Site icon SDG Move

Voice of SDG Move | 01 พัฒนาการของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์: ประวัติศาสตร์ของรากฐานแห่งความยั่งยืน

ยศพล สวัสดี

สวัสดีครับ

ผม ยศพล สวัสดี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยของศูนย์วิจัย SDG Move ซึ่งกำลังศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง ดัชนีความมั่นคงมนุษย์ (Human Security Index) นอกจากนี้ ผมยังเป็นผู้ที่มีความสนใจในรัฐสวัสดิการ และมีความฝันที่อยากจะเห็นผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีอิสระและปราศจากความกลัว ความสนใจของผมนั้นเกิดขึ้นมาจากการได้เป็นนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


“รัฐสวัสดิการ” ผมได้ยินคำนี้ครั้งแรกเมื่อตอนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ผมไม่เคยรู้ว่า สิ่งแบบนี้มีอยู่บนโลก จากประสบการณ์ชีวิตอันน้อยนิดที่อยู่ในประเทศไทย ทำให้ผมปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นสิ่งที่ดูเพ้อฝัน และ ไม่น่าจะเป็นจริงได้ อาจจะเป็นเพราะในตอนนั้นผมยังเป็นคนที่อ่อนต่อโลก และ ยังไม่ได้เข้าใจในอะไรมากนัก แน่นอน “รัฐสวัสดิการ” มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในโลก แต่ในตอนนั้น ผมก็ยังไม่ได้เข้าใจว่ามันเกิดขึ้น หรือ อะไรคือสิ่งประกอบสร้างที่ทำให้รัฐสวัสดิการเป็นจริงได้ แม้จะเรียนจบไปแล้ว ผมอาจจะบอกได้ว่า ความเข้าใจในคำว่ารัฐสวัสดิการของผม เปรียบเหมือนกับการประกอบจิ๊กซอว์ที่เกือบจะสมบูรณ์ แต่ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

จนกระทั่งมาถึงชีวิตการทำงานในงานเชิงนโยบายกับ SDG Move ที่ทำให้ผมสามารถเชื่อมโยงและต่อจุดของความรู้ และเริ่มมองเห็นภาพใหญ่ ในที่สุด ผมก็เข้าใจว่าสิ่งประกอบสร้างที่ทำให้รัฐสวัสดิการเป็นจริงนั้นมาจาก ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม ผมได้เห็นถึงวิวัฒนาการ ความเป็นไปที่สร้างความเป็นรัฐสวัสดิการขึ้นมา ซึ่งประกอบสร้างให้กลายเป็น “วิธีคิดของผู้คน” อันเป็นฐานคิดของรัฐสวัสดิการก็ว่าได้ และ หากเปรียบสิ่งประกอบสร้างเหล่านี้กับประเทศไทยแล้ว จะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และนั่นทำให้การที่ประเทศไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ จึงยังเป็นเรื่องของอนาคตอันแสนไกล

แม้รัฐสวัสดิการจะเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังอยู่แสนไกลสำหรับประเทศไทย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แม้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่ผมยังมีชีวิต แต่ผมเชื่อว่า ผมสามารถทำอะไรบางอย่างได้ และสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดนั่นคือ การทำงานในเชิงนโยบาย เพราะงานเชิงนโยบายเป็นงานที่ทำกับรากฐานของระบบ และ เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างวิธีคิดที่ดีที่สุด แม้ข้อจำกัดนั้นจะเป็นเรื่องความเป็นนามธรรม และ การใช้เวลาที่นาน แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่จะต้องทำ

งานที่ผมกำลังมีส่วนร่วมกับทีมวิจัยของ SDG Move เป็นเรื่องของ “ความมั่นคงของมนุษย์” อันเป็นหนึ่งในฐานคิดของความเป็นรัฐสวัสดิการ โดยหนึ่งในเป้าหมายของรัฐสวัสดิการนั้น ถูกสร้างมาเพื่อสร้างความมั่นคง ทำให้ผู้คนรู้สึกปราศจากความกลัวที่ว่า หากวันหนึ่งต้องล้มหรือตกขอบก็จะมีสิ่งช่วยเหลือคอยรองรับช่วยให้ผู้คนนั้นสามารถลุกขึ้นมาใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข ซึ่งหากความมั่นคงมนุษย์สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี ผู้คนในสังคมจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่าง ปราศจากความกลัวใด ๆ และนั่นเองทำให้ผู้คนมีอิสระที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ตนเองต้องการ ไม่ต้องกลัวว่าจะเลี้ยงตนเองไม่ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องทนการถูกกดขี่เพื่อให้เลี้ยงชีพตนเอง ไม่ต้องกลัวที่จะเข้าไม่ถึงทรัพยากร และอีกความกลัวมากมายที่มนุษย์หนึ่งคนต้องเผชิญ ซึ่งจะถูกลดทอดด้วยความมั่นคงมนุษย์

จากโอกาสที่ได้ร่วมโครงการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาดัชนีความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Index: HSI) เพื่อจัดทำดัชนีชุดนี้ คณะวิจัยของเราต้องเริ่มต้นศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า “อะไรคือความมั่นคงของมนุษย์”  ระหว่างทบทวนวรรณกรรมเราพบข้อคิดเห็นจากศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีต่อถ้อยคำนี้อย่างหลากหลาย แต่หนึ่งในประเด็นใจความสำคัญคือ วรรณกรรมที่บอกว่า มนุษย์จะมีความมั่นคงได้ต้องมีอิสระ (freedom) ในสามสิ่ง คือ อิสระจากความกลัว (Fear)  อิสระในการเข้าถึงความต้องการพื้นฐาน (Want) และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human dignity)

แผนภาพแสดง 3 องค์ประกอบสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์ ตามข้อเสนอของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs, UNOCHA)
ภาพจาก un.org

หากเราลองคิดตามอย่างคนธรรมดาที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อนอาจพอนึกภาพออกได้ไม่ยากว่าชีวิตของมนุษย์คงมั่นคงได้ยาก หากเราต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าจะมีใครมาทำร้าย หรือทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของเรา คุณภาพชีวิตของเราคงย่ำแย่หากไม่สามารถเข้าถึงความต้องการพื้นฐานอย่างอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค

แล้วศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ล่ะ? แน่นอนว่าในโลกที่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าสากลที่ทั่วโลกยึดถือ แต่มันเกี่ยวข้องอย่างไรกับความมั่นคงของมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ว่านั้นคืออะไรบ้าง ข้อคำถามเหล่านี้สร้างความสงสัยแก่ตัวผมและคณะผู้วิจัยอย่างมาก และผมในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ไปหาคำตอบเกี่ยวกับ Dignity จากการทบทวนวรรณกรรมก็ได้พบพัฒนาการของคำและความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับคำนี้ที่ผมคิดว่าน่าสนใจและหลาย ๆ คนอาจจะไม่ทราบ คงดีไม่น้อยหากเราทำความเข้าใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ประกอบเข้าไปกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนจนไปถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย Voice of SDG Move ฉบับแรกของผม

ความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน อาจจะเป็นคำหรือคีย์เวิร์ดที่เกือบทุกคนเคยได้ยิน รู้จัก หรือให้ความสนใจ และเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น คุณค่าหลัก ของผู้คนในศตวรรษที่ 21 ก็ว่าได้ แต่ทราบหรือไม่ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่สิ่งเรียกว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) ซึ่งมีประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการที่น่าสนใจ โดยบทความนี้จะนำพาไปสำรวจวิธีคิดและความเป็นมาของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิ่งที่กลายเป็นมรดกตกทอดจากอดีตสู่ปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของความเป็นมนุษย์

ย้อนไปในอดีต ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังไม่ถูกให้นิยามและมีความสำคัญมาก นอกจากนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่เกิดจากการประกอบสร้างของหลายวัฒนธรรมและความเชื่อ โดยมีพื้นของฐานคิดที่มาจาก ศาสนาและปรัชญา จุดเริ่มต้นของศักดิ์ความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นใน ยุคสมัยโรมัน ในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล ถึง ศตวรรษที่ 6 (8th century BCE – 6th century CE) ในคำว่า Dignitas Hominis (Cancik, 2002) ซึ่งเป็นภาษาละตินที่มีความหมายว่า มนุษย์ผู้มีเอกสิทธิ์ สถานะ และความเคารพ โดยคำ ๆ นี้มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิธีของยุคสมัยและวัฒนธรรมของโรมันในช่วงเวลานั้นอย่างมาก เพราะมนุษย์ผู้มีเอกสิทธิ์ สถานะ และความเคารพ ในที่นี้มีความหมายที่สื่อถึง สถานะทางสังคม อำนาจ ชื่อเสียง และศักดิ์ศรีการเป็นมนุษย์ผู้ที่มีความคู่ควรจึงแสดงถึงการเป็นมนุษย์ที่สูงกว่า มนุษย์คนอื่น ๆ เป็นผู้ที่คู่ควรกับสถานะทางสังคมที่สูงกว่า การมีชีวิตที่ดีกว่า การมีอำนาจที่มากกว่า และการเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีมากกว่าใคร ๆ โดยนิยามนี้อยู่ในช่วงเวลาของยุคก่อตั้งอาณาจักรโรมัน (Founding Period) ประมาณปี (625 ก่อนคริสตกาล (625 CE) โดยวิธีคิดนี้ เป็นวัฒนธรรมและกฎหมายที่ใช้ในการปกครองในช่วงเวลานั้น แต่แนวคิดนี้ก็ถูกตั้งคำถามในเวลาต่อมาจากนักปรัชญา นักกฎหมาย และนักวิชาการในช่วงเวลาของยุคโรมันที่เรียกว่า สาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) (510 – 27 CE) โดยผู้ที่ได้ตั้งคำถามกับนิยามของ Dignitas อย่างน่าสนใจคือ นักปรัชญาและนักกฎหมายชื่อว่า มาร์กุส ตุลลิอุส กิแกโร (Marcus Tullius Cicero) หรือ รู้จักกันในนาม กิแกโร โดยกิแกโรได้กล่าวถึงความเป็นมนุษย์ดังนี้

…[i]t is vitally necessary for us to remember always how vastly superior is man’s nature to that of cattle and other animals; their only thought is for bodily satisfactions … . Man’s mind, on the contrary, is developed by study and reflection … . From this we may learn that sensual pleasure is wholly unworthy of the dignity of the human race.

มาร์กุส ตุลลิอุส กิแกโร นักปรัชญาและนักกฎหมาย
ภาพจาก  Metropolitan me

โดยสิ่งที่กิแกโรต้องการจะสื่อสารนั้นคือ ความแตกต่างของมนุษย์และสัตว์ที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์คือ สัตว์มีความคิดเพียงแค่ต้องการที่จะตอบสนองความพอใจในทางกายเท่านั้น แต่ความคิดของมนุษย์นั้นตรงกันข้าม เพราะสามารถพัฒนาและคิดได้มากกว่าสัตว์ผ่านการเรียนและการสะท้อนความรู้และความคิดสู่กันและกัน และนี่เองทำให้เรารู้ว่าความพึงพอใจที่สัตว์ทำมันคือสิ่งที่แสดงถึงความเป็นสัตว์ ศักดิ์ศรีของความเป็นสัตว์นั้นมันไม่ได้คู่ควรหรือเทียบไม่ได้เลยกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยประโยคดังกล่าว การเป็นมนุษย์จึงหมายถึง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นอะไร หากเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งแนวคิดความเป็นมนุษย์นี้นำไปสู่คำถาม การถกเถียงและสิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งจะกลายเป็นฐานคิดและวิธีคิดของคำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาจนถึงปัจจุบัน

ความเป็นมนุษย์บนฐานคิดของศาสนา

การสิ้นสุดของสมัยคลาสสิค (Classical Antiquity) อันเนื่องมาจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (Western Roman Empire) ก็ได้นำยุโรปเข้าสู่ยุคกลาง (Middle Age) ซึ่งเป็นยุคที่ศาสนามีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์อย่างมาก และแนวคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง ในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงที่เวลาแห่งการถกเถียง การพูดคุยถึงเรื่องความเป็นมนุษย์ได้มาถึงช่วงเวลาที่มีการสะสมในช่วงยุคโรมันและเริ่มออกผล

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าและสรรพสิ่ง เป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคกลางต่างพูดถึงและถกเถียงกันเหมือนกับอย่างที่กิแกโรเคยได้เคยกล่าวเอาไว้ ช่วงเวลานี้เองที่นักคิดในกลุ่มมนุษย์นิยม (The Humanists) หรือกลุ่มผู้ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ได้พยายามที่จะนำคำว่า Dignitas และคำสอนของศาสนจักร มาผสานกันเพื่อเป็นตัวสนับสนุนความเชื่อและเน้นแนวคิดที่ว่า มนุษยชาติคือผู้มีศักดิ์ศรี เพราะมนุษย์ถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้าทำให้มนุษย์คือผู้ที่แตกต่างจากสรรพสัตว์อื่น ๆ มนุษย์คือผู้ที่มีศักดิ์ศรีโดยกำเนิด ซึ่งแนวคิดการเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีโดยกำเนิดนั้นมีความน่าสนใจโดยแนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากฐานคิดของโลกตะวันตกที่ถูกสร้างโดยการผสมผสานระหว่างศาสนายูดาห์และคริสต์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากยุคโรมันนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ทำให้ศาสนาคริสต์บางนิกายได้นำแนวคิดที่ว่า มนุษย์ถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้ามาเป็นศูนย์กลางของแนวคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และทำให้มันกลายเป็นคำสอนในที่สุด

หลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนที่สุดว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหนึ่งในรากฐานของศาสนาคริสต์ปรากฏอยู่ในคำสอน โดยเนื้อหาหลักของคำสอนที่ศาสนาค่อนข้างให้ความสำคัญคือ การเป็นมนุษย์ต่างจาการเป็นสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกใบนี้ เพราะมนุษย์คือผู้ที่สามารถรักได้ สื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันได้ รู้จักแบ่งปัน และจนกระทั่งในยุคเรเนซอง (Renaissance) ได้มีนิยามเรื่องการมีเป้าหมายและกำหนดชีวิตของตัวได้ด้วยเจตจำนงของตนเอง เป็นหนึ่งในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยกลุ่มมนุษย์นิยมในยุคเรเนซองชี้ว่า

นิยามของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคำสอนของของศาสนจักรของคริสต์และนิยามของความเป็นมนุษย์ในยุคโรมัน ทำให้เกิดข้อสรุปใหม่ว่า หนึ่งในสิ่งที่พระเจ้าได้มอบให้กับมนุษย์นั้น คือ ความมีเหตุผล (Gift of Reason) และความมีเหตุผลนี้เองคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีเจตจำนงเสรีที่จะสามารถเลือกชีวิตของตนเองได้

 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนฐานคิดของปรัชญาและการเมือง

ในศตวรรษที่ 18 หรือยุคแสงสว่าง (The Enlightenment) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีภาวะสมัยใหม่ (Modernity) ศาสนามีบทบาทที่น้อยลงต่อชีวิตมนุษย์ เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนได้ศึกษาและสรรสร้างองค์ความรู้และปรัชญาต่าง ๆ ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ได้ถูกตั้งคำถามอีกครั้งกับการขบคิดเชิงปรัชญาของนักปรัชญาชื่อดังหลายคนในยุคนั้น หนึ่งในแนวคิดที่โด่งดังที่สุดคือ Autonomy หรือการปกครองตัวเอง โดย อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใกล้เคียงกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุดจากที่เคยถูกนิยามไว้กับความหมายของศาสนา

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมบางอย่าง นำไปสู่ความเชื่อมโยงในวิธีคิดกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปฏิวัติฝรั่งเศส (Révolution française) ที่ได้ทำการสร้างประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Déclaration des droits de l’homme et du citoyen de 1789) เพื่อประกาศว่า เดิมทีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เคยเป็นเพียงแค่ของเหล่าขุนนาง บัดนี้ได้กลายเป็นของประชาชนทุกคนแล้ว นอกจากนี้การปฏิวัติฝรั่งเศสได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นสาธารณรัฐและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่งานเขียนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้กลายหนึ่งในเป็นฐานคิดของสาธารณรัฐ และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ เช่น การเลิกทาส การต่อสู้กับแนวคิดสังคมนิยมแบบสุดโต่ง เป็นต้น

โดยภายหลัง แนวคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายในศตวรรษที่ 19 ได้ถูกทำให้กลายเป็น ข้อเท็จจริง และ ถูกทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับขีวิตของมนุษย์อย่างไร ส่งผลให้นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น การใช้ต่อสู้กับแนวคิดของนาซีในช่วงสงครามโลก การสร้างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นต้น และการเคลื่อนไหวนี้ยังดำเนินมาถึงปัจจุบันหรือ ศตวรรษที่ 21 นั่นเอง

