เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสาธารณรัฐชิลีกว่า 61.9% ได้ลงคะเเนนเสียงปฏิเสธรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งถูกร่างมาเพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับเก่าปี พ.ศ. 2523 ที่บังคับใช้มาตั้งเเต่รัฐบาลเผด็จการ Augusto Pinochet ขณะที่ผู้ลงคะเเนนเสียงรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเพียง 38.1% เท่านั้น
เหตุการณ์โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญครั้งนี้นับว่าผิดคาดไปจากผลการสำรวจความเห็น (opinion polls) ค่อนข้างมาก เเละหากมองจากมุมของคนนอกประเทศเเล้ว ผลโหวตก็ถือว่าเหนือความคาดหมายเช่นกัน เนื่องจากที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับร่างใหม่นั้นเริ่มต้นจากการเรียกร้องของภาคประชาชนเมื่อ 3 ปีที่เเล้ว เเละในการลงคะเเนนเสียงต่อประชามติ “ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้เเทนฉบับเดิม” เมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2563 พลเมืองชาวชิลีเกือบ 80% ได้ลงคะเเนนเสียงให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม นอกจากนี้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (constitutional convention) ก็เป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวชิลีตัดสินใจลงคะเเนนเสียงไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ “เนื้อหาที่ก้าวหน้าเกินกว่าจะยอมรับได้” โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่สำคัญ อาทิ
- การกำหนดให้ชิลีเป็น “รัฐพหุชนชาติ” (plurinational state) โดยตระหนักถึงสิทธิของประชากรที่เป็นชนพื้นเมืองของชิลี ซึ่งมีประมาณ 13% ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินทำกินและทรัพยากรของพวกเขา
- การกำหนดให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งในสถาบันหรือหน่วยงานภาครัฐ (official institutions) อย่างน้อย 50%
- การกำหนดให้การทำเเท้งถูกกฎหมาย
- การให้อำนาจเเก่ชนพื้นเมืองเพิ่มมากขึ้นในการปกครองตนเอง
- การส่งเสริมสหภาพเเรงงาน
- การให้ความสำคัญกับสิทธิธรรมชาติเเละสิทธิสัตว์
José Burgar หนึ่งในผู้มีสิทธิลงคะเเนนเสียงบอกกับสำนักข่าว AFP ถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นว่า “ฉันสามารถรับรองกับคุณได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีความจำเป็น ไม่ต้องสงสัยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องการรัฐธรรมนูญที่ดี รัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนของเราทุกคน”
ขณะที่ Monica ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในซานติอาโก เมืองหลวงของชิลี มองว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความโน้มเอียงไปในลักษณะของความเป็นคอมมิวนิสต์ โดยระบุกับสำนักข่าว AFP ว่า “ชิลีต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ต้องการคอมมิวนิสต์ เเต่ทว่านั่นคือ สิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังพยายามเป็น ซึ่งมันกำลังสร้างความไม่เท่าเทียม และการเเบ่งเเยกในชิลี” ข้อความดังกล่าวนี้สอดคล้องกับความเห็นของคนชิลีอีกจำนวนมากที่เเสดงความกังวลว่าการให้อำนาจปกครองเเก่ชนพื้นเมืองที่เพิ่มมากขึ้นนั้นจะทำให้ชิลีเกิดการเเบ่งเเยก
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดี Gabriel Boric วัย 36 ปี ของชิลี ซึ่งสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นใหม่ยังไม่สิ้นหวัง เขากล่าวว่า “จะทำงานร่วมกับสภานิติบัญญัติและภาคประชาสังคมเพื่อสร้างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่” พร้อมทั้งเน้นย้ำด้วยว่า “เราต้องฟังเสียงของประชาชน”
แม้สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ บทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจของผู้หญิง ชนพื้นเมือง จะถูกมองว่าเป็นค่านิยมขั้นพื้นฐานของการพัฒนาในทางสากล และถูกรับรองเอาไว้อย่างชัดเจนใน SDGs แต่การจะนำพาสังคมไปสู่เป้าหมายเหล่านั้นจำต้องเปลี่ยนแปลงค่านิยม ความเชื่อที่ฝังรากลึกลงในระดับวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ด้วย
จึงเป็นที่น่าสนใจ และท้าทายอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลชิลีว่าจะใช้โอกาสที่ประเทศก้าวพ้นจากรัฐบาลเผด็จ ขยับไปสู่การสร้างสังคมที่เท่าเทียม และอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติ จุดยืนทางการเมืองได้อย่างไร
เเน่นอนว่าสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน คือ การมีส่วนร่วม หรือ “การฟังเสียงประชาชน” ดังที่ประธานาธิบดี Boric เน้นยำ เเละย่อมหมายถึงการเเสวงหารัฐธรรมนูญที่ประชาชนทุกฟากฝ่ายจะยอมรับด้วยกันได้ หรืออย่างน้อยก็ยอมรับร่วมกันได้มากที่สุดอาจทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยที่ให้ที่ทางกับพลเมืองชาวชิลีซึ่งเเตกต่างหลากหลายได้มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมของรัฐบาลทหารได้
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– พลเมืองรัฐนิวยอร์กเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ทุกคนมี “สิทธิในอากาศและน้ำสะอาด และสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ”
– Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– กฎหมายรัฐธรรมนูญมาเลเซีย ทำให้มารดาชาวมาเลย์ไม่สามารถให้สัญชาติบุตรที่เกิดนอกประเทศได้อัตโนมัติ
– นิวซีแลนด์เสนอร่างกฎหมายให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนเพศในใบแจ้งเกิดของตนได้
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG 16 ความสงบสุข ยุติธรรมเเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เเหล่งที่มา
– Chile constitution: Voters overwhelmingly reject radical change (BBC)
– ผลประชามติรัฐธรรมนูญชิลี ไม่กลับไปหาฉบับเผด็จการ แต่ก็ไม่รับร่างฯ ฉบับก้าวหน้า (Thairat Online)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on กันยายน 7, 2022