้วยการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนผ่านการผลิตสินค้าและให้บริการของชุมชน อาทิ ใบชาอบแห้ง กิจกรรมเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ (workshop) เป็นต้น ซึ่งช่วยให้คนในพื้นที่ได้เห็นคุณค่าและอนุรักษ์ชาไปพร้อมกับการสร้างรายได้ผ่านการเป็นแหล่งท่องเที่ยว
- ทีมบานาน่า แลนด์ จากอำเภอภูหลวง จังหวัดเลย: กลุ่มที่ริเริ่มจากความพยายามสร้างอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชน โดยเน้นการผลิตสินค้าและบริการจากทุนทางสังคมของชุมชน ได้แก่การผลิตผ้าฝ้ายและการสร้างงานฝีมือในชุมชน
กล่าวได้ว่า โครงการ “DASTA SE HERO 2022” เป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่นและส่งเสริมให้เกิดการมีงานทำแก่เยาวชน ซึ่งสิ่งที่แตกต่างจากโครงการสนับสนุนทางเศรษฐกิจอื่น ๆ นั่นคือการให้ทั้งเงินทุน องค์ความรู้ ทักษะ และคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยให้เยาวชนและชุมชนมีเครื่องมือและกลยุทธ์สำหรับพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการลงทุนและลงแรงอย่างคุ้มค่าและมองการณ์ไกลถึงความยั่งยืน เพราะเยาวชนที่ได้เรียนรู้จากโครงการจะสามารถใช้องค์ความรู้และทักษะเหล่านั้น นำมาออกแบบแนวทางการจัดการชุมชนของพวกเขาเพื่อสร้างการเติบโตด้านการท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– Kubé ธุรกิจเพื่อสังคมที่ผลิตไอศกรีมทำจากหัวกะทิ ส่งเสริม Food Justice ให้กับผู้ผลิตท้องถิ่น ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
– เกาะลังกาวี เตรียมแผนนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยมุ่งเป้าไปที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและความยั่งยืน
– UNWTO ประกาศ 44 รายชื่อหมู่บ้านท่องเที่ยวยั่งยืน รางวัล BEST TOURISM VILLAGES ประจำปี 2021
– SDG Updates | ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
– Dispatch Coffee ธุรกิจกาแฟคั่วในแคนาดาที่ส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศยากจนและใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัฒกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
– (8.6) ลดสัดส่วนของเยาวชนไม่มีการศึกษาและที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมให้มาก ภายในปี 2563
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573
แหล่งที่มา
– อพท. ผลักดันเยาวชนคนรุ่นใหม่และชุมชนต้นแบบสู่ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม (เฟซบุ๊กเพจ Dasta Thailand)
– ทีมคนรุ่นใหม่ใส่ใจชุมชน จ.สมุทปราการ (เฟซบุ๊กเพจ เที่ยวชุมชนไปกับคน อพท.)
– ทีม WAWEEHOPE จากชุมชนดอยวาวี จ.เชียงราย (เฟซบุ๊กเพจ เที่ยวชุมชนไปกับคน อพท.)
– ทีม Banana Land บานาน่าแลนด์ – ดินแดนกล้วยๆ (เฟซบุ๊กเพจ เที่ยวชุมชนไปกับคน อพท.)
– ทีมวิสาหกิจชุมชนภูคูนคำออร์แกนิคกรุ๊ป (เฟซบุ๊กเพจ เที่ยวชุมชนไปกับคน อพท.)
– ทีม พรานพอเพียง ออร์แกนิค ไลฟ์สไตล์ & ฟาร์ม จ.ประจวบคีรีขันธ์ (เฟซบุ๊กเพจ เที่ยวชุมชนไปกับคน อพท.)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on สิงหาคม 1, 2022