ภาพ Liberty Leading the People (La Liberté guidant le peuple) (1830)
ภาพวาดโดยเออแฌน เดอลาครัว เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการปฏิวัติเดือนกรกฎาคมใน ค.ศ. 1830 
ภาพจาก histoire image

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : รากฐานของความยั่งยืน

จากวิวัฒนาการของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำให้เราเห็นว่า เดิมทีจากที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นของเพียงแค่อภิสิทธิ์ชน บัดนี้ได้กลายเป็นเรื่องของทุก ๆ คน ซึ่งในระหว่างทางของการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการ จะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้แอบแฝงอยู่ในชีวิตเราหลายอย่างได้อย่างแนบเนียน อาทิ การที่เราได้มีอิสระเสรี มีสิทธิเสรีภาพ ใช้ชีวิตได้อย่างปราศจากความกลัว ก็เป็นผลมาจากการต่อต้านการเลิกทาส และ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ก็เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากวิวัฒนาการของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้ด้วยเช่นกัน เพราะฐานคิดที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือ สิทธิมนุษยชน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้เอง โดยเป้าหมายเกือบทั้งหมดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน (มากกว่า 90%) สอดคล้องกับพันธกิจของสิทธิมนุษยชน นั่นหมายความว่าหากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความก้าวหน้า พันธกิจของสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็จะก้าวไปข้ามด้วยเช่นกัน นั่นหมายถึง ผู้คนจะสามารถใช้ชีวิตที่ถูกเติมเต็มโดยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มากขึ้น ความกลัวที่มีต่อสิ่งคุกคามลดลง และนั่นหมายถึงการพัฒนาในมนุษย์อย่างยั่งยืน

หนึ่งในเป้าหมายของรัฐสวัสดิการ คือการทำให้โครงสร้างทางสังคมเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่ต้องอาศัยการแก้ไขเฉพาะหน้าอย่างระบบการสงเคราะห์ที่หลายครั้งอาจลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

การทำงานเชิงนโยบายของผมจะยังดำเนินต่อไป เพื่อความฝันของผมเองที่อยากจะเห็นผู้คนใช้ชีวิตอย่างอิสระ แต่การทำงานกับระบบนั้นเป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียวนั่นทำให้ผมอยากจะเล่าเรื่องราวที่เป็นจุด ๆ หนึ่งของประวัติศาสตร์ แต่หากนำมาเชื่อมโยงกันทั้งจากความรู้ที่ผู้อ่านรู้ก็ดี ความรู้ที่ผมจะเขียนในครั้งต่อๆ ไปก็ดี ก็จะทำให้เห็นถึงกระบวนการสร้างวิธีคิด และสิ่งประกอบสร้างต่าง ๆ ที่ทำให้ความมั่นคงมนุษย์นั้นเป็นจริงได้ในรูปแบบของสิ่งที่เรียกว่า รัฐสวัสดิการ ซึ่งการเผยแพร่องค์ความรู้นี้ ทำให้ผมคาดหวังว่า ผู้ที่อ่านหรือมีความสนใจ อาจจะได้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ตนเองรู้ เกิดเป็นความเข้าใจใหม่ ๆ การมองเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น และนำไปสู่พูดคุยแลกเปลี่ยน ถกเถียง ที่นำไปสู่การตระหนักรู้บางอย่าง ที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนในการสร้างวิธีคิดแบบ รัฐสวัสดิการแก่ผู้คนในสังคม



Voice of SDG Move – คอลัมน์ของคน SDG Move ที่อยากเอาเรื่องงานมาบอกเล่าผ่านมุมมองส่วนตัว

ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์- บรรณาธิการ
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ -บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ

แหล่งอ้างอิง

Kretzmer, D., & Klein, E. (2002). The Concept of Human Dignity in Human Rights Discourse. Kluwer Law International.

McCrudden, Christopher. (2008). Human Dignity and Judicial Interpretation of Human Rights. The European Journal of International Law Vol. 19 No. 4.
Sarah Rattray, Policy Specialist for Human Rights. “Human Rights and the Sdgs – Two Sides of the Same Coin: United Nations Development Programme.” UNDP, https://www.undp.org/blog/human-rights-and-sdgs-two-sides-same-coin.

Author

  • Researcher Assistant at SDG Move | อยากเห็นผู้คนได้มีอิสระตามความฝันและความต้องการของตนเอง ในสังคมประชาธิปไตยที่มอบรัฐสวัสดิการให้ประชาชน

Exit mobile version