Site icon SDG Move

ความฝันของเด็กสิบแปด (Let’s up to be change)

หากโลกนี้สามารถให้คน ๆ หนึ่งเลือกออกแบบชีวิตของตัวเองในแบบที่ฝันเอาไว้ เลือกเกิดมาได้อย่างที่ตัวเองอยากจะเป็น จินตนาการตามความรู้สึกได้โดยที่ไม่มีใครมาตีกรอบล้อมแนวคิด คอยกำหนดชะตาชีวิตดั่งที่เคยเป็นในปัจจุบัน แล้วสมมติว่าวันหนึ่งได้ลองเป็นใครสักคน ความฝัน ชีวิต และอนาคตจะเป็นอย่างไร

แสงอาทิตย์หมดวันเลือนหายผ่าน แสงจันทร์และแสงดาวสาดส่องกระทบมาแทนที่ เสียงทั่วสารทิศที่เงียบสงัดประกอบกับแววตาของเด็กหนุ่มที่หลับลงสนิทเป็นสัญญาณเตือนถึงเวลาพัก เมื่อเวลาหมุนเวียนผ่านไปถึงศูนย์นาฬิกาเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความฝัน 

ท่ามกลางไร่นาอันกว้างไพศาลชาวนาถนอมต้นกล้าข้าวเตรียมปักลงพื้นดิน คอยนับวันรอให้ต้นข้าวได้ออกรวงชูช่ออันตระหง่านมีผลผลิตเพื่อประทังชีวิตและสร้างรายได้สำคัญในครัวเรือน เด็กหนุ่มเดินในความฝันพร้อมกับตั้งคำถาม อะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำสวนทางกับต้นทุนที่สูงขึ้น สักพักเด็กหนุ่มได้คำตอบ นั่นคือ “การที่ไม่มีคนคอยให้ความรู้ และแหล่งแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า” สิ่งนี้เองที่ทำให้ชาวนาได้เป็นคนกำหนดราคาไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ศูนย์วิจัยขนาดย่อมเพื่อพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ รับตรวจโรคพืชเพื่อแก้ปัญหาการใช้สารเคมีที่ไม่ตรงกับโรคและลดการใช้สารเคมีที่ขาดความรู้ขาดความเข้าใจ 

สิ่งถัดมาคือการสร้างการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนเป็นสินค้า OTOP เพื่อลดการขายผลผลิตให้พ่อค้าคนกลางโดยตรง ลำดับถัดมาคือการจัดหาแหล่งจำหน่ายทั้งในและนอกจังหวัด เพื่อสร้างรายได้อีกทาง เมื่อมีแหล่งที่สามารถสร้างรายได้ จะส่งผลให้เมืองและถิ่นฐานของคนในจังหวัดมั่นคง ลดการแออัดในเมืองใหญ่ ๆ เพราะประชาชนสามารถสร้างรายได้ในภูมิลำเนาของตน อีกทั้งช่วยขจัดความหิวโหยจากการไม่มีแหล่งอาหาร และช่วยขจัดความยากจน ตามแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

ในความฝัน เด็กหนุ่มยังคงไม่หยุดเดิน แต่ต้องเกิดข้อสงสัยกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า คือสระน้ำที่แห้งขอดแทบจะสามารถเดินอีกฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งได้ “หากฝนยังไม่ตกภายในสัปดาห์นี้คงลำบาก” เด็กหนุ่มกล่าวว่า  สิ่งเดียวที่ทำได้ตอนนี้เพื่อแก้ปัญหา คือการเจาะน้ำบาดาลเพื่อใช้น้ำใต้ดินในการอุปโภคชั่วคราว ระหว่างรอฝนตกและยังสามารถใช้งานต่อได้ในอนาคต การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปลูกไม้ไว้ตัดแทนการตัดไม้ธรรมชาติ และการขุดบ่อ คลอง เพื่อกักเก็บน้ำในทุก ๆ ตำบล ยังสามารถช่วยลดปัญหาน้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภค ส่วนในระดับจังหวัด จากที่มีศูนย์วิจัย ในบริเวณนั้นและใกล้เคียงจัดตั้งการผลิตพลังงานทดแทน ทั้งพลังลม น้ำ และแสงอาทิตย์ เพราะเราไม่สามารถควบคุมสภาพอากาศได้ จึงจำเป็นที่ต้องรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงของอากาศ จากนั้นส่งกระแสไฟฟ้าหรือพลังงานทดแทนเข้าไปที่ศูนย์กลางที่เก็บพลังงานในทุก ๆ อำเภอเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงพลังงานสะอาดนั้น สิ่งต่อมาคือการบริหารน้ำสำหรับบริโภค จัดตั้งโรงน้ำดื่มสะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ขุดเจาะไว้ในทุกอำเภอสำหรับบริโภคแทนการรองน้ำฝนดื่มโดยตรงเพราะปัจจุบันน้ำฝนมีสารปนเปื้อนค่อนข้างสูงต่างจากเมื่อก่อน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการทำให้คนในชุมชนได้ดื่มน้ำดื่มที่สะอาด ลำดับต่อมาคือ การส่งเสริมและจัดอบรมเพิ่มความรู้ความสามารถให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลประจำอำเภอและโรงพยาบาลประจำจังหวัดให้มียารักษาโรคและเครื่องมือทางการแพทย์ที่เพียงพอ ลดอัตราการเสียชีวิตจากการขาดโอกาสทางการรักษาพยาบาลเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในชุมชน

ในภวังค์ความฝันของเด็กหนุ่ม ครุ่นคิดถึงเรื่องราวในอดีตคือ “ตลาดนัดชุมชน” ที่เคยรุ่งเรืองในครั้งก่อนผู้คนมากมายต่างมีความสุขเวลาเลือกซื้อข้าวของ แต่ครั้งนี้รอยยิ้มของผู้ขายและผู้ซื้อค่อย ๆ เลือนหายไป ลานกว้างที่เคยเต็มไปด้วยบรรดาพ่อค้าแม่ค้า กลับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไร้ประโยชน์ จากแสงไฟดวงเล็ก ๆ ในรถเข็นกลายเป็นแสงไฟจากหน้าต่างของแต่ละบ้านเรือน ผู้คนไม่กล้าออกมาใช้เงิน ต่างคนต่างใช้ชีวิตในครอบครัวของตน และจากควันไฟจากเตาถ่านที่ปิ้งย่างกลายเป็นควันจากท่อไอเสียที่ทุกคนเร่งรีบตื่นเพื่อไปทำงาน “เมื่อไหร่ความสุขในชีวิตจะมาพร้อมกับการตื่นเช้าไปทำงานสักที” 

เมื่อภวังค์ความคิดนี้จบลง “การพัฒนาสินค้า OTOP อาจจะเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนไปสู่จุดที่ดีขึ้นได้ และสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือการลดอัตราการว่างงานของคนในชุมชน จัดหาเด็กจบใหม่ระดับอนุปริญญา และระดับปริญญาตรีสาขาวิชา วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เทคโนโลยี และการตลาด หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง สรรสร้างนวัตกรรม เพื่อเป็นบุคลากรสำคัญในการพัฒนา ปรับปรุงสินค้า เป็นนักวิชาการประจำศูนย์การเรียนรู้ และนักวิจัยที่ศูนย์วิจัยในจังหวัด” เด็กหนุ่มพูดขึ้น

สามนาฬิกาเวลาหมุนผันเปลี่ยน ความมืดในตอนกลางคืนใกล้จะเลือนหาย พร้อมกับความฝันของเด็กหนุ่มที่ใกล้จะจบลง ความฝันหนึ่งผุดขึ้นครุ่นคิดไปถึงตอนเรียนมัธยม เท้าความไปเมื่อ 6 ปีที่ผ่าน โรงเรียนที่ละแวกใกล้เคียงโอบล้อมไปด้วยทุ่งนา ต่างกับโรงเรียนในตัวอำเภออื่น ๆ ที่ทั่วทุกทิศเต็มไปด้วยตึกสูง และย่านการค้า ความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษา อุปกรณ์การเรียน และบุคลากร ที่โรงเรียนในชนบทแทบไม่เคยได้สัมผัส เด็กหนุ่มครุ่นคิดอยู่สักพักเผลอเอ่ยปากกล่าวว่าจะส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอย่างไร ประการแรก คือ การกระจายบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไปในทุกสถาบันการศึกษา ทั้งระดับประถม และมัธยม การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้เทียบเท่าโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ ไม่มองข้ามทุก ๆ โอกาสทางการศึกษาของทุกคนที่เป็นดั่งอนาคตของชาติ ประการที่สอง การส่งเสริมกิจกรรม วิชาการเพิ่มพูนทักษะ ความสามารถของเด็กและเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมในทุกเวทีในการแสดงออกตามความสมัครใจและสนใจของตน และประการที่สาม การปรับปรุง เพิ่มเติมสำหรับอุปกรณ์การเรียน เทคโนโลยี ที่พึงจะได้รับอย่างเท่าเทียม อนึ่ง “ความเท่าเทียม” ในความฝันเด็กหนุ่มนึกออกอย่างฉับพลัน ความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งสิ่งที่ตอนมัธยมได้สัมผัส ด้วยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่ทุกคนล้วนมาจากคนละพื้นที่ เชื้อชาติ ศาสนาย่อมทำให้แต่ละคนแตกต่าง ไม่เหมือนกัน ทั้งสีผม รูปร่าง สีผิวและเพศ แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างกับทุกคนไม่เคยได้ยิน ความเจ็บปวดที่แฝงอยู่ในความแตกต่างของสังคม ความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในทุกที่หาเลี่ยงไม่ได้ “แต่ทำไมเราไม่ให้ความปกติของสังคม หาความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้ล่ะ” เริ่มต้นจากการสร้างโอกาสทางรายได้ให้คนในจังหวัด เรียนรู้ทีละเล็กละน้อย มองหาสิ่งที่มีในสังคม ต่อยอดทรัพยากรที่พึ่งพอมีอยู่เพื่อสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด ยอมรับและเข้าใจความแตกต่างซึ่งกันและกัน ปลุกจิตสำนึก สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ ภายใต้สังคมที่เอ่อล้นไปด้วยความหลากหลาย การจัดกิจกรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นดั่งสะพานให้ทุกความแตกต่าง ค่อย ๆ สมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความยุติธรรมที่ไม่แบ่งแยกทุกคนที่เกิดมาอาจจะไม่ได้ต้องการเดินทางบนเส้นทางชีวิตที่ยืดยาวแต่อาจจะต้องการเพียงแค่สร้างความรู้จักเพื่อนมนุษย์ที่มากกว่ามนุษย์ร่วมชาติ แต่คือมิตรภาพที่แตกต่างแต่ต้องเต็มไปด้วยความยินดี

หนึ่งคืนที่มีความคิด จินตนาการ จากการใฝ่ฝันอยากจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดของเด็กหนุ่มถ่ายทอดผ่านความฝัน เล่าเรื่องเรียงร้อยความเป็นบทบรรยาย ภายในจิตสำนึกและความรู้สึกที่เคยพบเจอในสังคม ความฝันที่อยากเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของทุก ๆ คน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและการเดินหน้าไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อครั้นดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนทะลุเส้นขอบฟ้า เสียงนกการ้องจากรัง หกนาฬิกาเวลาหมุนครบบรรจบแสงแดดสาดส่องกระทบตาพร้อมกับเสียงนาฬิกาปลุกดังก้องจากเสียงร้องตะโกนเรียกจากแม่ กลิ่น ไอควันจากเตาถ่านที่อบอวลไปทั่วบ้านเป็นสัญญาณของวันใหม่ เด็กหนุ่มรีบตื่นและอาบน้ำเพื่อรอรถโรงเรียนที่จะมาในไม่ช้า เสียงหัวเราะและรอยยิ้มมุมปากกับความรู้สึกที่นึกถึงความฝันอย่างลาง ๆ ในเมื่อคืน ความสุขชั่วขณะที่คงจดจำไปไม่เคยลืม ใต้ต้นไม้หน้าบ้านที่พอจะเป็นร่มเงาให้ยืนรอรถโรงเรียน สักพักรถโรงเรียนขับจอดที่ตรงหน้า ก้าวขาขึ้นบนรถจับจองหาที่นั่งริมหน้าต่างทำให้ชวนคิด “อยากจะเล่าความฝันให้กับคนอื่น ๆ ได้ฟัง เขาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง” 

เสียงสัญญาณเตือนถึงคาบเรียนแรกในวันศุกร์ เสียงเอ่ยปากถามจากเด็กหนุ่ม “นี่ฝันอยากจะเป็นอะไรกันบ้าง” ส่วนเราเองก็ฝัน ฝันที่นอนฝันจริง ๆ ฝันว่าได้ลองเป็นผู้ว่าฯ “นึกถึงเมื่อคืนก็ตลกตัวเองนะคิดแบบนั้นได้อย่างไร” เพื่อน ๆ นั่งยิ้มเป็นคำตอบยากเกินจะคาดเดาถึงความรู้สึก เสียงคุยที่เงียบฉับพลันพร้อมกับเสียงเดินของคุณครูที่ผ่านเข้ามาที่ห้อง แบบฝึกหัดวิชาวิทยาศาสตร์ “ระบบนิเวศ” ที่ชวนให้คิด การแก้ปัญหาระบบนิเวศทางบกและทางทะเล นั่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง คำพูดที่ร้อยเรียงภายในความคิด ที่ค่อย ๆ บรรจงเขียนตอบในกระดาษ 

ประการแรก การปลูกไม้ไว้ใช้ประโยชน์ลดอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไว้สร้างที่อยู่อาศัย หรือทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ อาทิ ภาชนะจากใบพืช ทางทะเล ลดการทำลายปะการังที่เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ ส่งเสริมการทำปะการังเทียมและการจัดศูนย์อนุบาลสัตว์น้ำเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

ประการที่สอง ลดการใช้ถุงพลาสติก ตลอดจนจัดตั้งโรงคัดแยกขยะทั้งในอำเภอ และจังหวัดเพื่อลดระยะเวลาการกำจัดในขบวนการรีไซเคิล  ส่วนทางทะเลส่งเสริมให้ในบริเวณใกล้เคียงแหล่งน้ำ ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติแทนการใช้พลาสติก จัดตั้งศูนย์แสดงอันตรายจากขยะที่มีต่อสัตว์น้ำเพื่อปลูกจิตสำนึกอันดี สิ่งสำคัญต่อมาคือ การอนุรักษ์ การปลูกป่าทดแทน ทั้งในเขตพื้นที่เมืองและในชนบทตลอดจนการอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อรักษาระบบนิเวศ การพัฒนาและให้ความรู้ชาวประมงในการประมงเพื่อลดอัตราการสูญพันธุ์สัตว์น้ำบางจำพวก และการใช้ประโยชน์จากขยะทางทะเล เช่น เปลือกหอย กระดองปู ฯลฯ มาพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน การใช้ทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเลจะไม่หมดไป หากมนุษย์สามารถสร้างเสริมหรือเพิ่มพูนมากกว่าที่มนุษย์ได้รับมา มีจิตสำนึกและมีจิตสาธารณะที่ดี ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดจะสามารถคงอยู่ได้อย่างมั่งคงและยั่งยืน

