WHO และ UNICEF สนับสนุน “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” แม้รัฐในอินเดียยังพบว่าเด็กอายุ 6-8 เดือน ร้อยละ 61 ยังขาดสารอาหารที่สำคัญตามช่วงวัยและน้ำนมแม่

นับเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์และมีคุณค่าสำหรับผู้เป็น “แม่” สัมผัสแรกแห่งความปรีดาในการซึมซับช่วงเวลาที่มีร่วมกับสิ่งมีชีวิตตัวน้อย ๆ อย่างการให้นมบุตร ‘การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่’ (breastfeeding) ช่วยให้ทารกได้เริ่มต้นชีวิตด้วยสิ่งที่ดีที่สุด นมแม่เป็นแหล่งโภชนาการที่สำคัญ ซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองและเชาว์ปัญญา (IQ) ของเด็ก รวมถึงช่วยให้ความรู้สึกปลอดภัยและสร้างความผูกพันที่มีต่อแม่ เช่นนั้นแล้ว ในเดือนสิงหาคม องค์กรพันธมิตรนมแม่โลก (World Alliance for Breastfeeding Action : WABA) จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี เป็น “สัปดาห์นมแม่โลก” เพื่อให้นานาประเทศรำลึกถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) แนะนำว่าลูกควรได้รับน้ำนมแม่อย่างเดียว นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน และควรดื่มต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น โดยควบคู่กับการรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามวัย เพราะน้ำนมแม่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์จากวิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต ได้แก่ วิตามิน A, B1, B2, B6, B12, C, D, E, K รวมถึงแร่ธาตุซึ่งได้แก่ เหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน เป็นต้น พร้อมทั้งยังช่วยสร้างแอนติบอดี (antibody) ให้ลูกได้รับภูมิคุ้มกันที่ดี 

สำหรับนมแม่ที่ผลิตได้หลังคลอดบุตร (น้ำนมเหลือง หรือ colostrum) นั้น นับเป็นวัคซีนตัวแรกสำหรับทารกที่จะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและโรคบางอย่างในเด็ก อาทิ การติดเชื้อที่หู โรคหอบหืด การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (ปอดและถุงลมปอด)  อาการท้องร่วงและอาเจียน โรคอ้วน และโรคไหลตายในเด็กทารก (Sudden Infant Death Syndrome : SIDS) ซึ่งไม่เพียงให้คุณประโยชน์แก่ทารกเท่านั้น แต่ยังช่วยในการฟื้นตัวของแม่หลังคลอด และลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในบางชนิดอีกด้วย

ผลสำรวจในรัฐฌารขัณฑ์ รัฐทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ตามตัวเลขจากแบบสำรวจสุขภาพครอบครัวแห่งชาติ (National Family Health Survey : NFHS) โดยกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อประชากรวิทยาศาสตร์ของอินเดีย พบว่า จากข้อมูลช่วงปี 2558-2559 นมแม่ช่วยลดอัตราการเกิดภาวะขาดสารอาหารในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (NFHS 4) ลดลงเกือบร้อยละ 22 และลดภาวะแคระแกร็นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (NFHS 5) ในช่วงปี 2562 – 2564  ลดลงประมาณร้อยละ 12  นอกจากนี้ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนยังเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65 ในปี 2558-2559 (NFHS 4) เป็นร้อยละ 76 ในปี 2562 – 2564 (NFHS 5) 

ขณะที่ ปัจจุบันมีผู้หญิงประมาณร้อยละ 76 ได้รับการคลอดบุตรในสถานพยาบาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี 2558-2559 แต่ถึงแม้ว่าผู้หญิง 3 ใน 4 คนจะคลอดบุตรในสถานพยาบาล แต่มีทารกเพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้นที่ได้รับนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งแท้จริงแล้วทารกทุกคนควรได้รับนมแม่ตั้งแต่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด รวมถึงควรได้รับการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และหลังจากนั้นควรได้รับสารอาหาร และพลังงานจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม ควบคู่กับการบริโภคนมแม่   อย่างไรก็ตาม ในรัฐฌารขัณฑ์ เด็กอายุ 6-8 เดือน ร้อยละ 61 กลับไม่ได้รับอาหารเสริมที่สำคัญตามช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นอาหารแข็ง (solid food) อาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว (semisolid food) หรือแม้กระทั่งนมแม่

การที่แม่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ด้วยตนเองเกิดจากหลายสาเหตุทั้งขาดความรู้ ขาดการดูแลหลังคลอด และมีวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยอาหารรูปแบบอื่น ทำให้ในระยะหลังคลอดจึงไม่มีการให้นมแก่บุตร ซึ่งการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมให้สำเร็จนั้น พบว่า จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว บุคลากรทางการแพทย์ นายจ้าง และรัฐบาล ในการช่วยส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการให้นมบุตรทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เพื่อรองรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมถึงจำเป็นจะต้องมีการดูแลอย่างเหมาะสมในระยะหลังคลอดทั้งแม่และทารกแรกเกิด

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเกราะคุ้มกันแรกที่จะช่วยป้องกันภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับเด็ก ๆ ได้แม้ในยามวิกฤต เพราะนมแม่เป็นสารอาหารจากธรรมชาติที่มีคุณค่าสูง ไม่มีค่าใช้จ่าย จึงช่วยลดภาระรายจ่ายภายในครอบครัวทั้งด้านการบริโภค และลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เพราะเมื่อเด็กมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อย ย่อมช่วยให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองได้โดยง่าย สามารถนำต้นทุนทั้งเงิน และเวลาที่ประหยัดจากการไม่ต้องพาลูกพบแพทย์บ่อย ๆ ไปใช้ในการเสริมสร้างพัฒนาการของลูกด้านอื่น ๆ รวมถึงช่วยให้สมาชิกได้ใช้เวลาร่วมกัน เกิดความอบอุ่นและความมั่นคงแก่สถาบันครอบครัว อันเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดกับตัวเด็กมากที่สุด

การให้ของแม่จึงนับเป็นของขวัญที่มหัศจรรย์ไม่เพียงแค่สำหรับลูกเท่านั้น แต่มีความหมายแก่โลกใบนี้ด้วย แม้ว่าอาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดาย หากแต่เป็นการให้ที่คุ้มค่าและยิ่งใหญที่สุด

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
การตายของแม่ในเนปาลเพิ่มขึ้น เพราะโควิด-19 ทำให้หญิงตั้งครรภ์พลาดการตรวจสุขภาพและเลือกคลอดที่บ้าน – SDG Move 
เสริมวิตามินให้แม่ให้นมบุตรชาวกัมพูชาที่บริโภคข้าวขาวเป็นหลัก ช่วยให้พัฒนาการทางภาษาของทารกดีขึ้น – SDG Move 
หน่วยดูแลสุขภาพแม่และเด็กเคลื่อนที่ในสหรัฐฯ ช่วยให้สตรีตั้งครรภ์ได้ฝากท้องฟรี – SDG Move 
การขาดแคลน ‘พยาบาลผดุงครรภ์’ ทำให้สูญเสียชีวิตแม่และทารกแรกเกิด – SDG Move 
SDG Recommends | #EndFistula ร่วมกันกำจัดปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรมในผู้หญิง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเน้นความต้องการโภชนาการของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2568
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา: 
Breastfeeding: The Best Possible Start in Life | UNICEF India 
สัปดาห์นมแม่โลก คุณค่าน้ำนมแม่ ดีที่หนึ่ง – Thaihealth.or.th 
“น้ำนมแม่” ประโยชน์แท้จากธรรมชาติ – กรมอนามัย 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on สิงหาคม 11, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น