วิชญ์พาส พิมพ์อักษร
ในตอนที่แล้วเราได้พาทุกคนทำความรู้จักกับร่างกฎหมาย PRTR (กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม: Pollutant Release and Transfer Register) ที่ตัวแทนพรรคการเมือง และ ภาคประชาชนพยายามผลักดันเพื่อให้มันเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย หากอ่านเนื้อความตามตัวอักษรอาจดูเหมือนว่ากฎหมายฉบับนี้มุ่งคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ สิทธิการเข้าถึงข้อมูล อีกทั้งประเทศที่มีกฎหมาย PRTR บังคับใช้ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง (เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น) เช่นนั้นแล้ว PRTR จะเป็นเพียง “กฎหมายของคนรวย” ที่เหมาะกับบริบทของพวกเขามากกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือไม่?
เพื่อคลายข้อสงสัยเหล่านี้ SDG Insights ขอเล่าภาคต่อพาทุกคนย้อนไทม์ไลน์ถึงเรื่องราวที่จุดประกายให้สังคมลุกขึ้นมาเรียกร้องกฎหมายฉบับนี้
| PRTR เริ่มต้นจากภัยพิบัติอุตสาหกรรมที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
เกือบทุกครั้งที่มีการพูดถึงกฎหมาย PRTR มักมีการกล่าวถึงภัยพิบัติโภปาล (Bhopal disaster)[2] ในฐานะภัยพิบัติทางอุตสาหกรรมที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในโลกและเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มนุษย์ตื่นตัวเกี่ยวกับการมีสารเคมีอันตรายและสารพิษร้ายแรงอยู่ใกล้กับพื้นที่อยู่อาศัย โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกลางคืนระหว่างวันที่ 2 และ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) จากการระเบิดของถังบรรจุก๊าซเมทิลไอโซไซยาเนต (methyl isocyanate) หรือสาร MIC ในโรงงานผลิตสารกำจัดศัตรูพืชเซวิน (Sevin) ของบริษัทยูเนียน คารไบด์ อินเดีย จำกัด (Union Carbide India Limited) หรือบริษัท UCIL ที่เมืองโภปาล (भोपाल) ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทยูเนียน คาร์ไบด์ คอร์ปอเรชัน (Union Carbide Corporation) หรือบริษัท UCC ในสหรัฐอเมริกา
เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีถึง 2,259 คน บาดเจ็บและเจ็บป่วยมากกว่า 558,125 คน และเสียชีวิตภายใน 15 ปี อย่างน้อย 22,000 คน สาร MIC เป็นอันตรายต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน (ภายใน 6 เดือนหลังการสัมผัส) คือ ทำให้เยื่อบุตาบวมแดง น้ำตาไหล ตาเป็นแผลเปื่อย ตาสู้แสงไม่ได้ หายใจลำบาก ปอดบวมน้ำ ปอดอักเสบ มีก๊าซขังในเยื่อหุ้มปอด ท้องเสียรุนแรง ปวดท้องรุนแรง เบื่ออาหาร โครโมโซมผิดปกติเพิ่มขึ้น มีอาการวิตกกังวล มีปัญหาในการปรับตัว การมองเห็นและการได้ยินบกพร่อง ความระมัดระวังลดลง การตอบสนองช้า ความสามารถในการใช้เหตุผลลดลง เคลื่อนไหวผิดปกติ และมีอันตรายในระยะยาวหรือเรื้อรัง คือ ทำให้แก้วตาขุ่น เป็นโรคเยื่อตาขาวอักเสบเรื้อรัง โรคในกลุ่มโรคหลอดลม ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง ตั้งครรภ์ยาก เพิ่มอัตราการตายของทารก ทารกในครรภ์น้ำหนักน้อย โครโมโซมผิดปกติ และความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ปัจจุบันซากโรงงานดังกล่าวยังคงถูกทิ้งร้างและกลายเป็นแหล่งปล่อยสารพิษปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด[3]
เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลซึ่งปัจจุบันยังมีการประกาศเขตอันตราย (zone of alienation) ซึ่งมีสารกัมมันตรังสีปริมาณสูงจึงต้องห้ามมนุษย์เข้าไปและต้องจำกัดเวลาทำงานของเจ้าหน้าที่ในบริเวณโดยรอบ อุบัติเหตุการระเบิดของเครื่องปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลเกิดขึ้นเมื่อเช้ามืดวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) 2 ปีหลังจากภัยพิบัติโภปาลมีผู้เสียชีวิตจากแรงระเบิด 47 คน เสียชีวิตจากการสัมผัสรังสี 10,000 – 200,000 คน และคนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดประมาณ 6.6 ล้านคน[4]
สิ่งที่เหมือนกันในผลการสอบสวนเกี่ยวกับภัยพิบัติโภปาลและภัยพิบัติเชอร์โนบิล คือ ภัยพิบัติทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดจากความประมาทของผู้ควบคุมดูแลอุปกรณ์และมีการปกปิดความชำรุดบกพร่องของเครื่องจักร
ภัยพิบัติ 2 เหตุการณ์นี้ จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูล (Right-to-Know) เกี่ยวกับสารพิษ สารเคมี และวัตถุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นที่มาของการจัดทำทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers) หรือ PRTR[5]
| กฎหมาย PRTR ฉบับแรกของโลก
บ่ายวันที่ 7 มีนาคม และเช้าวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1985) โรงงานของบริษัทยูเนียน คาร์ไบด์ คอร์ปอเรชัน ในเมืองชาร์ลสตัน รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ก็เกิดเหตุสาร MIC รั่วไหล ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10 คนและ 135 คนตามลำดับ[6] สหรัฐอเมริกาจึงเป็นประเทศแรกที่เคลื่อนไหวเพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูล โดยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) รัฐสภาสหรัฐได้ผ่านกฎหมายการจัดทำแผนฉุกเฉินและสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูล (Emergency Planning and Community Right-to-Know Act) หรือ EPCRA เพื่อช่วยให้ชุมชนในอเมริกาสามารถรับมือกับวัตถุอันตรายจำนวนมากได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ (1) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับอุบัติเหตุทางเคมี และ (2) เพื่อจัดทำข้อมูลให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและสาธารณะเกี่ยวกับภยันตรายทางเคมีในแต่ละชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรม ประชาชนที่สนใจ องค์กรสิ่งแวดล้อมและประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ และองค์การบริหารทุกระดับชั้น กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการจัดทำแผนฉุกเฉินส่วนท้องถิ่น (Local Emergency Planning Committee หรือ LEPC) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐ (State Emergency Response Commission หรือ SERC) คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้ มีความรับผิดชอบหลัก คือ
- กำหนดแผนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองสาธารณะจากอุบัติเหตุทางเคมี
- กำหนดมาตรการเตือนภัยและมาตรการอพยพประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อจำเป็น
- จัดทำข้อมูลสำหรับประชาชนและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายและการปล่อยสารเคมีในชุมชน และ
- สนับสนุนการจัดทำรายงานสาธารณะประจำปีเกี่ยวกับการปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษออกสู่อากาศ น้ำ และดิน
รายงานสาธารณะประจำปีนี้จะถูกรวบรวมโดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (United States Environmental Protection Agency) หรือ EPA ซึ่งเป็นสำนักงานอิสระที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในหน้าที่นั้นคือการจัดทำคลังข้อมูลการปล่อยสารพิษ (Toxics Release Inventory) หรือ TRI ซึ่งเป็นคลังข้อมูลการปล่อยสารพิษที่เกิดขึ้นเป็นประจำจากแหล่งกำเนิดที่กำหนด คลังข้อมูลนี้มีขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับการปล่อยสารพิษ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระเบียบข้อบังคับ แนวนโยบาย และมาตรฐาน
ข้อมูลจำเป็นสำหรับ TRI ได้รับการกำหนดให้ชัดเจนขึ้นโดยกฎหมายป้องกันและควบคุมมลพิษ ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) (Pollution Prevention Act of 1990) เช่น การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด การรีไซเคิล และการบำบัด โดยกฎหมายการจัดทำแผนฉุกเฉินและสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมที่กำหนดมีหน้าที่ยื่นแบบรายงานคลังข้อมูลการปล่อยสารพิษ (Toxic Chemical Release Inventory Form) ต่อสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐภายในวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี คลังข้อมูลการปล่อยสารพิษ หรือ TRI และกฎหมายการจัดทำแผนฉุกเฉินและสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูล หรือ EPCRA ของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR และกฎหมาย PRTR ฉบับแรก ๆ ของโลกที่มีผลบังคับใช้[7]
| จากกฎหมายภายในสู่พันธกรณีระหว่างประเทศ
ต่อมา เมื่อวันที่ 3-14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) สหประชาชาติได้จัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development – UNCED) หรือที่เรียกว่า Earth Summit ที่กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เป็นการประชุมระดับโลกเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการประชุมสิ่งแวดล้อมมนุษย์ครั้งแรกที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อปี พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) โดยได้เชิญผู้นำทางการเมือง นักการทูต นักวิทยาศาสตร์ ตัวแทนสื่อ และองค์การนอกภาครัฐ จาก 179 ประเทศ เพื่อร่วมกันหาทางจัดการผลกระทบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม[8] การประชุมนี้ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่า “การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลกในหลายทศวรรษที่ผ่านมาสร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรง เพื่อยับยั้งหายนะในอนาคต โลกของเราจึงจำเป็นต้องมุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น”[9] ข้อสรุปนี้ทำให้เกิดเอกสารสำคัญระหว่างประเทศหลายฉบับซึ่งมีเอกสารสำคัญ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ PRTR คือ
(1) ปฏิญญารีโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) ซึ่งมีหลักการข้อที่ 10 ระบุว่า การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดต้องคือการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในระดับที่เกี่ยวข้อง ในระดับชาติทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงที่เหมาะสมในข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุและกิจกรรมที่เป็นอันตรายในชุมชนของเขา และโอกาสในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการรับรู้และการมีส่วนร่วมของสาธารณชนโดยทำให้ข้อมูลมีการเข้าถึงอย่างกว้างขวาง จะต้องจัดให้มีการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการชดใช้และการเยียวยา[10] และ
(2) Agenda 21 หรือแผนปฏิบัติการของศตวรรษที่ 21 ซึ่งในส่วนที่ 2 การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรเพื่อการพัฒนา มีข้อ 19.40.b ที่ระบุว่า รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น โครงการคลังข้อมูลการปล่อยมลพิษ ผ่านการจัดฝึกอบรมการใช้ระบบดังกล่าว ตลอดจนซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ[11]
ความเคลื่อนไหวของประเทศต่าง ๆ หลังการประชุม Earth summit
ในระหว่างการประชุมหลายประเทศก็ได้จัดทำ PRTR เช่น
- ประเทศแคนาดาเริ่มจัดทำคลังข้อมูลการปล่อยมลพิษแห่งชาติ (National Pollutant Release Inventory – NPRI) ในปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) และพร้อมใช้ในปีถัดมา คลังข้อมูลการปล่อยมลพิษแห่งชาตินี้มีผลบังคับให้ทุกโรงงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำรายงานประจำปียื่นต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศแคนาดา (Environment and Climate Change Canada) หรือ ECCC ภายในวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแคนาดา (Canadian Environmental Protection Act, 1999) หรือ CEPA 1999 ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000)[15]
- ประเทศออสเตรเลียเริ่มพัฒนาคลังข้อมูลมลพิษแห่งชาติ (National Pollutant Inventory) หรือ NPI ในปี พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) แล้วปีต่อมาสภาคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Protection Council) หรือ NEPC ก็นำ NPI ไปใช้โดยพัฒนามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสำหรับ NPI (National Environment Protection (National Pollutant Inventory) Measure) หรือ NPI NEPM เป็นกรอบกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) เพื่อให้การจัดทำ NPI มีมาตรการบังคับกับโรงงานที่เกี่ยวข้อง[16]
- ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community) หรือ EEC มีอนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม หรืออนุสัญญาอาร์ฮูส (Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-Making and Access to Justice in Environmental Matters or Aarhus Convention) ซึ่งเปิดให้ลงนามเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1998) ที่เมืองอาร์ฮูส ประเทศเดนมาร์ก[17] อันมีเนื้อหาเป็นการวางหลักเกณฑ์ที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิทางสิ่งแวดล้อม 3 ประการตามหลักการข้อที่ 10 ของปฏิญญารีโอ ต่อมาในปี 2544 (ค.ศ. 2001) สหภาพยุโรปก็เริ่มจัดเก็บข้อมูลมลพิษผ่านทำเนียบการปล่อยมลพิษยุโรป (European Pollutant Emission Register) หรือ EPER ซึ่งพร้อมเผยแพร่ในอีก 3 ปีให้หลัง[18]
ในช่วงเวลานั้นก็มีพิธีสารว่าด้วยทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษตามอนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม หรือพิธีสารคีฟ (Protocol on Pollutant Release and Transfer Registers to the Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-Making and Access to Justice in Environmental Matters or Kiev Protocol) ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมวิสามัญโดยภาคีของอนุสัญญาอาร์ฮูสเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 2003) ที่กรุงคีฟ ประเทศยูเครน[19] เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกที่ระบุถึงการจัดทำ PRTR เป็นการเฉพาะ และจัดตั้งทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษยุโรป (European Pollutant Release and Transfer Register) หรือ E-PRTR ขึ้นมาแทน EPER ปัจจุบัน E-PRTR มีประเทศสมาชิก 33 ประเทศ[20]และทั่วโลกมีประเทศที่มีกฎหมาย PRTR แล้วมากกว่า 50 ประเทศ[9] โดย PRTR ของทุกประเทศที่กล่าวถึงในบทความนี้ เราเองก็สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ต้องสมัครสมาชิกหรือใช้รหัสผ่านแต่อย่างใด
ความเคลื่อนไหวของประเทศไทย เมื่อได้รับสัญญาณจากระดับโลก
ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2535 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางกฎหมายหลายประการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการสาธารณสุข เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535[12] พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535[13] พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535[14] แต่ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำ PRTR ต่อมาภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ก็ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้โรงงานบางประเภทที่มีการประกอบกิจการที่ยุ่งยากซับซ้อนหรือที่จะต้องใช้หลักวิชาการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะ เช่น
- กำหนดมาตรการฐานการควบคุม ตรวจสอบของโรงงานประเภทต่าง ๆ เช่น โรงงานสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำ (boiler) โรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (boiler) หรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวหรือก๊าซเป็นสื่อนำความร้อน โรงงานที่มีการควบคุมการปล่อยของเสียและมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โรงงานที่มีการใช้สารกัมมันตรังสี มีหน้าที่ที่ต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานตามที่ทางราชการกำหนด เช่น ข้อมูลการผลิต การตรวจ และการทดสอบความปลอดภัย การตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ การวิเคราะห์ปริมาณสารมลพิษในระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชนิด จำนวน แหล่งที่มา วิธีการใช้ และการเก็บรักษาสารกัมมันตรังสี เป็นต้น[21]
- มีการออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดรายละเอียดในอีก 15 ปีให้หลัง คือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งถูกยกเลิกโดยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ. 2558 เพื่อกำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ต้องรายงานให้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงานให้เป็นไปตามหลักวิชาการและสามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์[22]
- ออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง แบบรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ. 2559[23] ซึ่งมีศักดิ์เท่ากับประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง กําหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ต้องจัดทํารายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ. 2553 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2550ฯ แต่ยังมีผลบังคับใช้อยู่[24] บทบัญญัติเหล่านี้กำหนดเพียงการรายงานเกี่ยวกับการประกอบกิจการต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่จำกัดเฉพาะโรงงานไม่กี่ประเภท จนกระทั่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เพิ่มข้อ 7 ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535)ฯ ให้มีเนื้อหาเป็นการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งข้อมูลที่จำเป็น เกี่ยวกับสารมลพิษหรือสารเคมีในการประกอบกิจการโรงงาน เพื่อประโยชน์ในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามกฎหมาย[25]
อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535)ฯ จนถึงการแก้ไขครั้งล่าสุดในปี 2563 และกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2558ฯ ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2553ฯ และประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2559ฯก็ยังเป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ของโรงงานอุตสาหกรรมในการจัดทำรายงานต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวสู่สาธารณะอันจะเป็นการรับรองสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูล และไม่มีบทบัญญัติที่เป็นบทบังคับ ในกรณีที่โรงงานซึ่งมีหน้าที่จัดทำรายงานดังกล่าวไม่จัดทำรายงานแจ้งข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันยังห่างไกลจากการจัดทำทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR และกล่าวได้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย PRTR
อีกทั้ง เมื่อต้นปี 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลได้เสนอ“ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….” ซึ่งเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 และในระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนั้น วันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติว่า “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….” เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ด้วยคะแนนเสียง 21 ต่อ 6 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง[26] ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 133 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[27] แล้วในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีบัญชาการไม่รับรอง “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….” โดยไม่ระบุเหตุผล[28] ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกปัดตกไป
แต่ก็ใช่ว่าโอกาสที่ประเทศไทยจะมีกฎหมาย PRTR จะหายไปเสียทีเดียว เพราะตอนนี้เรามี “ร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ภาคประชาชน” ที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนได้ยื่นเรื่องริเริ่มเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2022 ณ อาคารรัฐสภา เพื่อเริ่มการรวบรวม 10,000 รายชื่อในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป สิ่งที่คนธรรมดาทำอย่างพวกเราควรทำคือการติดตามความเคลื่อนไหวของการพิจารณาร่างกฎหมายจากภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด และร่วมส่งสัญญาณในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเช่น การร่วมลงชื่อหรือรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ
อ่านร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนฉบับนี้ ได้ที่นี่
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ -บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Insights | (EP.1/2) ‘กิ่งแก้ว’ จะเป็นอย่างไร? ถ้าตอนนั้นประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR : วิเคราะห์เจาะลึกร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ
SDG News | EnLaw จับมือภาคีเครือข่ายผลักดันกฎหมาย PRTR ชี้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและชีวิตที่ปลอดภัย รัฐและเอกชนต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยสารมลพิษ
อ้างอิง:
[1] “เปิดตัว “ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน”.” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565. https://enlawfoundation.org/launch-thaiprtr-draftact/.
[2] หรือหายนะโภปาล หรือโศกนาฏกรรมก๊าซโภปาล (Bhopal gas tragedy)
[3] วลัยพร มุขสุวรรณ. “หายนะภัยโบพาล : ผลของการเลือก “เงิน” มากกว่า “ความปลอดภัย”.” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565. http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=9&ID=12.
[4] Patrick Gray, Aleg Cherp, Angelina Nyagu, Fedor Fleshtor, Keith Baverstock, and Marina Khotouleva. The Human Consequences of the Chernobyl Nuclear Accident: A Strategy for Recovery. UNDP and UNICEF, January 25, 2002; Greenpeace. The Chernobyl Catastrophe Consequences on Human Health. Amsterdam: Greenpeace, May 2006.
[5] Benson Owuor Ochieng. Implementing Principle 10 and the Bali Guidelines in Africa, February 10, 2015.
[6] Michael Isikoff and Donald P. Baker. “Leak at Carbide Plant Injures 10 in W. Va..” In The Washington Post, March 14, 1985. Accessed July 24, 2022. https://www.washingtonpost.com/archive/politics/1985/03/14/leak-at-carbide-plant-injures-10-in-w-va/71f7fd15-c42e-404c-b4ac-7a3d0288d986/; Ben A. Franklin. “Toxic Cloud Leaks at Carbide Plant in West Virginia.” In The New York Times, August 12, 1985. Accessed July 24, 2022. https://www.nytimes.com/1985/08/12/us/toxic-cloud-leaks-at-carbide-plant-in-west-virginia.html#:~:text=A%20small%20cloud%20of%20toxic,first%20identified%20as%20aldicarb%20oxime.
[7] EPA Alumni Association. Toxic Substances: A Half Century of Progress. April 2020.
[8] United Nations. “United Nations Conference on Environment and Development, Rio de Janeiro, Brazil, 3-14 June 1992.” Accessed July 24, 2022. https://www.un.org/en/conferences/environment/rio1992.
