ชนพื้นเมืองดั้งเดิม (indigenous people) มีสัดส่วนถึงร้อยละ 6.2 ของประชากรโลก และมีภาษาพูดกว่า 4,000 ภาษา เฉพาะประเทศไทยมีชนพื้นเมืองอยู่กว่า 6.1 ล้านคน จาก 70 ชาติพันธุ์ ซึ่งกระจายอยู่ใน 67 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค อาทิ กะเหรี่ยง ม้ง ไตหย่า ภูไท ไทยวน มอแกน อูรักละโว้ย เป็นต้น
ปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายร่วมสมัยที่สำคัญอย่างน้อยสามเรื่อง ได้แก่ หนึ่ง วัฒนธรรมและภาษาจำนวนมากของชนพื้นเมืองกำลังเสี่ยงต่อการสูญหาย สอง ระบบอาหารดั้งเดิมของชนพื้นเมืองกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และ สาม การเข้าไม่ถึงโอกาสในการพัฒนาชีวิต ทั้งเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน การศึกษา สถานะทางทะเบียนและสิทธิในที่ดินทำกิน
วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก” (International Day Of the World’s Indigenous People) เพื่อเป็นโอกาสให้ชนพื้นเมืองดั้งเดิมได้เฉลิมฉลองภูมิปัญญาของตนเอง เเละสร้างพื้นที่แห่งการสนทนาระดับโลกถึงสถานการณ์ ปัญหา และทางออกที่จะหนุนเสริมให้ประชาคมโลกตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของชนพื้นเมืองดั้งเดิม โดยปีนี้ สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Department of Economic and Social Affairs: DESA) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานดังกล่าวในรูปแบบของการจัดงานเฉลิมฉลองออนไลน์ (virtual commemoration) ตั้งแต่เวลา 09.00 – 11.00 น. (ตามเวลานครนิวยอร์ก) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วย ชนพื้นเมืองดั้งเดิม, ผู้แทนของประเทศต่าง ๆ, องค์การสหประชาชาติ, ภาคประชาสังคม, และสาธารณชนทั่วไป
สำหรับธีมหลักของงานปีนี้คือ “The Role of Indigenous Women in the Preservation and Transmission of Traditional Knowledge” หรือ “บทบาทของสตรีพื้นเมืองในการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น” โดยช่วงการการถกสนทนาจะมีวิทยากรทั้งสิ้นสี่ท่าน ได้แก่ Archana Soreng จากกลุ่มชาติพันธุ์ Kharia, Aili Keskitalo จากกลุ่มชาติพันธุ์ Sámi, Zakiyatou Oualet Halatine จากกลุ่มชาติพันธุ์ Touareg และ Hannah McGlade จากกลุ่มชาติพันธุ์ Noongar ซึ่งจะร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นสำคัญสี่ประเด็น ได้แก่
- จุดยืนที่มีลักษณะเฉพาะของสตรีพื้นเมืองในการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นคืออะไร?
- ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของกระบวนการที่นำโดยสตรีพื้นเมืองในการแก้ปัญหาระดับโลกร่วมสมัยผ่านการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิมอย่างมีประสิทธิภาพมีอะไรบ้าง?
- ภาษาพื้นเมืองมีความสำคัญต่อการพัฒนา การอนุรักษ์ และการถ่ายทอดแบบแผนทางวัฒนธรรมและองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองอย่างไร/ สตรีเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ภาษาพื้นเมืองได้อย่างไร?
- ผลของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ดั้งเดิมในการบรรเทาผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19?
ท้ายที่สุด แม้วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลกจะจัดขึ้นเพียงวันเดียวในรอบปี แต่การให้ความสำคัญกับชนพื้นดั้งเดิมทั่วโลกอย่างเท่าเทียมก็เป็นภารกิจที่ประชาคมโลกจำเป็นต้องให้ความสนใจและร่วมคิดหาแนวทางในการช่วยเหลือและหนุนเสริมบทบาทของคนกลุ่มนี้ เนื่องจากการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องวางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ ต้องเคารพซึ่งสิทธิชุมชน สิทธิในการเข้าถึงใช้ประโยชน์ทรัพยากรชุมชน สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองอันสอดรับกับปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งยอมรับว่า
“การให้ความเคารพต่อภูมิปัญญา วัฒนธรรม และการ ปฏิบัติตามประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง จะนําไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและ เท่าเทียม รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม”
นอกจากนี้ การเคารพซึ่งภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณีของชนเผ่าพื้นเมืองยังสะท้อนถึงหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive development) ที่ทำให้การก้าวไปข้างหน้าของมวลมนุษยชาติเป็นไปโดยคำนึงถึงคนทุกคนโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เข้าร่วมกิจกรรมวันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก ได้ที่ : https://us02web.zoom.us/j/81206090975
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุกคามระบบผลิตอาหารที่เก่าแก่ของชนพื้นเมืองทั่วโลก
– ผู้ป่วยชนพื้นเมืองอะบอริจิน รู้สึกว่าได้รับการดูแลและประสบการณ์ที่ดีกว่าจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นชนพื้นเมืองเหมือนกัน
– Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– ชวนติดตามกิจกรรมและชมภาพยนตร์ในสัปดาห์ชนพื้นเมือง (Indigenous Week 2021) วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2564
– แคนาดา-บริติชโคลัมเบีย จับมือพัฒนาข้อตกลงทวิภาคีอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทำงานร่วมกับชนพื้นเมือง
– มหาวิทยาลัยในแอตแลนติกร่วมจัดตั้งโครงการสนับสนุนเงินทุน เพื่อดึงดูดนักศึกษาชนพื้นเมืองและผิวสีเข้าเรียนโรงเรียนธุรกิจมากขึ้น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.5) ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.4) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.6) ส่งเสริมการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม และส่งเสริมการเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นอย่างเหมาะสมตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา:
– International Day of the World’s Indigenous Peoples 9 August (UN)
– รู้จัก ‘ชนเผ่า’ ในไทย | 6 เรื่องราว เติมฝัน เติมไฟ ความเป็นมนุษย์เท่ากัน (The Active)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย