เฟอร์นิเจอร์แบรนด์ ‘Pottery Barn’ ออกแบบผลิตภัณฑ์ภายในบ้านสำหรับคนพิการ 150 แบบ เพื่อให้บ้านเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน

“บ้าน” เป็นสถานที่สำคัญสำหรับทุกคนในครอบครัว ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก หรือสตรีมีครรภ์ แต่บางครั้งอุปกรณ์ภายในบ้านกลับไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมสำหรับทุกคน ซึ่งจะดีกว่าไหม ถ้าอุปกรณ์ภายในบ้านถูกออกแบบมารองรับสำหรับทุกคน แบรนด์ ‘Pottery Barn’ ร้านค้าปลีกด้านเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านระดับหรูหรา ได้เปิดตัวคอลเลกชันเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้พิการกว่า 150 แบบ ซึ่งได้จัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ “Accessible home” หรือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน ตั้งแต่โต๊ะทำงานจนถึงโต๊ะอ่างล้างหน้า โดยผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบส่วนใหญ่ได้รับเครื่องหมายการันตีว่าสอดคล้องตามพระราชบัญญัติคนพิการของชาวอเมริกันปี พ.ศ. 2533 (The Americans with Disabilities Act of 1990: ADA) 

Pottery Barn เป็นหนึ่งในแบรนด์ค้าปลีกขนาดใหญ่ภายใต้เครือ Williams-Sonoma บริษัทค้าปลีกเครื่องครัวและเฟอร์นิเจอร์ฝั่งสหรัฐอเมริกา มีสาขามากมายในหลายประเทศที่สร้างรายได้กว่า 8.2 พันล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งนับเป็นแบรนด์กลุ่มแรก ๆ ที่คิดริเริ่มในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางธุรกิจที่ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับทุกคน โดย Marta Benson ประธานของ Pottery Barn จุดประกายแนวคิดจากการไปเยี่ยมชมสาขาแห่งหนึ่งของบริษัท และพบว่าเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องน้ำไม่มีผลิตภัณฑ์ของทางแบรนด์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำของทางแบรนด์ก่อนหน้านี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับกฎหมาย ADA ที่กำหนดให้ห้องน้ำสาธารณะต้องมีอ่างล้างหน้าที่รองรับสำหรับเก้าอี้วีลแชร์ นับตั้งแต่นั้น Pottery Barn จึงคำนึงถึงความครอบคลุมและสร้างผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคนมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการปรึกษาหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักออกแบบของบริษัทในการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดกว่า 150 แบบ เพื่อรองรับผู้พิการประเภทต่าง ๆ โดยปรับรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะสมต่อการใช้งานสำหรับผู้พิการมากยิ่งขึ้น 

เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านของ Pottery Barn ที่ถูกออกแบบมาสอดคล้องพระราชบัญญัติคนพิการของชาวอเมริกันปี พ.ศ. 2533 อาทิ

  • โต๊ะทำงาน ถูกออกแบบมาให้รองรับสำหรับเก้าอี้วีลแชร์ โดยสามารถปรับระดับความสูง – ต่ำ ตำแหน่งของโต๊ะได้ตามการใช้งานที่ง่ายและเหมาะสม รวมถึงมีชั้นวางของแบบเปิด เพื่อให้สะดวกต่อการหยิบจับได้ง่ายขึ้น ขจัดปัญหาการดึงลิ้นชักที่ยากต่อการเคลื่อนไหว
  • โต๊ะอ่างล้างหน้า ได้ออกแบบมาให้บริเวณอ่างล้างหน้าเหมาะสมสำหรับเก้าอี้วีลแชร์ โดยกระจกหน้าอ่างล้างหน้าสามารถปรับเอียงขึ้นลงได้อย่างปลอดภัย สามารถใช้ได้ทั้งขณะตั้งตรงหรือนั่ง รองรับทุกความสามารถในการใช้งาน 
  • เก้าอี้ปรับเอนนอน มีกลไกการยกตัวที่นุ่มนวลให้ความสบายต่อผู้นั่ง เหมาะสำหรับผู้ได้รับอาการบาดเจ็บหรือปวดหลัง ซึ่งเก้าอี้สามารถควบคุมทั้งหมดได้ด้วยตนเองผ่านรีโมตคอนโทรล เพื่อรองรับการนั่งและยืนอย่างปลอดภัย โดยเก้าอี้สามารถรองรับการเคลื่อนที่ได้ในทุกทิศทาง

ประธาน Marta Benson กล่าวว่า “ภารกิจของเรา คือ การรวมความสามารถในการเข้าถึงไว้ในทุกสิ่งที่เราได้ผลิตและออกแบบมา ผ่านความสวยงามและครอบคลุม เพื่อทำให้บ้านเป็นสถานที่ที่สะดวกสบายมากขึ้นสำหรับทุกคน”

การเพิ่มปริมาณงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นดีไซน์เฉพาะกลุ่ม สร้างบริการที่ดีสำหรับผู้คนในทุกระดับทำให้แบรนด์ Pottery Barn เข้าสู่เทรนด์ของ “Omnibility” คือ ความพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทุกคนเข้าถึงหรือใช้งานได้เหมาะสมตามฟังก์ชั่นได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีความพยายามพัฒนาเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุโดยได้วางแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เตรียมพร้อมสำหรับเฟอร์นิเจอร์บ้านในอนาคต เพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ 

การออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Pottery Barn ถือเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนการคำนึงถึงแนวคิดการพัฒนาของผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึง “ความครอบคลุม (Inclusiveness)”  สำหรับคนทุกกลุ่มไม่ได้เน้นเพียงความสบายตา และสวยงามตามสุนทรียศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่โอบรับความแตกต่าง หลากหลาย สร้างความรู้สึกสบายใจ และปลอดภัยต่อการใช้งานให้แก่ผู้บริโภค นับเป็นตัวอย่างของโมเดลทางธุรกิจที่ดำเนินการสร้างคุณค่าทางสังคมไปพร้อมกับนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ธุรกิจควบคู่กัน โดยไม่จำเป็นต้องจัดกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ (Corporate Social Responsibility : CSR) เพิ่มเติมจากกิจกรรมทางธุรกิจ แต่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมไปกับชีวิตประจำวันของทุกคน และเพื่อให้บ้านได้เป็นบ้านสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ Microsoft เปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริม “Adaptive Accessories” รองรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ของผู้พิการ – SDG Move 
90% ของผู้พิการทางสายตาทั่วโลกกระจุกอยู่ในประเทศรายได้น้อย แต่จำนวนอาจลดลงได้หากแก้ปัญหา ‘ความยากจนขั้นรุนแรง’ – SDG Move 
การสำรวจต้องฟังเสียงทุกคน และไม่ตกหล่นผู้พิการ ‘iData’ แพลตฟอร์มสำรวจออนไลน์ที่เข้าใจเงื่อนไขผู้พิการ – SDG Move 
4 นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่ช่วยให้ผู้พิการทำงานจากบ้านได้ง่ายขึ้น – SDG Move 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ 
– (4.a) สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.2) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และภายในปี 2573 ให้เพิ่มส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมในการจ้างงานและผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ โดยให้เป็นไปตามสภาวะแวดล้อมของประเทศ และให้เพิ่มส่วนแบ่งขึ้นเป็น 2 เท่า ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด  
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Pottery Barn introduces 150 accessible pieces for the home –  (trendwatching)
Pottery Barn debuts 150 pieces of furniture for people with disabiliti – (fastcompany)
Accessible Home | Pottery Barn 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น