[9] เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง. “รู้จัก (ร่าง) กฎหมาย PRTR.” เวทีสาธารณะออนไลน์: ปัดตกกฎหมาย! ผู้ก่อมลพิษไม่ต้องจ่าย?. จัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม EEC Watch และ Greenpeace Thailand. 9 กรกฎาคม 2564. น.4,7.
[10] General Assembly. Report of the United Nations Conference on Environment and Development (Rio de Janeiro, 3-14 June 1992): Annex I Rio Declaration on Environment and Development, August 12, 1992. p.2-3.
[11] United Nation Sustainable Development. United Nations Conference on Environment & Development (Rio de Janeiro, Brazil, 3 to 14 June 1992: Agenda 21. p.232.
[12] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109/ตอนที่ 37/หน้า 1/4 เมษายน 2535.
[13] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109/ตอนที่ 38/หน้า 27/5 เมษายน 2535.
[14] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109/ตอนที่ 44/หน้า 62/9 เมษายน 2535.
[15] Stuart Johnston Edwards and Tony R. Walker. “An overview of Canada’s National Pollutant Release Inventory program as a pollution control policy tool.” In Journal of Environmental Planning and Management, Volume 63 – Issue 6 (July 23, 2019); “Canadian Environmental Protection Act, 1999.” Accessed July 24, 2022. https://www.canada.ca/en/environment-climate-change/services/canadian-environmental-protection-act-registry/publications/canadian-environmental-protection-act-1999.html.
[16] Department of Agriculture, Water and the Environment. “Development of the NPI National Environment Protection Measure (NPI NEPM).” Accessed July 24, 2022. http://www.npi.gov.au/about-npi/development-npi-nepm; Commonwealth of Australia. “National Environment Protection (National Pollutant Inventory) Measure.” Accessed July 25, 2022. http://www.nepc.gov.au/nepms/national-pollutant-inventory.
[17] United Nations Treaty Collection. “13. Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-Making and Access to Justice in Environmental Matters.” Accessed July 25, 2022. https://treaties.un.org/Pages/ViewDetails.aspx?src=IND&mtdsg_no=XXVII-13&chapter=27.
[18] European Environment Agency. “EPER – The European Pollutant Emission Register.” Accessed July 25, 2022. https://www.eea.europa.eu/data-and-maps/data/eper-the-european-pollutant-emission-register-4.
[19] United Nations Treaty Collection. “13. a Protocol on Pollutant Release and Transfer Registers to the Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-Making and Access to Justice in Environmental Matters.” Accessed July 25, 2022. https://treaties.un.org/Pages/ViewDetails.aspx?src=IND&mtdsg_no=XXVII-13-a&chapter=27
[20] European Environment Agency. “The European Pollutant Release and Transfer Register (E-PRTR), Member States reporting under Article 7 of Regulation (EC) No 166/2006.” Accessed July 25, 2022. https://www.eea.europa.eu/data-and-maps/data/member-states-reporting-art-7-under-the-european-pollutant-release-and-transfer-register-e-prtr-regulation-22.
[21] ราชกิจจานุบกษา เล่ม 109/ตอนที่ 108/หน้า 12/16 ตุลาคม 2535.
[22] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132/ตอนพิเศษ 193 ง/หน้า 8/21 สิงหาคม 2558.
[23] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133/ตอนพิเศษ 48 ง/หน้า 25/25 กุมภาพันธ์ 2559.
[24] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127/ตอนพิเศษ 96 ง/หน้า 52/10 สิงหาคม 2553.
[25] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137/ตอนที่ 22 ก/หน้า 15/19 มีนาคม 2563.
[26] “กมธ.คว่ำร่างกม.ก้าวไกล.” ใน ข่าวสด ออนไลน์, 20 มกราคม 2564. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_5774347.
[27] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/หน้า 1/6 เมษายน 2560.
[28] ศิริกัญญา ตันสกุล. “ประยุทธ์ปัดตกร่าง พ.ร.บ. PRTR (อีกแล้ว).” สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.moveforwardparty.org/news/parliament/3858/.
Last Updated on สิงหาคม 20, 2022