Site icon SDG Move

The Body Shop ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม เปิดตัว ‘Refill stations’ วางแผนติดตั้งทุกสาขาทั่วสหรัฐฯ หวังช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก

หลายคนคงคุ้นเคยชื่อกันเป็นอย่างดีกับแบรนด์ “The Body Shop” ผลิตภัณฑ์ด้านความงามสัญชาติอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีความโดดเด่นในด้านความงามเพียงเท่านั้น แต่ The Body Shop ได้ดำเนินการอย่างชัดเจนในการสนับสนุนลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก ซึ่งกลายเป็นอีกจุดเด่นสำคัญของแบรนด์ โดยภายในสิ้นปี 2565 แบรนด์ The Body Shop ได้วางแผนติดตั้งสถานีเติมผลิตภัณฑ์แบบรีฟิล หรือ ร้านรีฟิล (refill stations) ในสาขาต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าการออกแบบสถานีเติมผลิตภัณฑ์แบบรีฟิล จะช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตมาจากพลาสติก รวมถึงเป็นอีกแรงผลักดันให้แบรนด์ต่าง ๆ หันมาใส่ใจต่อการผลิตสินค้าด้านความงามให้มีความยั่งยืนไปพร้อมกับลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากแพลตฟอร์มการดำเนินการด้านพลาสติกของอุตสาหกรรมความงาม rePurpose พบว่า อุตสาหกรรมความงามสร้างบรรจุภัณฑ์พลาสติกปริมาณกว่า 120 พันล้านชิ้น ซึ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกปริมาณกว่าร้อยละ 70 ที่ผลิตออกมากลายเป็นขยะและสิ้นสุดลงในหลุมฝังกลบ ขณะที่ร้อยละ 95 ของบรรจุภัณฑ์ ถูกผลิตออกมาโดยวัสดุแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาจนับได้ว่าอุตสาหกรรมความงามเป็นแหล่งที่สร้างขยะจำนวนมหาศาล ส่งผลให้แบรนด์ระดับโลกต่าง ๆ พยายามมองหาแนวทางลดการใช้พลาสติกที่ยั่งยืน โดยสถานีเติมผลิตภัณฑ์แบบรีฟิลเป็นหนึ่งในวิธีที่ตอบโจทย์ความท้าทายนี้  

ภาพจาก : NYLON SINGAPORE

แบรนด์ The Body Shop ได้เปิดตัวสถานีเติมผลิตภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา โดยมีการวางแผนจะติดตั้งให้แล้วเสร็จทุกสาขาทั่วสหรัฐฯ (ปัจจุบันมีจำนวน 85 สาขาทั่วประเทศ) ให้ได้ร้อยละ 49 ภายในสิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่ผลิตภัณฑ์จะได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงการกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ง่ายที่สุด 

จากการดำเนินงานเปิดตัวสถานีเติมผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมา 400 แห่งทั่วโลก พบว่า The Body Shop ช่วยลดการใช้พลาสติกไปแล้วมากกว่า 3.7 ตัน จึงมีรายงานว่าแบรนด์มีแผนเพิ่มจำนวนสถานีเติมผลิตภัณฑ์อีก 400 แห่งภายในปีนี้ นอกเหนือจากในสหรัฐฯ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว บริษัท B corp หรือ บริษัทรับรองมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงมิติทางสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ให้การรับรองว่า เป้าหมายดังกล่าว จะช่วยลดปริมาณพลาสติกจากห่วงโซ่อุปทานไปได้ถึง 25 ตัน ซึ่งการหันมาใช้สถานีเติมผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นถือเป็นอีกตัวช่วยในการลดขยะเป็นศูนย์ (zero-waste) อีกทางหนึ่ง รวมถึงยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่ให้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 5 ปอนด์อีกด้วย 

แผนการดังกล่าวเริ่มต้นดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2562 ในสาขา Bond Street ณ เมืองหลวงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากการให้ผู้บริโภคทดสอบใช้สถานีเติมผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้น ซึ่งผลลัพธ์พบว่า มีกระแสตอบรับที่เป็นบวก โดยร้อยละ 50 ของผู้บริโภคเลือกใช้การรีฟิลมากกว่าซื้อบรรจุภัณฑ์ใหม่

สถานีเติมผลิตภัณฑ์นั้น ถูกออกแบบมาให้ผู้บริโภคใช้งานได้ง่าย มีรายการแสดงประเภทของผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีฟิลได้อย่างชัดเจน ซึ่งในแต่ละสาขาจะมีจำนวนผลิตภัณฑ์ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับขนาดของสาขา โดยจะมีตั้งแต่ 6-12 รายการ อาทิ เจลอาบน้ำ แชมพู ครีมนวด เป็นต้น ทั้งนี้ หากลูกค้านำบรรจุภัณฑ์มารีฟิลเอง จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปด้วย ซึ่งเดิมหากเคยซื้อแชมพูปริมาณเท่ากันจะต้องจ่าย 12 เหรียญ (ประมาณ 426 บาท) สำหรับรับขวดใหม่ แต่หากเลือกแบบรีฟิล จะจ่ายแค่เพียง 9 เหรียญ (ประมาณ 319 บาท) เท่านั้น อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินการดังกล่าว จะได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี แต่พบว่ายังมีข้อจำกัดในการติดตั้งบางพื้นที่ เนื่องด้วยบางสาขาอาจมีพื้นที่น้อยทำให้ในแต่ละสาขามีระเบียบและข้อบังคับในการติดตั้งที่แตกต่างกันออกไป

ท้ายที่สุดนี้ การดำเนินการของ The Body Shop สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมความงามสามารถขับเคลื่อนให้เกิดเป็นความงามที่ยั่งยืนไปพร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปได้ ทั้งยังสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้นั้น มาจากกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดแล้ว

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ของมันต้องมี? แบรนด์ Trestique ผลิตเครื่องสำอางแบบรีฟิล ใช้ได้ตลอดไปไม่ก่อขยะเพิ่ม – SDG Move 
‘Green Salon Collective’ ขับเคลื่อนธุรกิจทำผมที่ยั่งยืน ด้วยบริการรีไซเคิลเศษผมจากซาลอนทั่วสหราชอาณาจักร – SDG Move 
Closing the Loop’ บริการเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปิดลูปขยะที่จัดการไม่ได้ในแอฟริกา ส่งไปยุโรปให้ช่วยทำแทน – SDG Move 
แบรนด์ค้าปลีกด้านแฟชั่นสัญชาติไอริช “Primark” ประกาศขยายการดำเนินงาน ‘โครงการฝ้ายเพื่อความยั่งยืน’ – SDG Move 
ร่วมเรียนรู้ประเด็นการผลิตและการบริโภคเพื่อความยั่งยืนจากเรื่องราวของอิตาลี และอาเซียน ผ่านฟอรัมเสวนา – SDG Move

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 256
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568

แหล่งที่มา:
–  The Body Shop Refill Stations Are Rolling Out Across U.S. Locations Now (greenqueen).

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version