Director Notes: 23: การประชุมเชิงปฏิบัติการ CSOs Forum ประจำปี 2565 ระดับประเทศ หัวข้อ หุ้นส่วนการพัฒนาจากชุมชนสู่ประชาคมโลก

สวัสดีครับทุกท่าน

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม “การประชุมเชิงปฏิบัติการ CSOs Forum ประจำปี 2565” ระดับประเทศ ในหัวข้อ หุ้นส่วนการพัฒนาจากชุมชนสู่ประชาคมโลก ผมจึงขอนำการนำเสนอดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนเอาไว้ในคอลัมน์ Director Note ในวันนี้ครับ

จุดประสงค์หลักของการนำเสนออยู่ที่การทำให้ ภาคประชาสังคมไทย เข้าใจว่าการขยับตัวเองจากการสร้างหุ้นส่วนระดับท้องถิ่นไปสู่การสร้างหุ้นส่วนระดับโลกนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ภาษาเดียวกันกับ ภาษาของโลก หากเรายังคงใช้ภาษาของเราอย่างเดียวโดยไม่สนใจว่าโลกกำลังคุยอะไรกัน การสร้างหุ้นส่วนจะเป็นไปได้ยาก

ดังนั้นวันนี้ผมจึงนำประเด็นเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มานำเสนอ ให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม เพื่อพิจารณานำไปเป็นแนวทางในการออกแบบ การขับเคลื่อน ของภาคประชาสังคมต่อไป ตามที่เห็นเหมาะสม

สาระสำคัญของการนำเสนอในวันนี้มีอยู่ทั้งหมดห้าประการ ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเดียวกันประกอบด้วย

  1. การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางและการพัฒนาที่สมดุลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การพัฒนากระแสรองอีกต่อไป
  2. ภาคประชาสังคม มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
  3. พื้นที่การมีส่วนร่วมเชิงนโยบายอย่างเป็นทางการในระดับภูมิภาคและระดับโลก มีอยู่ แต่พื้นที่การมีส่วนร่วมเชิงนโยบายอย่างเป็นทางการในประเทศยังมีจำกัด
  4. เราต้องการพื้นที่การมีส่วนร่วมเชิงนโยบายเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคประชาสังคมและวิธีการทบทวนความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติ
  5. ภาคประชาสังคมเองก็จำเป็นต้องปรับตัวเช่นกัน

01 – เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานะที่เป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม

การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางและการพัฒนาที่สมดุลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่การพัฒนากระแสรองอีกต่อไป เพราะการเกิดขึ้นและมีอยู่ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อันเป็นเป้าหมายที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยให้การรับรองและร่วมให้คำมั่นว่าจะพยายามบรรลุให้ได้ภายในปีค.ศ. 2030 ถึงกระนั้น SDGs มิใช่เพียงเป้าหมายของโลกเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นเครื่องมือของภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่สมดุลและมีคนเป็นศูนย์กลางได้อีกด้วย

การที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นที่ยอมรับของทุกประเทศและปัจจุบันเป็นสิ่งที่ภาคส่วนต่าง ๆ นำมาปรับใช้เป็นหลักการในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของตนเอง ทำให้หลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นบรรทัดฐาน (norms) ของการพัฒนาไปโดยปริยาย คำว่าเป็นบรรทัดฐานการพัฒนา หมายถึง หลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถใช้เป็นหลักในการบอกว่า การกระทำหรือนโยบายหนึ่ง ๆ เป็นการกระทำหรือนโยบายที่ดีหรือไม่ หากสอดคล้องกับหลักการและเป้าหมาย SDGs ก็จะถือว่าเป็นการดำเนินการที่ดีที่ยั่งยืน หากไม่ ก็จะถือว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ดีที่ไม่ยั่งยืน บรรทัดฐานนี้ถูกรับไปใช้โดยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน และมีการแสดงการให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงจังและเปิดเผยผ่านเวทีต่าง ๆ ทั้งเวทีองค์การสหประชาชาติและเวทีความร่วมมือและกระบวนการการประเมินต่าง ๆ

