วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund) หรือองค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand) จัดงานเปิดตัว รายงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ณ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เเละตัวเเทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นางคยองซอน คิม กล่าวในงานเปิดตัวรายงานว่า “ข้อมูลดังกล่าวน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือมันอาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่า เด็กและวัยรุ่นหลายล้านคนในประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต ทั้งโรคเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากปัจจัยมากมาย เช่น ความรุนแรง การถูกกลั่นแกล้ง ความโดดเดี่ยว ความไม่แน่นอน รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่น่าเสียดายที่ปัญหาดังกล่าวมักถูกบดบังเอาไว้ เนื่องจากการตีตราทางสังคมและการเข้าไม่ถึงข้อมูล การคัดกรอง การสนับสนุน ตลอดจนบริการด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม”
รายงานฉบับดังกล่าวจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย มีข้อค้นพบที่สำคัญหลายประการ อาทิ
- วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์
- การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย โดยการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
- ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นในนโยบายและกฎหมาย รวมทั้งบริการบำบัดรักษา เเต่ก็มีช่องว่างที่สำคัญ เช่น การขาดงบประมาณ การขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจำนวนจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่ยังมีไม่เพียงพอในแต่ละหน่วยงาน
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยต้องกำหนดวิสัยทัศน์และแผนงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายของเด็กและวัยรุ่นที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
- ประเทศไทยต้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการยกระดับคุณภาพและความรวดเร็วของบริการสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น เเละให้ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งในด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างหลักประกันให้เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้มีสุขภาพจิตที่ดี และได้บริการที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการในเวลาที่เหมาะสมและทันท่วงที
นอกจากนี้ รายงานยังได้ระบุถึงการดำเนินการที่ควรได้รับความสำคัญสูงสุดในสองปีข้างหน้า ได้เเก่ หนึ่ง การบริการบำบัดรักษา ที่เน้นการเสริมสร้างความเข้มเเข็งเรื่องการค้นหา คัดกรอง เเละส่งต่อเด็กที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต สอง การป้องกัน ที่เน้นการดำเนินการอย่างรอบด้านเเละครอบคลุมทุกระดับ โดยเฉพาะการดำเนินการโครงการในระดับโรงเรียนเพื่อจัดการปัญหาการกลั่นเเกล้ง รวมทั้งฝึกอบรมการเลี้ยงดูบุตรเเก่ผู้ปกครองที่ให้ความสำคัญกับการไม่ใช้ความรุนเเรง เเละ สาม การส่งเสริมเสริมสุขภาพจิต ที่เน้นการบูรณาการให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเเละเเผนงานของหน่วยงานด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม การคุ้มครองเด็ก เเละการเลือกปฏิบัติ
เด็กเเละวัยรุ่นนับว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ พวกเขาคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากสภาพเเวดล้อมทางสังคมที่ผู้ใหญ่ออกเเบบ เเละการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล การละเลยสุขภาพทางจิตของเด็กเเละวัยรุ่นคือการละเลยต่อรากฐานเเละอนาคตของสังคม เช่นนั้นเอง การป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพจิต เเละบริการบำบัดรักษาสุขภาพทางจิตจึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐเเละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกระดับจำเป็นต้องหารือถึงเเนวทางเเละจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงง่าย เเละทันท่วงที
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– พร้อมรับเทอมใหม่ 5 กลยุทธ์ ส่งเสริมสุขภาพจิต ในยุคโควิด-19 หลังพบนักศึกษาเผชิญความเครียดเพิ่มขึ้น
– ปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้มาจากแค่ประสบการณ์หรือเหตุการณ์ในวัยเด็ก แต่อาจมาจาก “ความสามารถในการปรับตัวและเรียนรู้กับความผิดหวัง” – SDG Move
– ทักษะการเรียนรู้ สุขภาพจิต และพัฒนาการทางสังคม-ความรู้สึก: ต้นทุนที่เด็กสูญเสียไปจากการปิดโรงเรียนเพื่อรับมือกับโรคระบาด – SDG Move
– 3 ภารกิจให้บริการสุขภาพจิตอย่างครอบคลุมที่ควรได้รับเงินทุนเป็นอันดับแรก ตามคำแนะนำของธนาคารโลก – SDG Move
– เด็กในเมืองที่ได้อาศัยและใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดพื้นที่ป่า จะมีพัฒนาทางสติปัญญาและสุขภาพจิตที่ดีกว่า – SDG Move
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
เเหล่งที่มา: ยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตชี้สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยน่าเป็นห่วง ต้องยกระดับบริการสุขภาพจิตโดยเร่งด่วน (UNICEF)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on กันยายน 4, 2022