World Water Week 2022 – UN ชี้ภัยเเล้งที่ขยายวงกว้างทำคนทั่วโลกต้องการน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำสะอาดยังคงมีอยู่มาก

นับตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2534 สัปดาห์น้ำโลก (World Water Week)​” ถูกกำหนดจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีหารือเกี่ยวกับความยากลำบากในการเข้าถึงน้ำ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางน้ำเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้งานดังกล่าวได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม ถึงวันที่ 1 กันยายน ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยมี “Stockholm International Water Institute” รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลัก เเละมีผู้เชี่ยวชาญ  นวัตกร รวมถึงผู้ประกอบการเข้าร่วมจากหลากหลายพื้นที่ เนื่องจากงานจัดขึ้นทั้งในรูปเเบบพบหน้าตัวต่อตัว (in-person) และแบบเสมือนจริง (virtual) 

งานสัปดาห์น้ำโลกในปีนี้ให้ความสนใจกับ “น้ำบาดาล” และเน้นย้ำถึงความสำคัญของน้ำในชีวิตประจำวัน และประเด็นของน้ำที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติ ภายใต้ธีมของการประชุมหารือคือ “Seeing the Unseen: The Value of Water” ซึ่งผู้จัดงานได้เขียนขยายความไว้ว่า “แนวทางที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มุ่งเน้นรณรงค์วันน้ำโลก ปี 2565 ในธีม ‘น้ำบาดาล’ จะนำไปสู่การยกระดับความตระหนักในเชิงสาธารณะ เชิงนโยบาย และเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงของการจัดการกับน้ำบาดาลภายใต้บริบทของการบรรลุ SDG 6 (น้ำสะอาดเเละการสุขาภิบาล)” 

ในการประชุมสุดยอด Gilbert Houngbo ประธาน UN-Water ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความต้องการเข้าถึงน้ำที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภัยแล้งที่แผ่ขยายไปทั่วทุกทวีป และปริมาณน้ำฝนที่มีจำกัดได้ทำให้ปริมาณการกักเก็บน้ำลดลง นอกจากนี้ Houngbo ยังกระตุ้นเตือนให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจบทบาทสำคัญของน้ำบาดาลเพื่อจัดการความเสียหายของน้ำอันเป็นผลจากภาคธุรกิจในทุกมิติให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร อุตสาหกรรม ระบบนิเวศ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระบบสุขาภิบาล

ขณะที่การประชุมหารือเกี่ยวกับน้ำบาดาล ซึ่งจัดโดย UN-Water เเละการนำเสนอจากทั้งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้มีการเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่าง SDG 6 กับเป้าหมายอื่น ๆ ขององค์การสหประชาชาติซึ่งระบุรวมอยู่ในรายงานการพัฒนาน้ำโลกขององค์การสหประชาชาติ ปี 2565 (UN World Water Development Report 2022)

รายงานดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ

  • น้ำใต้ดินคิดเป็น 99% ของน้ำจืดที่เป็นของเหลวทั้งหมดบนโลก อย่างไรก็ตาม กลับมีความเข้าใจผิดต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญนี้ทั้งในแง่การประเมินค่าต่ำเกินไปและ การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด
  • ปัจจุบันน้ำบาดาลคิดเป็นปริมาณน้ำครึ่งหนึ่งสำหรับน้ำใช้ในบ้านของประชากรทั่วโลก และ 25% ของน้ำบาดาลทั้งหมดถูกใช้เพื่อการชลประทาน
  • ประชากรโลกที่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำดื่มที่มีการจัดการอย่างปลอดภัยเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 74% ทว่า ความเเตกต่างในการเข้าถึงน้ำดังกล่าวระหว่างเเละภายในภูมิภาคต่าง ๆ กลับยังห่างกันอยู่มาก

นอกจากความกังวลเรื่องทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีอยู่อย่างจำกัดเเล้ว ยังมีความกังวลเรื่องมาตรการด้านความปลอดภัยของการใช้น้ำเนื่องจากมักมีสารเคมีที่รั่วไหลลงสู่น้ำบาดาล เช่น แมงกานีส โดยกระทรวงสาธารณสุขของรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าเด็กและผู้ใหญ่ที่บริโภคแมงกานีสในปริมาณมากจากน้ำบาดาลเป็นระยะเวลานานจะเผชิญกับปัญหาความจำเสื่อม สมาธิสั้น และความสามารถในการประกอบกิจกรรมทางกาย (motor skills)

วันนี้ (1 กันยายน 2565) เป็นวันสุดท้ายของการประชุมหารืองานสัปดาห์น้ำโลก เชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมงานคงมุ่งหวังว่าการประชุมจะช่วยส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับน้ำเเละกรุยทางให้เป็นประเด็นสำคัญของการอภิปรายในการประชุมสุดยอด UN-Water Summit ครั้งต่อไปที่เมืองปารีสในเดือนธันวาคม และในการประชุม UN Water Conference ที่นิวยอร์ก เดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งหากการประชุมหารือได้ผลเป็นรูปธรรมออกมาในเชิงนโยบาย เเผน หรือยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมให้มีน้ำใช้ที่เพียงพอ สะอาดปลอดภัย เเละเข้าถึงได้ ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วทุกมุมโลก 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
รายงานความคืบหน้าด้านน้ำโดย UN Water ชี้ สถานการณ์น้ำของโลกไม่เป็นไปตามแผน #SDG6
บุรีรัมย์ยูไนเต็ด & ทรู เเบงค็อก ยูไนเต็ด เปิดตัวชุดเเข่งรับฤดูกาลใหม่ เน้นผลิตจากวัสดุรีไซเคิลและใช้เทคโนโลยี DryDye ย้อมสีผ้า ช่วยลดมลพิษทางน้ำ
แม่น้ำกว่า 200 สายทั่วโลกปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ยา หลายสายมีระดับเป็นอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
2564 ปีของวิกฤติน้ำในโลก: น้ำล้น แห้งแล้งไป ปนเปื้อนมาก ภัยพิบัติน้ำเกิดถี่ขึ้น
–  Sydney Park Water Re-use Project ความภูมิใจของซิดนีย์ในการกักเก็บ-บำบัดน้ำ กลับมาใช้ไหลเวียนเลี้ยงเมืองต้านภัยแล้ง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 6 น้ำสะอาดเเละการสุขาภิบาล
– (6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี 2573
– (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
– (6.5) ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสม ภายในปี 2573
– (6.a) ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในกิจกรรมและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำและสุขอนามัยซึ่งรวมถึงด้านการเก็บน้ำ การขจัดเกลือ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำเสีย เทคโนโลยีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่
#SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เเหล่งที่มา: World Water Week: UN Warns Global Water Supplies at Risk (IMPAKTER)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กันยายน 1, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น