สวัสดีครับทุกท่าน
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นหนึ่งในความหวังของการพัฒนาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ด้วยเหตุผลที่ว่า เป้าหมายชุดนี้เป็นเป้าหมายระดับโลกและไม่มีความเป็นการเมืองซึ่งในขณะนั้นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้คนในประเทศไม่สามารถร่วมมือกันได้ การนำเป้าหมายชุดนี้มาใช้อาจสามารถดึงความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้เนื่องจากมันเป็นเป้าหมายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน
ในเวลาต่อมา เป้าหมาย SDGs ยิ่งถูกมองว่าเป็นความหวังของการขับเคลื่อนการพัฒนา ของชุมชนและภาคประชาสังคมมากยิ่งขึ้นเมื่อยิ่งศึกษาลึกลงไป ทั้งนี้เป็นเพราะ หลักการพื้นฐานของเป้าหมาย SDGs มีความสอดคล้องกับหลักการทำงานของภาคประชาสังคมและการพัฒนาชุมชนอยู่เดิมแล้ว หลักการสำคัญของเป้าหมายชุดนี้คือ การพัฒนาที่ครอบคลุม (inclusive development) หรือพูดกันใน วลีสั้น ๆ ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาของชุมชนและภาคประชาสังคมมักจะเน้นการช่วยเหลือกลุ่มด้อยโอกาสหรือกลุ่มที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาคส่วนอื่น รวมถึงช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เน้นการพัฒนาที่สมดุลและรับผิดชอบต่อสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนายังเป็นหลักการที่เป็นแก่นสารของเป้าหมายชุดนี้อีกด้วย ซึ่งการทำงานของชุมชนและภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ก็สอดคล้องกับหลักการเหล่านี้เช่นกัน
จึงอาจกล่าวได้ว่า เป้าหมาย SDGs ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือเชิงบรรทัดฐาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของชุมชนและภาคประชาสังคมและในขณะเดียวกันก็ช่วยเป็นเครื่องมือในการนำทางและกำกับทิศทางการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ดีด้วยความที่เป้าหมายชุดนี้มีจำนวนมากถึง 17 เป้าหมาย 169 เป้าหมายย่อย ทำให้หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ มักให้ความสำคัญกับเป้าหมายและเป้าหมายย่อยที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น และมักหลงลืมไปว่าหลักการพื้นฐานของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร
การขับเคลื่อนแบบไม่สนใจหลักการ และทำเฉพาะเรื่องที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น คือการนำ เป้าหมาย SDGs ไปใช้แบบผิด ๆ และเป็นการบ่อนทำลาย ศักยภาพของเป้าหมาย SDGs ที่จะมาเป็นความหวังในการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตัวอย่างที่สำคัญในช่วงเวลาเร็ว ๆ นี้ ที่อาจแสดงถึงการนำเป้าหมาย SDGs ไปปฏิบัติแบบผิด ๆ คือ โครงการปลูกป่าในบางพื้นที่ เช่น โครงการปลูกป่าและการเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ในตำบลทุ่งผึ้ง อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โครงการนี้ เป็นโครงการที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนลำดับที่ 15 เป้าหมายย่อยที่ 15.2 ที่เน้นการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีผลบวกต่อเป้าหมายย่อยข้ออื่นด้วย เช่น เป้าหมายย่อยที่ 15.5 ที่มุ่งให้เกิดการปฏิบัติการเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่ตามมาที่มีการกล่าวถึงในวงภาคประชาสังคมก็คือชุมชนของชาวกะเหรี่ยงปะกาเกอะญอ คือชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่จอกฟ้า ซึ่งตั้งถิ่นฐานในพื้นที่มามากกว่า 200 ปี และจัดการพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ จัดการป่าใช้สอยป่าอนุรักษ์ทำกินแบบไร่หมุนเวียน ต้องพยายามต่อสู้เพื่อกันแนวเขตออกจากอุทยาน นอกจากนี้ยังมีการลงไปไถพื้นที่สำหรับการปลูกป่า โดยที่ไม่มีการชี้แจงกับชาวบ้านแต่อย่างใด สิ่งที่ภาคประชาสังคมมีความสงสัยก็คือ เหตุใดจึง ต้องไปปลูกป่าในพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ อยู่แล้วด้วย เนื่องด้วยผู้เขียนมิได้ลงไปติดตามตรวจสอบความจริง เพียงเห็นบทสนทนาในหน้า social media ของพี่น้องภาคประชาสังคมเท่านั้น จึงไม่อาจให้รายละเอียดเพิ่มเติมหรือยืนยันความจริงเพิ่มเติมไปมากกว่านี้ได้
แต่หากการดำเนินการปลูกป่าและเตรียมประกาศเป็นอุทยานดังกล่าวเป็นไปตามที่เห็นในหน้า social media การดำเนินการนี้เป็นการดำเนินการที่ขัดกับหลักการพื้นฐานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างน้อย 2 ข้อ
ข้อแรกคือ หลักของการพัฒนาแบบบูรณาการ (integrated development) เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป้าหมายจำนวนมากขนาดนี้ย่อมมีการขัดกัน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างของการที่การอนุรักษ์ป่า (15.2) อาจขัดกับการเข้าถึงที่ดินทำกินและปัจจัยทางเศรษฐกิจของคนชายขอบ (1.4) และทำลายมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลากว่าร้อยปี (11.4) ความขัดกันของเป้าหมาย SDGs นั้นมิได้เรียกร้องให้ไม่มีการดำเนินการ หากแต่เรียกร้องให้เกิดการหาทางออกใหม่ ๆ ที่ทำให้ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ป่าก็ได้รับการอนุรักษ์ ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นมาแต่เดิมก็ยังคงอาศัยอยู่ตามวัฒนธรรมดั่งเดิมของตนในรูปแบบที่ยั่งยืนต่างหาก
ข้อสอง คือ หลักของการพัฒนาที่ครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive development: leave no one behind) การดำเนินการข้างต้น มีความเสี่ยงที่จะทิ้งชาวบ้านกะเหรี่ยงปะกาเกอะญอข้างต้นไว้ข้างหลังอย่างยิ่ง การออกจากพื้นที่ทำกินเดิม ไปสู่พื้นที่อื่นนำมาซึ่งความสูญเสียรากทางวัฒนธรรม รวมถึงเสียฐานทรัพยากรธรรมชาติที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขาไว้ การย้ายชุมชนไปที่อื่นแทบจะไม่ปรากฏเลยว่าการย้ายนั้นได้ผลลัพธ์ที่ดีเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม ส่วนใหญ่ชุมชนที่ถูกย้ายไปมักเผชิญความยากลำบากอย่างที่ไม่เคยเป็นมา ฐานทรัพยากรที่เสื่อมโทรมกว่าที่เคยมี การชดเชยที่ไม่สมเหตุสมผล วิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ นี่คือการทิ้งชุมชนทั้งชุมชนไว้ข้างหลังเพื่อแลกกับการมีป่าที่เพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีทางออกอื่น ๆ ที่ทำให้ชุมชนยังคงทำกินอยู่ได้แต่มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สมบูรณ์ขึ้น
นอกจากนี้การที่ชาวบ้านต้องเผชิญกับการเข้ามาปลูกป่าโดยที่ไม่มีการปรึกษาหารือกันก่อน สะท้อนอย่างชัดเจนว่ากระบวนการดำเนินงานของภาครัฐ อาจขาดความครอบคลุม (inclusive) ในเชิงกระบวนการ กล่าวคือ
การขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs นอกจากจะต้องต้องครอบคลุมในเชิงผลลัพธ์ (outcome) แล้ว กระบวนการขับเคลื่อนก็ต้องครอบคลุมด้วย ความครอบคลุมในเชิงกระบวนการคือการดึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
กรณีนี้คือ ควรดึงให้ชาวบ้านชุมชนปะกาเกอะญอดังกล่าวด้วยเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการปรึกษาหารือ หาทางออกเพื่อบรรลุเป้าหมายของแต่ละฝ่ายร่วมกันอย่างยั่งยืนและทุกคนได้ประโยชน์ หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่เสียประโยชน์ไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากกระบวนการนี้มีอยู่จริง ชาวบ้านย่อมทราบถึงการเข้าไปไถเตรียมพื้นที่ปลูกป่า และย่อมไม่ออกมาต่อต้านเรื่องนี้แน่
ยิ่งภาครัฐอ้างว่าทำโครงการเหล่านี้เพื่อตอบ SDGs ยิ่งเป็นการทำลาย SDGs ไปโดยปริยาย
เพราะการกระทำดังกล่าว ทำให้ชุมชนและภาคประชาสังคมเห็นว่า SDGs กลายเป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้ในการเอาเปรียบประชาชนคนตัวเล็ก ๆ เหมือนเดิม ไม่ต่างไปจากความตกลงอื่น ๆ ที่รัฐมักอ้างผลประโยชน์ของชาติและการปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเสมอ เป็นการทำลายทุนทางสังคม (social capital) ระหว่างรัฐกับประชาสังคมที่ต่ำอยู่แล้ว ให้ต่ำลงไปกว่าเดิมอีก และทำลายศักยภาพของ SDGs ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ สำหรับ SDGs การดำเนินการต่าง ๆ จะต้องต่างไปจากเดิม (transformative) จะทำเหมือนเดิมแบบนี้ไม่ได้
เหตุการณ์นี้มันชัดเจนมากว่า หากรัฐยังทำแบบที่ทำอยู่ (business as usual) ไม่มีทางที่ SDGs จะบรรลุได้ เพราะท้ายที่สุดหากทำเช่นนี้ต่อไป ภาครัฐจะไม่ได้ความร่วมมือจากชุมชนและภาคประชาสังคมอีก รวมถึงการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ตัวหนึ่งกลับเป็นตัวการสำคัญของการทำให้ประเทศไม่ไปถึง SDGs ตัวอื่น
การดำเนินการของภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับฐานคิดขึ้นมาจนถึงรูปแบบการทำงานเลย จะต้องมองความเชื่อมโยงของเป้าหมาย/เป้าหมายย่อยที่ตนเป็นเจ้าภาพ กับเป้าหมาย/เป้าหมายย่อยอื่น ๆ แล้วหาวิธีการใหม่ ๆ และ/หรือ ทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้สุดท้ายแล้วการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของเราไม่ไปขัดแย้งกับเป้าหมาย/เป้าหมายย่อยอื่น ๆ และไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มอื่น ๆ รวมถึงยังอยู่ภายใต้หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและรับผิดชอบต่อคนทุกรุ่น (sustainable) การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive) และเสริมสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (resilience)
ดังนั้น การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยนั้น จะอาศัยแค่มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปบรรลุเป้าหมายหรือเป้าหมายย่อยในความรับผิดชอบของตนนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องตั้งหลักการทำงานและออกแบบวิธีการดำเนินการใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่ซับซ้อนด้วย มิเช่นนั้น การขับเคลื่อนแบบเดิม ๆ จะทำลายศักยภาพและความหวังของเป้าหมาย SDGs ไปโดยไม่รู้ตัว