ดังนั้นองค์กรภาคประชาสังคมจึงสามารถใช้ภาษาของ SDGs มาประกอบกับการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะมีผลในทางการเพิ่มพลังและน้ำหนักให้กับงานที่กำลังทำอยู่ และให้กับการต่อต้านการดำเนินงานที่ไม่ยั่งยืนของภาครัฐและ/หรือเอกชนในบางพื้นที่ได้ด้วย การนำมาใช้มิได้เป็นเพียงการนำสิ่งที่ทำไปโยงกับเป้าหมายหรือเป้าหมายย่อยของ SDGs เท่านั้น แต่สามารถโยงในหลักการได้ด้วย เช่น หลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive development) หรือหลักการพัฒนาอย่างบูรณาการ (integrated development) ก็สามารถนำมาประกอบกับข้อเสนอของการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ ภาษา SDGs ยังสามารถใช้ในการเสริมพลังให้กับงานระดับพื้นที่ที่มีการดำเนินการอย่างแข็งขันอยู่เดิมได้อีกด้วย บางชุมชนที่เป็นตัวอย่างของชุมชนพึ่งตนเอง ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบสวัสดิการชุมชน หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนนั้น เดิมทีอาจเป็นเพียงตัวอย่างของชุมชนภายในประเทศ ชุมชนเหล่านี้สามารถเป็นตัวอย่างระดับโลกได้หากเราใช้ภาษา SDGs ในการเล่าเรื่องราวของชุมชนเหล่านี้แทน มันจะเป็นการเพิ่มพลังให้กำลังใจกับองค์กรและชุมชนที่ดำเนินการอย่างยั่งยืนมาตลอด และเป็นประโยชน์กับชุมชนอื่น ๆ ทั่วโลกอีกด้วย

02 – ภาคประชาสังคมในฐานะที่เป็นภาคส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาคประชาสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างยิ่ง มิใช่เพียงแค่การดำเนินกิจกรรมและโครงการที่สามารถเชื่อมโยงกับ SDGs ได้เท่านั้น แต่การดำเนินการของภาคประชาสังคมนั้นสอดคล้องและส่งเสริมหลักการที่เป็นแกนกลางอันสำคัญของคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเลยทีเดียว

การพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบันนั้นเกี่ยวข้องกับคำ 3 คำ

  1. Sustainable – ยั่งยืน
  2. Inclusive – ครอบคลุม
  3. Resilient – ตั้งรับปรับตัว

คำว่ายั่งยืน (sustainable) มีความหมายทั้งในด้านของการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่รับผิดชอบ ไม่สร้างผลกระทบทางลบและหาทางเสริมแรงผลกระทบทางบวก และการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางและคิดถึงคุณภาพชีวิตของคนในปัจจุบันและในอนาคต

คำว่าครอบคลุม (inclusive) มีความหมายที่สอดคล้องกับประโยคที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หรือ “Leave No One Behind” ซึ่งเป็นสโลแกนหลักของ SDGs คำนี้หมายรวมถึง ความครอบคลุมทางสังคม (social inclusiveness) คือ การพัฒนาที่เน้นคนด้อยโอกาส ทำให้คนด้อยโอกาส คนเปราะบาง และคนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือเสริมพลัง มีโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เท่าเทียมกับคนทุกคน สามารถเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐอย่างเท่าเทียม และความครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม (environmental inclusiveness) คือ การพัฒนาที่ทำให้ชุมชนมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ได้รับการคุ้มครองจากการถูกแย่งเอาไป และได้รับความช่วยเหลือหากเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติให้สามารถฟื้นคืนสภาพได้รวดเร็ว

คำว่า ตั้งรับปรับตัว (resilient) มีความหมายว่า ปัจเจกชน ชุมชน หรือระบบหนึ่ง ๆ สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงผันผวนได้ และแม้หากได้รับผลกระทบก็สามารถกลับคืนสภาพเดิมหรือพัฒนาไปได้ดีกว่าเดิมได้ มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งการตั้งรับปรับตัวต้องอาศัยความสามารถในการจัดการตนเอง (self-organization) การเรียนรู้ (learning) และการสนับสนุนกันภายในกลไกการบริหารจัดการแบบหลายระดับ (multi-level governance)

การทำงานของภาคประชาสังคมเป็นที่ทราบกันดีว่า มักมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนหรือชุมชนที่ด้อยโอกาส และปัญหาเชิงพื้นที่ ซึ่งด้วยเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ต้องแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและเป็นระบบ จึงจะแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตและ/หรือปัญหาเชิงพื้นที่เหล่านั้นได้ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและบูรณาการ คือ มิได้มุ่งแก้เรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่ต้องแก้ไขทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องและเป็นเงื่อนไขสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีหรือการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดและไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา และทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนนี้สะท้อนว่าการทำงานของภาคประชาสังคมนั้นสอดคล้องกับคำว่ายั่งยืน (sustainable)

นอกจากนี้ ความที่ภาคประชาสังคมนั้นเน้นทำงานกับคนและเครือข่าย มุ่งหมายช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย หาได้มีอำนาจทางกฎหมายหรือสามารถลงโทษใครได้ ดังนั้น ภาคประชาสังคมจะมีความได้เปรียบในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ภายใต้ปัญหาทับซ้อน (intersectional problem) ได้ดีกว่าภาครัฐ เพราะกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้มักอยู่ในสถานะที่อาจถูกจับหรือลงโทษโดยภาครัฐได้ ทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องการเข้าหาหรือได้รับบริการจากรัฐ แต่ในขณะเดียวกันสภาวะดังกล่าวก็ทำให้ต้นทุนชีวิตของพวกเขาสูงและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดสภาวะด้อยโอกาสได้ ภาคประชาสังคมจึงมีส่วนสำคัญในการเป็นตัวกลางให้คนเหล่านี้เข้าถึงโอกาสทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและบริการของรัฐได้ สะท้อนภาพความสอดคล้องกับหลักของความครอบคลุมทางสังคม (social inclusiveness)

ในขณะเดียวกัน ในหลายโอกาสภาคประชาสังคมก็เป็นตัวกลางทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อเรียนรู้และรับทราบข้อมูลที่รอบด้านเกี่ยวกับโครงการและนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งในหลายครั้ง โครงการเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นฐานของวิถีชีวิตชุมชน ในบางกรณี ภาคประชาสังคมเป็นผู้เข้ามาเสริมศักยภาพและดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ชุมชนที่อาจเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่นโยบายของรัฐ ซึ่งส่วนนี้สะท้อนภาพความสอดคล้องกับหลักความครอบคลุมทางสิ่งแวดล้อม (environmental inclusiveness)

การดำเนินการของภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองและจัดการตนเอง (self-organization) และมีทักษะการเรียนรู้ (learning) เป็นแกนกลางของการมีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (adaptive capacity) นอกจากนี้ภาคประชาสังคมยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงชุมชนกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการเพิ่มทรัพยากรและขีดความสามารถในการตั้งรับปรับตัวอีกด้วย ส่วนนี้สะท้อนความสอดคล้องกับหลักของการตั้งรับปรับตัว (resilience)

03 – พื้นที่การมีส่วนร่วมเชิงนโยบายยังน่าเป็นห่วง

การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งอยู่บนหลักการที่เรียกว่า transformative partnership ซึ่งมีความหมายที่ก้าวหน้าไปมากกว่า Public Private Partnership หรือ PPP โดย PPP นั้นเป็นการสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนซึ่งต่างเป็นผู้เล่นที่มีศักยภาพสูงในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมอยู่แล้วเพื่อการพัฒนา โดยมิได้เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่น ๆ แต่คำว่า transformative partnership นั้นกินความมากกว่าเพียงการมีส่วนร่วมของสองกลุ่มแรก แต่ต้องรวมเอาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ทางบวก-ทางลบทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตลอดกระบวนการทางนโยบาย ตั้งแต่เริ่มต้น และทำให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กระบวนการปรึกษาหารือตลอดกระบวนการโดยทุกภาคส่วนควรนำไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วมกันในทุกแง่มุมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

หากถามว่าใครควรมีส่วนร่วมบ้าง องค์การสหประชาชาติได้แบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกเป็นกลุ่มหลัก (Major Groups) และกลุ่มอื่น ๆ (other stakeholders) โดยกลุ่มหลักนั้นประกอบด้วย 9 กลุ่ม อันได้แก่ ภาคธุรกิจ เด็กและเยาวชน เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน (องค์กรภาคประชาสังคม) นักวิชาการ ผู้หญิง และแรงงานและสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ยังมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนชรา เป็นต้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมกับการประชุมขององค์การสหประชาชาติได้และสามารถแสดงความคิดเห็นในเวทีการประชุมระหว่างประเทศได้ ในการประชุม High-level Political Forum on Sustainable Development (HLPF) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมได้และมีโอกาสเท่าเทียมกับผู้แทนประเทศต่าง ๆ ในการตั้งคำถามหรือวิพากษ์สิ่งที่แต่ละประเทศนำเสนอได้

ระดับภูมิภาคเองก็มีสิ่งที่เรียกว่า The Asia-Pacific People’s Forum on Sustainable Development หรือเวทีประชาชนเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดโดยกลไกที่เรียกว่า Asia-Pacific Regional CSO Engagement หรือกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่ง forum ข้างต้นนั้นมีการจัดเป็นประจำสม่ำเสมอในเวที Asia-Pacific Forum on Sustainable Development อันเป็นเวทีระหว่างประเทศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคในช่วงเดือนมีนาคม ก่อนที่จะมีเวทีระดับโลก คือ HLPF ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี

