SDG Recommends ฉบับนี้ ขอเชิญชวนอ่าน ‘รายงานแห่งชาติฉบับที่ 4’ (Fourth National Communication: NC4) สืบเนื่องจากประเทศไทยในฐานะประเทศภาคี ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) มีพันธกรณีในการจัดทำรายงานแห่งชาติ (National communication: NC) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อรายงานของประเทศ โดยเนื้อหาสาระสำคัญจากการประชุมจะถูกบันทึกและนำเสนอในรายงาน ซึ่งจะนำส่งต่อและเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการ UNFCCC
รายงานฉบับนี้ จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแสดงให้ประเทศภาคีต่าง ๆ ทราบถึงการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการดำเนินการร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเทศไทยได้ดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ในระยะแรกตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action : NAMA) ภายในปี 2563 ได้สำเร็จ ซึ่งจากการติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ในช่วงปี 2563 พบว่า สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 14 หรือลดได้ทั้งสิ้น 51.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) ตามคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยให้ไว้ต่อประชาคมโลก และมีแนวโน้มว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายขั้นต่ำที่กำหนดไว้ต่อประชาคมโลกในข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution : NDC) ได้ภายในปี 2573 ซึ่งตามคู่มือการจัดทำรายงานแห่งชาติของประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ซึ่งเป็นภาคผนวกของข้อตัดสินใจที่ 17 ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 8 (Decision 17/CP.8) ได้มีการจัดทำขอบเขตรายงานใน 6 ประเด็น มีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้
1) สภาวการณ์ของประเทศ (National Circumstances) ประเทศไทยจัดอยู่อันดับที่ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2543 – 2562) จากการจัดอันดับโดย Global Climate Risk Index (CRI) ปี 2564 ซึ่งบทนี้ได้อธิบาย ทุกขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ โดยแสดงถึงสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ และวิธีการเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2) บัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ (National Greenhouse Gas Inventory) ในปี 2561 จากการใช้ระบบ Thailand Greenhouse Gas Emission Inventory System (TGEIS) คำนวณตามคู่มือ IPCC 2006 พบว่า ภาคพลังงาน เป็นภาคส่วนหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 69 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองลงมาภาคเกษตรกรรม คิดเป็นร้อยละ 16 ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Process and Product Use Sector: IPPU) คิดเป็นร้อยละ 11 และภาคของเสีย คิดเป็นร้อยละ 4
3) การดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Measures) การดำเนินงานตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) ตามเป้าหมายปี 2563 คาดว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 7-20 จากกรณีปกติ (Business as usual: BAU) สำหรับภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งพบว่า ผลการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2563 ลดได้ทั้งสิ้นร้อยละ 15.40 จากการวางมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก
4) ความเปราะบาง และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Vulnerability and Adaptation) มีการกำหนดกลไกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศทั้งด้านนโยบายและแผน ด้านโครงสร้างเชิงสถาบันและกฎหมาย และด้านระบบฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
5) ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ (Other Information and Relevant Activities) ได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การศึกษาวิจัยและระบบสังเกตการณ์ การศึกษา อบรม และสร้างความตระหนักรู้ การเสริมสร้างศักยภาพ และการแบ่งปันข้อมูลและสร้างเครือข่าย
6) ข้อจำกัด ช่องว่าง ความต้องการการสนับสนุนและการได้รับการสนับสนุน (Constraints and Gaps, and Support Received) พบข้อจำกัดทั้งในด้านการเงิน เทคโนโลยี เทคนิค และขีดความสามารถ ซึ่งประเทศไทยยังคงได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ น้อยมาก หากเทียบกับเป้าหมายที่ได้วางไว้
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ‘Global Climate & SDG Synergy Conference 2022’ หวังสร้างความเข้มแข็งเเก่นักเคลื่อนไหวเยาวชนในการจัดการสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงกับการบรรลุ SDGs
– ‘Glasgow Climate Pact’ ข้อตกลงจากการประชุม COP26 ที่ยังคงเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ‘1.5°C’ แต่ล้มเหลว ‘ยุติการใช้ถ่านหิน’ – SDG Move
– รายงาน ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ จากภาคการขนส่งในเอเชีย ชี้หลักสำคัญ 6 ข้อ สู่พลังงานสะอาดในอนาคต – SDG Move
– การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มทั่วโลก คุกคามความพยายามลดโลกร้อนตามความตกลงปารีส – SDG Move
– SDG Insights | มองไปข้างหน้าหลังการประชุม COP26: จุดเปลี่ยนหรือจุดจบของการต่อสู้กับ Climate Change?
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.7) ส่งเสริมการพัฒนา การถ่ายทอด และการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศกำลังพัฒนาภายใต้เงื่อนไขที่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งตามเงื่อนไขสิทธิพิเศษตามที่ตกลงร่วมกัน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
แหล่งที่มา:
– เอกสารเผยแพร่ (Booklet) รายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 – กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change Management and Coordination
– การลดก๊าซเรือนกระจก – (กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ).
– แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 รายสาขา – (กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ).
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย