ปัจจุบันสามในสี่ของผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมดได้รับการรักษา ขณะที่เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีและได้รับการรักษามีเพียง 52 เปอร์เซ็นต์ หรือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพื่อแก้ไขและตอบสนองต่อการเข้าถึงการรักษาที่ต่างกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวี ในการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ (International AIDS Conference) ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา หน่วยงานซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วย โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (The Joint United Nations Programme on HIV/AIDS: UNAIDS) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ร่วมกับภาคประชาสังคม รัฐบาล และหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงได้จัดตั้งพันธมิตรระดับโลกเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่และสร้างหลักประกันว่าภายในปี 2573 เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนจะสามารถเข้าถึงการรักษาและช่วยชีวิตได้ (Global Alliance for Ending AIDS in Children by 2030)
ในช่วงการปราศรัยของการประชุมดังกล่าว Limpho Nteko ผู้เข้าร่วมการประชุมจากราชอาณาจักรเลโซโทได้บอกเล่าประสบการณ์ของตนเองจากการวินิจฉัยเชื้อเอชไอวีที่น่าประหลาดใจจากการริเริ่มโครงการ “mothers2mothers” ที่นำโดยผู้หญิงเพื่อต่อสู้กับการแพร่เชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของภาวะความเป็นผู้นำในชุมชนในการต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี ว่า
“mothers2mothers ประสบความสำเร็จในการขจัดการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการของเราต่อเนื่องกันมาเวลาแปดปี แสดงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ (การขจัดการแพร่เชื้อเอชไอวี) เป็นไปได้หากเราให้ผู้หญิงและชุมชนสร้างทางออกแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของพวกเขา”
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) จากพันธมิตรระดับโลกเพื่อการยุติโรคเอดส์ในเด็กได้ร่วมกันระบุถึงสี่เสาหลักของการดำเนินการร่วมกัน ได้แก่
- เสาหลักที่ 1 – ปิดช่องว่างการรักษาในหมู่เด็กหญิงวัยรุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนมเเม่และสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี และปรับปรุงการรักษาให้มีความต่อเนื่องอย่างเหมาะสม
- เสาหลักที่ 2 – ป้องกันและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในกลุ่มหญิงและสตรีที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- เสาหลักที่ 3 – ส่งเสริมการตรวจโรคที่เข้าถึงได้ง่าย การรักษาที่เหมาะสมที่สุด และการดูแลอย่างครอบคลุมสำหรับทารก เด็ก และวัยรุ่นที่สัมผัสและอาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- เสาหลักที่ 4 – จัดการกับความเท่าเทียมทางเพศ อุปสรรคทางสังคม และโครงสร้างที่ขัดขวางการเข้าถึงการบริการ
ทั้งนี้ การจะดำเนินการตามเป้าประสงค์และตามเสาหลักที่วางไว้ให้สำเร็จได้นั้น ขึ้นอยู่กับความเป็นเอกภาพในการร่วมมือกันของพันธมิตรทั้งหลาย ซึ่ง Winnie Byanyima ผู้อำนวยการบริหาร UNAIDS ให้เหตุผลว่า “ด้วยความร่วมมือในการพัฒนาบำบัดรักษาโรค การกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นทางการเมือง และการเคลื่อนไหวอย่างมุ่งมั่นของชุมชน คนรุ่นเราจะเป็นรุ่นที่สามารถยุติโรคเอดส์ในเด็กได้ เราจะชนะไปด้วยกัน”
ท้ายที่สุด การจะยุติโรคเอดส์ในเด็กอาจต้องคำนึงการปรับแนวทางแก้ไขให้สอดรับกับชุมชนท้องถิ่น และจำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและการระดมทรัพยากรจากทั่วโลกเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนากระบวนการทางเทคนิคที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขและยุติปัญหาดังกล่าว
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– UNAIDS จัดวงประชุมในหัวข้อ “แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อยุติโรคเอดส์ : 10 ปี ถึง 2030”
– WHO มีแผนที่จะส่งยาต้านไวรัส เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในยูเครน
– นำเสนอภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีสุขภาพดีบนสื่อให้มากขึ้น สามารถช่วยลดการตีตราที่สังคมมีต่อผู้ติดเชื้อได้
– ผู้ติดเชื้อ HIV ในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางเพิ่มขึ้น เพราะระบบสุขภาพต้องทุ่มทรัพยากรเพื่อจัดการโควิด-19
– WHO เตือน ผู้ติดเชื้อ HIV มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปเกือบ 25% เมื่อติดเชื้อโควิด-19
– UNESCO และ WHO ผลักดัน ‘โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ’ เพื่อให้สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา:
New global alliance launched to end AIDS in children by 2030 (UN)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on สิงหาคม 3, 2022