แม้ว่าพื้นที่การมีส่วนร่วมเชิงนโยบายอย่างเป็นทางการในระดับภูมิภาคและระดับโลกนั้นมีอยู่ แต่พื้นที่การมีส่วนร่วมเชิงนโยบายอย่างเป็นทางการภายในประเทศยังมีจำกัด ปัจจุบันเวทีเดียวที่เปิดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการประชุมคณะทำงานร่วมภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Open Ended Working Group for SDGs: OEWG for SDGs) ซึ่งเป็นเวทีที่ทางกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ริเริ่มขึ้น เป็นเวทีที่ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและประชาสังคม อันทำให้เกิดความคุ้นเคยและทุนทางสังคมเพื่อการประสานงานและสนับสนุนกันต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี OEWG มิได้มีฐานะเป็นกลไกการมีส่วนร่วมทางนโยบายอย่างเป็นทางการที่มีพลังแต่อย่างใดหากเปรียบเทียบกับคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ซึ่งปัจจุบันมีคณะอนุกรรมการสำหรับภาคเอกชนโดยเฉพาะคณะหนึ่ง และคณะอนุกรรมการสำหรับภาคเยาวชนโดยเฉพาะอีกคณะหนึ่ง แต่เรื่องที่หน้าประหลาดใจที่สุดก็คือ หาได้มีคณะอนุกรรมการสำหรับภาคประชาสังคมแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่องค์กรภาคประชาสังคมแทบจะเป็นองค์กรประเภทเดียวที่เป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงให้แก่กลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ทำให้เกิดคำถามว่า ภายใต้สโลแกนที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รัฐบาลมีความจริงใจมากเพียงใด หากจริงใจจริงและดำเนินการตามแนวทางของ transformative partnership คณะกรรมการ กพย. ควรมีคณะอนุกรรมการสำหรับภาคประชาสังคมโดยเฉพาะ เพื่อรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายของภาคประชาสังคมเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

บทบาทของภาคประชาสังคมในปัจจุบันยังคงอยู่ในส่วนของการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (Thailand SDG Roadmap) ข้อที่ 5 ว่าด้วยภาคีการพัฒนา และมีบทบาทในการขับเคลื่อนระดับหน่วยงานโดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ โดยทำงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ยังคงดำเนินการอยู่ในพื้นที่นำร่อง จำนวน 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ นราธิวาส น่าน ยโสธร เลย ลพบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ฉะเชิงเทรา และ 5 พื้นที่ ประกอบด้วย เทศบาลตำบลวังไผ่ จ.ชุมพร เทศบาลเมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี อบต.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี อบจ.กระบี่ จ.กระบี่

04 – ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ภาครัฐควรดำเนินการจัดให้มีพื้นที่และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายเพื่อเป้าหมาย SDGs ของภาคประชาสังคม และเวทีการทบทวนความก้าวหน้าการขับเคลื่อน SDGs ระดับชาติ

ในส่วนของการจัดให้มีพื้นที่และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายเพื่อเป้าหมาย SDGs ของภาคประชาสังคมนั้นหมายความถึง การจัดให้มีคณะอนุกรรมการอย่างเป็นทางการสำหรับภาคประชาสังคมในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เช่นเดียวกับที่ภาคเอกชนและภาคเยาวชนได้รับ โดยมีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1. เสนอนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังสำหรับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่าง ๆ พื้นที่ที่ต้องการการพัฒนา หรือพื้นที่/ประเด็นขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนและภาคประชาสังคม

2. เสนอข้อเสนอแนะ แนวปฏิบัติและ/หรือกลไกเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับต่าง ๆ สำหรับภาคประชาสังคม ซึ่งรวมถึงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลไกสนับสนุนทางการเงิน ความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อให้ภาคประชาสังคมทำงานได้จริง

3. รวบรวมกรณีศึกษาที่ดี ประเมินผลกระทบของการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ของภาคประชาสังคม และร่วมจัดทำรายงานการทบทวนระดับชาติโดยสมัครใจ

การมีคณะอนุกรรมการภายใต้ กพย. สำหรับภาคประชาสังคมเป็นการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างให้มีการมีส่วนร่วมตามยุทธศาสตร์ภาคีการพัฒนาในระดับนโยบาย และจะทำให้ข้อเสนอของภาคประชาสังคมนั้นถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการ กพย. อย่างเป็นทางการและมีศักดิ์มีสิทธิทัดเทียมกับข้อเสนอของภาคส่วนอื่น ๆ