เลื่อนมาถึงวันเสาร์อีกวาระ วันหยุดที่ชวนให้ลองทำอะไรใหม่ ๆ เด็กหนุ่มตัดสินใจทำแพนเค้กกล้วยที่มีเหลือในตู้เย็น ย่างก้าวเดินไปคัดสรรส่วนผสม วัตถุดิบที่ร้านชำ ทั้งแป้งสาลี ผงฟู และนมจืด ส่วนเนยไม่สามารถหาได้จากร้านชำใกล้บ้าน ระหว่างทางที่เดินกลับเผลอนึกถึงความฝันเมื่อคืนวาน พูดในใจว่า บางทีทรัพยากรหรือบุคลากรของเราพึ่งมีอยู่เป็นสิ่งที่ต่อยอดและสร้างเสริมได้ ดังเช่นกล้วยที่มีอยู่เป็นต้นทุนเดิม แต่ก็ต้องรวมไปถึงการร่วมมือจากทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือเพื่อผลักดันและพัฒนาสังคม ชุมชน และจังหวัด นำไปสู่ความก้าวหน้า ดังเช่น การซื้อส่วนผสมอื่นเพิ่มเติม อาทิ แป้งสาลี ผงฟู และนมจืด แต่บางสิ่งก็อาจจะเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากสังคมหรือจังหวัดเราเอง ต้องแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทรัพยากรจากจังหวัดอื่น ๆ หรือจังหวัดใกล้เคียงเพื่อมาเป็นอีกส่วนประกอบที่สำคัญในการพัฒนาจังหวัด อย่างเนยที่ต้องหาซื้อจากที่อื่น เพื่อทำสิ่งที่คาดหวังให้บรรลุผลสำเร็จ ค่อย ๆ ประนีประนอม  ใส่ใจและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจังหวัดของตนเองภายใต้การมองปัญหาจากผลสะท้อนของประชาชนในพื้นที่ ลองศึกษา ทดลองเป็นผู้ที่พบเจอปัญหาเพราะบริบทแต่ละสังคมที่แตกต่าง ออกแบบปัญหาให้ผู้นำได้ใช้วิธีการจัดการที่ต่างกัน ตัวแปรสำคัญไม่ใช่ประชากรในสังคมนั้นจะมีปัญหาอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลที่แก้ปัญหาจะเข้าใจปัญหานั้นหรือไม่ ตามประโยคหนึ่งที่เคยกล่าวว่า “หากจะแก้ปัญหานั้นได้ ต้องอยู่กับปัญหานั้นให้ได้ก่อน” แล้วขนมจะออกมาสมบูรณ์ได้อย่างไร ถ้าเชฟไม่เข้าใจขนมนั้นอย่างแก่นแท้

ลองหลับตาย้อนกลับวนไปคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมความแตกต่างด้านสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมภายใต้ระบอบการปกครองเดียวกัน การพัฒนาจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างยุติธรรมเพื่อความเท่าเทียมกันในสังคมที่แตกต่าง หากมีความคิดที่อยากจะพัฒนาสังคมจากใครสักคนก็เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่สำคัญแล้วต่อไปในอนาคตจะค่อย ๆ บรรจงเรียงเต็มกระดานเป็นรูปภาพที่สังคมใฝ่ฝันอยากจะให้เป็น พัฒนาและก้าวหน้าทีละเล็กทีละน้อยจากการร่วมมือของทุกคน อย่างเช่นหากเด็กหนุ่มคนนี้เติบโตขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเขาก็คงจะมีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ ตามที่เขาใฝ่ฝันเอาไว้ การเดินทางมาถึงตอนอวสานที่จะเวียนไปถึงคราที่มืดสนิทของอีกวัน เมื่อทุกคนถึงเตียงนอนแล้วแววตานั้นหลับลง มาคิดและเรียบเรียงเรื่องในฝัน แล้วความฝันในคืนนี้จะเป็นอย่างไรก็คงขึ้นอยู่กับทุกคนที่จะจินตนาการตามฉบับของตนเอง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1)  ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.4)  ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
– (2.a) เพิ่มการลงทุนรวมถึงการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การวิจัยเกษตรและการขยายการบริการ การพัฒนาเทคโนโลยี และการทำธนาคารยีนของพืชและสัตว์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี 2573
– (4.a) สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี 2573
– (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม
– (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความแข็งแรง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและพื้นที่เขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่สามารถจ่ายได้
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
–  (11.a) สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2563

ผู้เขียน: เฉลิมชัย โยธานันต์
สถาบันการศึกษา: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานจากการประกวดโครงการเขียนเคลื่อนโลกด้วย SDGs ภายใต้หัวข้อ “หากได้เป็นผู้ว่าฯ จะส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในจังหวัดตนเองอย่างไร” 

Author

Exit mobile version