นวัตกรรมสุดอัจฉริยะ “เก้าอี้กอด OTO” ช่วยผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก สเปกตรัม (ASD) ให้รู้สึกปลอดภัยจากการสัมผัสที่เหมาะสม

“ที่ฝรั่งเศสมีเก้าอี้กอดสำหรับคนออทิสติกด้วยนะครับ” 

คำบอกเล่าของอีจุนโฮตัวละครจากซีรีย์ยอดนิยม Extraordinary Attorney Woo อูยองอู ทนายอัจฉริยะ เรื่องราวการใช้ชีวิตของทนายความอัจฉริยะผู้มีอาการออทิสติก สเปกตรัมทำให้ “เก้าอี้กอด” เป็นที่รู้จักมากขึ้น  และอีกไม่นานเก้าอี้กอดจะไม่อยู่แค่ในฝรั่งเศสอีกต่อไปเพราะผู้พัฒนามีแผนเปิดตัววางขายในเดือนกันยายนปีนี้

“เก้าอี้กอด OTO” นวัตกรรมใหม่สุดอัจฉริยะออกแบบมาเพื่อโอบกอดและปลอบโยนผู้ที่อยู่ในภาวะออทิสติก (Autistic) หรือ กลุ่มอาการออทิสติก สเปกตรัม (Autistic Spectrum Disorder : ASD) สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ถูกออกแบบและพัฒนาโดย  Alexia Audrain ช่างไม้ครุภัณฑ์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้พยายามคิดค้นผ่านการอ้างอิงจากหลักการใช้แรงกดทับร่างกาย หรือ การบำบัดด้วยการให้สัมผัสแบบลึก (deep pressure stimulation) โดยต้องการให้ผู้นั่งรู้สึกถูกบีบกอด เมื่อรู้สึกกังวลและไม่สามารถควบคุมความรู้สึกได้ ด้วยการสร้างสัมผัสทางกายภาพที่เหมาะสมและปลอดภัยในการช่วยคลายความกังวล เพราะแรงกดจะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้รับรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นและสัมผัสถึงความสงบสุขได้ในระยะเวลาอันสั้น

กลุ่มอาการออทิสติก สเปกตรัม เดิมแบ่งกลุ่มย่อยเป็น ออทิสติก แอสเพอร์เกอร์ พีดีดี เอ็นโอเอส แต่ปัจจุบันเรียกรวมกันว่า “ออทิสติก สเปกตรัม” ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมองและพัฒนาการทางระบบประสาท โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์ของมารดาและมักจะแสดงอาการให้เห็นได้ชัดในช่วงอายุ 3 ปีแรก ทั้งนี้ สามารถแบ่งอาการเป็น 3 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร และความผิดปกติของพฤติกรรม เช่น การประมวลผลทางประสาทสัมผัส เป็นต้น

นวัตกรรม “เก้าอี้กอด OTO ” Audrain พัฒนาต่อยอดจากโปรเจกต์จบการศึกษาของเขา ซึ่งได้ออกแบบเก้าอี้ให้มีลักษณะพิเศษ มีผนังด้านในบุด้วยแผ่นนุ่มที่พองตัวบีบกอดผู้นั่งไว้ ช่วยโอบรับแรงกดส่วนขาและหน้าอกของผู้ใช้งาน ให้ความรู้สึกราวกับร่างกายถูกห่อหุ้มด้วยรังไหม ลักษณะการใช้งานของ เก้าอี้กอด OTO นั้น ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ตามความต้องการทางประสาทสัมผัสของตนเอง ด้วยการควบคุมผ่านรีโมต ซึ่งมีปุ่ม + และ –  ในการเพิ่มหรือลดแรงกด ซึ่งสามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง ต่างจากการรักษาโดยบุคคลอื่น รวมถึงด้วยรูปทรงรังไหม OTO จะช่วยให้ผู้ใช้ได้รับความเป็นส่วนตัวและรู้สึกปลอดภัย โดยเบาะของเก้าอี้จะให้เสียงอู้อี้/เบา ช่วยให้ผู้ใช้มีสมาธิกับตนเองและหลีกเลี่ยงออกจากโลกภายนอกได้

จุดเด่นของ เก้าอี้กอด OTO  คือ รูปลักษณ์ของเฟอร์นิเจอร์ที่สวยงาม ช่วยให้ผู้ใช้หลีกเลี่ยงการตีตรา (stigma) ที่อาจเกิดขึ้นจากภาพจำของวัตถุที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ได้รับรางวัลหลายรางวัล อาทิ รางวัล James Dyson Award ในปี 2564 และอยู่ในระหว่างการแข่งขันเพื่อชิงรางวัลระดับนานาชาติ ซึ่งวางแผนจะมีการเปิดตัววางขายสู่ตลาดในเดือนกันยายนปีนี้

OTO The hugging chair ©Coralie Monnet

ทั้งนี้ Alexia Audrain ได้พัฒนาและปรับปรุงเก้าอี้กอด มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 โดยนำไปทดสอบใช้ในแผนกจิตเวชเด็กของ PR Bonnet-Brilhault ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศระดับชาติสำหรับออทิซึม ทำให้ค้นพบความต้องการโดยเฉพาะของผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก อย่างความผิดปกติทางประสาทสัมผัส ทั้งทางเสียงและแสง รวมถึงทางกายภาพที่อาจส่งกระทบต่อชีวิตประจำวัน และเพื่อชดเชยความผิดปกติจากสิ่งเหล่านี้ จึงเกิดแรงบันดาลใจเป็น “เก้าอี้กอด OTO ” ขึ้น

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก ถือเป็นคนอีกกลุ่มที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) พบว่า ประมาณ 1 ใน 160 คนจากเด็กทั่วโลก มีความผิดปกติของออทิสติกสเปกตรัม ขณะที่ ในสหรัฐอเมริกา เด็ก 1 ใน 54 คน ถูกระบุอยู่ในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัมเช่นเดียวกัน แม้ไม่ทราบถึงตัวเลขที่แน่ชัด การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้ จึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้น ไม่ต้องเผชิญกับความรู้สึกท่วมท้นที่ไม่อาจควบคุมได้อย่างโดดเดี่ยว แต่ให้ความรู้สึกถูกโอบรับผ่านนวัตกรรมที่ออกแบบมาอย่างครอบคลุมตามความต้องการที่หลากหลายสำหรับผู้ใช้งานทุกคน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
MediMusic แอปพลิเคชันจ่ายยาให้คนไข้เป็นเพลย์ลิสต์เพลง ช่วยลดความเครียดและความเจ็บปวดทางร่างกาย – SDG Move 
บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ Microsoft เปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริม “Adaptive Accessories” รองรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ของผู้พิการ – SDG Move 
มลพิษในมหาสมุทร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ทั้งโลกอย่างชัดเจน – SDG Move 
จิตแพทย์ช่วยคนไข้ปรับ ‘พฤติกรรมสุขภาพ’ สู่การมี ‘สุขภาพกาย’ และ ‘สุขภาพหัวใจ’ (ที่ดี) ที่นอกเหนือไปจาก ‘สุขภาพจิต’ – SDG Move 
SDG Updates | “Good Health and Well-being: เมื่อนิยามของสุขภาพดี’ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ร่างกายแข็งแรง”

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ 
– (4.a) สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีนโยบายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า 
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Inflating OTO chair is designed to hug and comfort people with autism 
OTO The hugging chair made for people with autism | James Dyson Award 
ดูซีรีส์ ทำความเข้าใจ “ออทิสติก สเปกตรัม” ผ่านทนายสาวอัจฉริยะ “อูยองอู” 
ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก Weightedblanket – Huglory – Sensory tools and toys : Inspired by LnwShop.com  

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on สิงหาคม 8, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น