อีกส่วนหนึ่งคือ เวทีการทบทวนความก้าวหน้าการขับเคลื่อน SDGs ระดับชาติ ซึ่งส่วนนี้หมายถึงเวทีลักษณะเดียวกับ APFSD ในระดับภูมิภาค และ HLPF ในระดับโลก การขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs นั้นเป็นการขับเคลื่อนแบบที่ใช้เป้าหมายเป็นเครื่องมือเหนี่ยวนำให้เกิดการปฏิบัติ การขับเคลื่อนลักษณะนี้จะบังเกิดผลได้จริงเมื่อมีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ มีการให้วิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เห็นความก้าวหน้าของกันและกัน ถือเป็นการใช้ peer pressure ในการกดดันให้เกิดการดำเนินการ

ประเทศไทยยังขาดเวทีลักษณะนี้ เวทีนี้ควรเป็นเวทีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะผลัดเวียนกันมานำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินการด้าน SDGs พร้อมรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและนำความเห็นเหล่านั้นไปพัฒนาการดำเนินการของตนต่อไปได้ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานอื่นและภาคส่วนอื่น การมีเวทีทบทวนนี้จะช่วยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนการทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น รวมถึงอาจได้ความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนงานในแต่ละประเด็นต่อไปอีกด้วย

05 – ภาคประชาสังคมก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

หากจะทำให้การสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาจากท้องถิ่นสู่ระดับโลกเป็นจริงได้นั้น การปรับตัวมิอาจเกิดขึ้นในส่วนของภาครัฐได้เพียงอย่างเดียว เพราะภาครัฐก็ทำได้เพียงเป็นผู้เชื่อมให้หุ้นส่วนการพัฒนาระดับท้องถิ่นขยับมาเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาระดับชาติเท่านั้น แต่การขยับไปสู่การขับเคลื่อนหุ้นส่วนการพัฒนาระดับโลกต้องอาศัยความพยายามของภาคประชาสังคมเองด้วย โดยภาคประชาสังคมควรมีการดำเนินการต่อไปนี้

ประการแรก องค์กรภาคประชาสังคมควรเริ่มใช้ภาษา SDGs ในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยอาจเริ่มจากการเชื่อมงานที่ตนทำกับ SDGs และนำเสนองานของตนในภาษาดังกล่าว หรือเพิ่มเติมด้วยการชวนชุมชนและกลุ่มคนที่ทำงานด้วยกันมาเรียนรู้เรื่อง SDGs และนำเสนอกรณีศึกษาของคนเหล่านี้ด้วยภาษา SDGs ยิ่งหากจัดทำเป็นภาษาอังกฤษได้ จะทำให้การทำงานขององค์กรและผู้เกี่ยวข้องเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ประการที่สอง องค์กรภาคประชาสังคมควรจัดทำข้อมูลผลกระทบ (impact) ของโครงการขององค์กรตนเองโดยใช้กรอบ SDGs เป็นตัวตั้ง ข้อมูลผลกระทบนั้นควรเลือกส่วนที่เป็นตัวชี้วัดเชิงผลลัพธ์ (outcome indicators) มาใช้ในการรายงานเป็นหลัก แต่หากไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ ตัวชี้วัดเชิงผลผลิต (output indicators) อาจพอทดแทนกันได้ ข้อมูลผลกระทบจะเป็นเครื่องยืนยันว่าเราได้สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจริง และช่วยในการสื่อสารให้สาธารณะได้ทราบถึงสิ่งที่ภาคประชาสังคมได้สร้างประโยชน์แก่สังคมอย่างชัดเจนอีกด้วย

ประการที่สาม ภาคประชาสังคมควรมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อน SDGs ในเวทีภูมิภาคและเวทีโลกให้มากขึ้นและสม่ำเสมอมากขึ้น การดำเนินการใน 2 ข้อแรกจะเป็นตัวช่วยให้การมีส่วนร่วมระดับนานาชาติเป็นไปได้ง่ายขึ้นเพราะองค์กรภาคประชาสังคมได้เตรียมตัวให้พร้อมแล้วกับการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับนานาชาติในภาษา SDGs นั่นเอง

ประการที่สี่ องค์กรภาคประชาสังคมควรมีการทำงานเป็นภาคีเครือข่ายเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน โดยอาจจัดให้มีวงพูดคุยอย่างต่อเนื่องและเปิดกว้าง เพื่อให้เกิดเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคมที่สนใจขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และขยายให้กว้างขวางและครอบคลุมคนทุกกลุ่มให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป อันจะเป็นฐานสำคัญในการสร้างพลังในการผลักดันให้เกิดคณะอนุกรรมการภาคประชาสังคมเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป


Last Updated on สิงหาคม 1, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น