ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงได้เห็นข่าว “ไครียะห์ ระมันหยะ” ลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะเดินทางไปร่วมการประชุมเจรจาเกี่ยวกับการปกป้องมหาสมุทรที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกากันบ้างแล้ว การประชุมเจรจาดังกล่าวคือการประชุมที่ชื่อว่า “Intergovernmental Conference on BBNJ” หรือการประชุมระหว่างรัฐบาลขององค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 5 (IGC5) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-26 สิงหาคม 2565 นับเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของการหาข้อสรุปเกี่ยวกับ “สนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean treaty)” เพื่อให้เกิดกลไกการคุ้มครองทางทะเลในเขต “ทะเลหลวง (high sea)” หรือที่มักเรียกว่า “น่านน้ำสากล” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางทะเลที่ไม่อยู่ภายใต้อาณาเขตหรือการปกครองจากรัฐใด ๆ ส่งผลให้ทุกคนไม่ว่ามาจากรัฐใดก็สามารถเข้ามาทำประมง แสวงหาประโยชน์จากพื้นที่บริเวณนี้ได้โดยไม่มีใครหวงห้าม
ด้วยเหตุนี้เองทรัพยากรในเขตทะเลหลวงจึงถูกใช้ และทำลายอย่างหนักจนกระทบต่อปริมาณสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศทางทะเล นักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์จึงตั้งความหวังว่าต่อสนธิสัญญาฉบับนี้มาก เพราะผลของ ผลการประชุมจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตของ “มหาสมุทร”
ไครียะห์ ในฐานะตัวแทนนักต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องท้องทะเลจากไทยระบุกับกรีนพีซ ประเทศไทย ว่า “พอได้มาเรียนรู้การต่อสู้ของคนอื่น ๆ ที่เจอประเด็นที่เหมือนกันในอีกซีกหนึ่งของโลก ก็รู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีคนในที่อื่น ๆ ที่เจอปัญหาที่คล้ายคลึงกับเราเหมือนกัน บางครั้งอาจหนักกว่าด้วยซ้ำ ก็รู้สึกได้แรงบันดาลใจกลับไป ทำให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อปกป้องทะเลจะนะ ไม่ใช่แค่เรื่องของจะนะอีกต่อไป แต่เชื่อมโยงถึงผู้คนในที่อื่น ๆ อีกมากมาย”
นอกจากไครียะห์ แล้ว ยังมีตัวแทนจากประเทศและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เข้าร่วมซึ่งต่างได้ให้ความเห็นต่อประเด็นของการเจรจาไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ Laura Meller ตัวแทนจากแคมเปญ “Protect the Oceans” ของกรีนพีซระบุว่า “การเจรจาเหล่านี้เป็นโอกาสครั้งสำคัญของคนในยุคสมัยปัจจุบันที่จะปกป้องมหาสมุทรในโลกสีน้ำเงินของเรา ขณะที่มหาสมุทรค้ำจุนและช่วยให้ทุกชีวิตบนโลกอยู่รอด แต่มนุษย์กลับละเลยมหาสมุทรมานานเกินไป ตัวแทนจากรัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมจึงต้องทำให้สนธิสัญญามีประสิทธิภาพสำเร็จลุล่วงให้ได้ในเดือนสิงหาคมนี้ เพราะหากเนื้อหาของสนธิสัญญาเปราะบางหรือดำเนินการล่าช้า สภาพความเสื่อมโทรมที่เป็นอยู่ซึ่งได้ส่งผลกระทบให้มหาสมุทรขยับเข้าสู่วิกฤต”
ด้าน Awa Traore จากกรีนพีซแอฟริกาที่แสดงความกังวลต่อภูมิภาคของตนว่า “รัฐบาลได้หารือเกี่ยวกับสนธิสัญญานี้มานานกว่าสองทศวรรษ ในระหว่างนั้น มหาสมุทรต้องสูญเสีย(ความสมบูรณ์เเละหลากหลายทางชีวภาพ)ไปมาก และชุมชนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรมหาสมุทรก็กำลังดิ้นรน ในแอฟริกาตะวันตก เราได้เห็นแล้วว่าเรือประมงอุตสาหกรรมซึ่งโดยมากมาจากยุโรปทำให้จำนวนสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก และปัญหานี้กำลังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและความมั่นคงทางอาหารทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกา การปล่อยให้ล่าช้าต่อไปจะเป็นการดูถูกทุกคนที่เชื่อมั่นในผู้นำทางการเมืองซึ่งรักษาสัญญาของพวกเขา ผู้แทนที่เข้าร่วมการเจรจาต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาล และทำให้สนธิสัญญามหาสมุทรโลกที่มีความมุ่งมั่นสูงในตอนนี้สำเร็จเสียที”
การเจรจาสนธิสัญญาทะเลหลวงจะลุล่วงได้ ในที่ประชุมเจรจาจำเป็นต้องกำหนดให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ได้แก่
- กำหนดวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลทั่วโลก (Marine Protected Areas)
- ใช้โอกาสจากที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (Conference of the Parties: COP) ในการขอความยินยอมจากรัฐต่าง ๆ ให้จัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ โดยปราศจากกิจกรรมที่สร้างภัยคุกคาม เช่น การทำประมงและการขุดเจาะในทะเลลึก เป็นต้น
- ยินยอมให้ที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติตัดสินใจโดยการลงคะแนนเสียงหากไม่สามารถตกลงกันได้
- กำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพื่อให้สามารถสร้างพื้นที่คุ้มครองอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูง
- ยินยอมให้ที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ตัดสินใจว่าจะอนุญาตหรือห้ามกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่คุ้มครองทางทะเล โดยต้องไม่ละเลยกฎเกณฑ์ที่มีอยู่
- ยินยอมให้ที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติใช้มาตรการชั่วคราวหรือฉุกเฉินเพื่อปกป้องพื้นที่ที่รอการจัดตั้งเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล
ทั้งนี้ หากไม่สามารถทำให้สนธิสัญญาทะเลหลวงฉบับนี้สำเร็จลุล่วงในการเจรจาที่นิวยอร์กครั้งนี้ได้ เป้าหมายการปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30% ภายในปี 2573 ตามแผน 30×30 (30×30: A Blueprint for Ocean Protection) ที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันเเละฟื้นฟูมหาสมุทรจากผลกระทบให้ได้ร้อยละ 30 ภายในสิบปี คือระหว่างปี 2564 – 2573 ก็ยากจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการดูแลฟื้นฟูพื้นที่มหาสมุทร นั่นเท่ากับว่าเราจะไม่สามารถปกป้อง 1 ใน 3 ของมหาสมุทรทั่วโลกได้
การเจรจา “สนธิสัญญาทะเลหลวง” จึงเป็นเรื่องสำคัญของคนทุกคน เพราะทะเลหลวงเป็นแหล่งอาหาร เป็นพื้นที่การกำเนิดสัตว์น้ำมาเติมเต็มวัฏจักรแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงมีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาสมดุลของสภาพอากาศเพราะมหาสมุทรเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนในรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แหล่งใหญ่ของโลกอย่างไรก็ดี ความเป็นจริงในปัจจุบัน คือ ทะเลหลวงต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลากหลายด้าน อาทิ อุตสาหกรรมการประมงที่ขาดความรับผิดชอบ การขุดเจาะและทำเหมืองใต้ทะเล เป็นต้น เช่นนั้นโจทย์สำคัญของมนุษย์โลกคือจะช่วยปกป้องทะเลหลวงได้อย่างไร แน่นอนว่า “สนธิสัญญาทะเลหลวง” เป็นหนึ่งในทางออกที่ประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วโลกจะสามารถมีส่วนร่วมกันได้
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รัฐบาล-เอกชนทั่วโลก ผนึกกำลังขับเคลื่อน 410 ข้อผูกพัน เพื่อการพัฒนามหาสมุทรที่ยั่งยืน ในการประชุม Our Ocean Conference 2022
– ทศวรรษแห่งสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับ 4 โซลูชันจากโครงการ Flagship ที่ออกสำรวจใต้ท้องทะเลลึก
– SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่
– SDG Recommends | เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับทะเลและมหาสมุทรมากขึ้นผ่าน Ocean Literacy
– เสียงส่วนใหญ่ใน IUCN World Conservation Congress เห็นชอบห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกชั่วคราว
– จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง
– 4 ประเทศลาตินอเมริกา ประกาศ “แนวระเบียงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก” มากกว่า 500,000 ตร.กม.
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
– (14.c) เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา
– UN negotiations to decide the fate of the oceans begin, Greenpeace comments (Greenpeace International)
– ประชุม IGC5 : ความหวังสุดท้ายของทะเลหลวง? (Greenpeace Thailand)
– ไครียะห์ ระหมันยะ ได้รับเชิญจากกรีนพีซสากล มาร่วมประชุม IGC5 (เฟซบุ๊กเพจ Greenpeace Thailand)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย