เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กรอบการจัดทำรายงานขององค์กรความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) และ UN Global Compact (UNGC) ซึ่งเป็นโครงการขององค์การสหประชาชาติที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาใช้นโยบายในการดำเนินกิจการที่มีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ได้ร่วมมือกับหุ้นส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เผยแพร่แนวทางเเนะนำ (guidance) ฉบับปรับปรุงล่าสุดเพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ใช้สำหรับบูรณาการ SDGs เข้ากับกระบวนการรายงานความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทในส่วนที่มีความเป็นไปได้
แนวทางดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2560 ภายใต้หัวข้อ ‘Business Reporting on the SDGs: An Analysis of the Goals and Targets’ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างบริษัทและภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์เเก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเปรียบเทียบและใช้งานข้อมูลได้สะดวกขึ้น
เเนวทางฉบับเเรก ระบุถึงรายการของข้อมูลที่บริษัทสามารถเปิดเผยได้เกี่ยวกับ SDGs โดยพิจารณาที่ 169 เป้าหมาย ซึ่งอิงจากแหล่งข้อมูลการเปิดเผยและตัวชี้วัดที่หลากหลาย รวมทั้งกรอบการดำเนินการและมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
รายการของข้อมูลที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในเเนวทางฉบับล่าสุดประกอบด้วย
- มาตรฐานหัวข้อใหม่ของกรอบการรายงานความยั่งยืน (New GRI Topic Standards)
- มาตรฐานสากลของกรอบการรายงานความยั่งยืน ปี 2564 (GRI Universal Standards 2021)
- มาตรฐานภาคส่วนของกรอบการรายงานความยั่งยืน (GRI Sector Standards)
- แบบสอบถามของรายงานความก้าวหน้า (Communication on Progress: COP) ฉบับปี 2565
ทั้งนี้ แนวทางเเนะนำฉบับล่าสุดนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ร่วมกับเเนวทางที่ชื่อว่า ‘Integrating the SDGs into Corporate Reporting: A Practical Guide.’ ที่ตีพิมพ์เผยเเพร่เมื่อปี 2561
การจัดทำรายงานความยั่งยืนของภาคธุรกิจนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมธุรกิจให้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อน SDGs เเล้ว ยังเป็นเครื่องมือดึงดูดเเละกระตุ้นการลงทุนที่ยั่งยืน (sustainable investment) รวมถึงช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สินค้า บริการที่มีกระบวนการผลิตสอดคล้องกับความยั่งยืนมากขึ้น
นอกจากนี้ การศึกษา และทำความเข้าใจเพื่อนำเเนวทางที่ GRI เเละ UNGC เเนะนำมาใช้รายงานยังช่วยให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการเข้าถึงข้อมูล มีส่วนร่วมในการตรวจสอบความสอดคล้องของได้รับรู้ถึงการดำเนินการของบริษัทกับนโยบายด้านความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ก้าวสู่โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– MeaTech บริษัทผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากอิสราเอล เข้าร่วม UN Global Compact เพื่อผนึกกำลังร่วมพัฒนาความยั่งยืนของภาคธุรกิจโลก
– ตลาดบริการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนและ ESG สำหรับภาคธุรกิจ จะเติบโตมากกว่า 2 เท่าภายใน 5 ปีนี้
– SDG Recommends | CEO Guide to the SDGs – สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยมี SDGs เป็นหัวใจธุรกิจ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา: Updated Guide Facilitates SDG Reporting by Businesses (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย