ปัจจุบัน ผู้คนต่างหันมาสนใจรูปแบบการทำงานที่มีความอิสระ ยืดหยุ่น และจัดการเวลาเองได้มากขึ้น ด้วยสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด – 19 หลายคนค้นพบว่า การทำงานในรูปแบบที่อิสระ ทำให้เหลือเวลาไปทำกิจกรรมที่สนใจได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการทำงานรูปแบบนี้เรียกว่า “Gig Economy” หรือ เศรษฐกิจแบบ ‘กิ๊ก’ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการทำงานแบบครั้งคราว รับงานเป็นชิ้น ๆ ผู้ประกอบอาชีพจะเป็นการรับจ้างแบบอิสระ (freelance) ซึ่งดูเหมือนจะมีผลในทางบวก แต่ผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา กลับพบว่า ผู้หญิงที่ทำงานในแบบ Gig Economy ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายทำให้เกิดช่องว่างทางรายได้ที่ต่างกันด้วยเหตุจากเพศสภาพ (Gender Pay Gap) และแย่ไปกว่านั้น เมื่อผู้หญิงที่ทำงานอาชีพแบบอิสระ กลับได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่าผู้หญิงที่ทำงานประจำ เกิดเป็นปัญหาช่องว่างทางรายได้ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
การวิจัยในสหรัฐอเมริกาของ ZenBusiness ชี้ให้เห็นว่าผู้ชายประกอบอาชีพแบบอิสระเรียกเก็บเงินค่าจ้างในการทำงานที่สูงกว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยร้อยละ 48 สำหรับงานลักษณะเดียวกัน ซึ่งจากหมวดหมู่งานและอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงบนเว็บไซต์จ้างงาน Upwork จากการสำรวจฟรีแลนซ์ 6,000 คน ที่เรียกเก็บเงินเป็นเวลาอย่างน้อย 100 ชั่วโมงในการทำงานบนเว็บไซต์ พบว่า ผู้ชายคิดค่าจ้างมากกว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยถึง 22.28 เหรียญต่อชั่วโมง (ประมาณ 803 บาทต่อชั่วโมง) โดยงานที่พบช่องว่างทางรายได้ต่างกันเพราะเพศสภาพมากที่สุด คือ วิศวกรที่พัฒนาด้านซอฟต์แวร์และไอที โดยผู้ชายจะคิดค่าจ้างอยู่ที่ 100.90 ปอนด์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 4,290 บาทต่อชั่วโมง) มากกว่าผู้หญิงที่ทำงานลักษณะคล้ายกันถึงสามเท่า อย่างไรก็ตาม มีบางสายงานที่ผู้หญิงและผู้ชาย จะได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน นั่นคือ ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์งานเขียนและงานแปล แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ (inequality) อยู่เพราะถ้าหากเป็นนักเขียนเชิงธุรกิจ ผู้ชายจะสามารถเรียกค่าจ้างได้เฉลี่ยถึง 23.62 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 852 บาทต่อชั่วโมง) ซึ่งยังคงได้ค่าจ้างมากกว่าผู้หญิงที่ทำงานในเนื้อหาลักษณะเดียวกัน
Rafael Espinal กรรมการบริหารของสหภาพคนทำงานฟรีแลนซ์ (Freelancers Union) กล่าวกับ Bloomberg ว่า
“เป็นเรื่องน่าหนักใจอย่างยิ่ง เมื่อผู้หญิงที่ทำงานอย่างอิสระกลับต้องประสบกับความเหลื่อมล้ำในด้านค่าจ้างที่รุนแรงเช่นนี้”
ความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อผู้หญิงเพิ่มขึ้น ด้วยการทำงานในแบบ Gig Economy ที่กำลังขยายตัวมากขึ้น จากรายงานของ Mastercard และ Kaiser Associates คาดการณ์ว่ามูลค่าของ Gig Economy ทั่วโลกจะสูงถึง 455 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2566 และบางคนคาดการณ์ว่าแรงงานครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา จะกลายเป็นผู้ประกอบอาชีพแบบอิสระภายในปี 2570 เนื่องจากผู้หญิงหลายคนคาดหวังว่าการทำงานแบบอิสระจะช่วยขจัดอุปสรรคที่ต้องเผชิญในฐานะพนักงานบริษัท เช่น ข้อจำกัดของความก้าวหน้าในฐานะพนักงานประจำ ซึ่งการประกอบอาชีพอิสระจะช่วยให้ก้าวหน้าได้เร็วขึ้น โดยผลการสำรวจของ FreshBooks บริษัทซอฟต์แวร์บัญชี ร่วมกับ Research Now ได้ทำการสำรวจคนมากกว่า 2,700 คนในสหรัฐอเมริกาที่ทำงานเต็มเวลา ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก พบว่า
- ร้อยละ 70 ของผู้หญิงที่พิจารณาการประกอบอาชีพอิสระนั้น เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงจากการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ในที่ทำงานและเพดานกระจก (glass ceiling) หรืออุปสรรคที่มองไม่เห็นที่กีดกันความก้าวหน้าของผู้หญิง ในองค์กรไม่ให้เติบโตสู่จุดสูงสุดอย่างเท่าเทียมกับเพศชาย
- ผู้หญิงกว่าร้อยละ 84 เชื่อว่าการประกอบอาชีพอิสระทำให้การเป็นแม่ที่ต้องทำงานไปด้วย (working mother) นั้นง่ายขึ้น และหนึ่งในห้าจากผู้ได้รับการสำรวจกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงยังคงต้องเรียกค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชาย ในการรับงานและรักษาฐานลูกค้าไว้
นับว่าช่องว่างทางรายได้เป็นปัญหาสำคัญที่อาจส่งผลไปสู่ระบบเศรษฐกิจในอนาคต เพราะการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศอย่างเป็นวงกว้างทั่วโลก จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกการจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เติมเต็มช่องว่างทางรายได้ให้เท่าเทียมกัน แม้อาจใช้เวลานานนับร้อยปีกว่าที่จะสามารถปรับปรุงอัตราค่าจ้างที่เท่าเทียมกันได้ แต่ก็นับเป็นหนึ่งในวาระที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่วันนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตข้างหน้า
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ช่องว่างรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ (Gender Pay Gap) มีทั้งย่ำแย่ลง ดีขึ้นแต่ยังใช้เวลานานเกินไป และถูกกระทบเพราะโควิด-19 – SDG Move
– แรงงาน “gig workers” ฝากเอเชีย เดินหน้าเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายเฉกเช่นแรงงานในระบบ – SDG Move
– ILO เผยแพร่ ‘World Employment and Social Outlook 2021’ : งานที่ดีสำหรับแรงงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ ‘Gig Workers’ – SDG Move
– SDG Updates | Universal Basic Income: นโยบายที่ครอบคลุมการพัฒนาอย่างรอบด้าน?
– SDG Updates | สำรวจศตวรรษแห่งความเหลื่อมล้ำผ่านรายงาน World Inequality Report 2022
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
แหล่งที่มา:
– Gender pay gaps far worse for women in the gig economy, says study | World Economic Forum
– New Research from FreshBooks Discovers a 28% Wage Gap Among Self-Employed Women and Men – (FreshBooks)
– Gig Economy เมื่อโลกหมุนด้วยพลังฟรีแลนซ์ – (workpointtoday)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย