“สมุทรปราการ” ปราการที่พร้อมเปิดรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นเป้าหมายที่ถูกเสนอขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2558 และเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2559 มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาโลกให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ.  2573 หรือ ค.ศ. 2030 ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในประเทศสมาชิกที่ร่วมลงนามรับรองจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการออกเเบบเเละกำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาทั้ง 17 ข้อ เป้าหมายเหล่านี้สามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ทั้งหมด 5 กลุ่ม (5P) ได้แก่ กลุ่ม People มีเป้าหมายเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม กลุ่ม Prosperity มีเป้าหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ กลุ่ม Planet มีเป้าหมายเกี่ยวกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่ม Peace มีเป้าหมายเกี่ยวกับสันติภาพและความยุติธรรมในสังคม และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่ม Partnership มีเป้าหมายเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

จังหวัดสมุทรปราการเป็นจังหวัดในเขตปริมณฑลที่ถือว่ามีความหลากหลายทางสังคมสูง ด้วยข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่มีทั้งพื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่ติดทะเล ทำให้นอกจากภาพลักษณ์ติดตาในการเป็นสังคมเมืองที่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว จึงยังพบเห็นการทำเกษตรกรรม การทำประมงทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมไม่แพ้จังหวัดอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียงด้วยเช่นกัน เพราะความหลากหลายเหล่านี้เองจึงทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมุทรปราการเป็นพื้นที่ที่มีความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมาก เพราะนโยบายที่จะส่งเสริมแต่ละประเด็นอาจส่งผลขัดแย้งซึ่งกันและกันได้ อย่างไรก็ดี หากนักเรียนได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการประจำจังหวัสมุทรปราการ นักเรียนในฐานะผู้ว่าฯ จะให้ความสำคัญกับเป้าหมายในกลุ่ม People, Prosperity และ Planet เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพความเป็นเมืองอุตสาหกรรมและสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรในจังหวัด  ให้ได้มากที่สุด

เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียม นักเรียนจะให้ความสำคัญกับการออกมาตรการทางสังคมและสนับสนุนสวัสดิการประชาชนสำหรับทุกคน ซึ่งจำเป็นต้องครอบคลุมไปถึงผู้มีรายได้ระดับต่ำสุดและกลุ่มผู้เปราะบางด้วย ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและลดความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติต่าง ๆ ของประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการให้ได้มากที่สุด โดยการส่งทีมงานลงพื้นที่สำรวจชุมชนต่าง ๆ เป็นระยะโดยเฉพาะชุมชนในกลุ่มเปราะบาง เพื่อตรวจสอบสภาพปัญหาและแนวโน้มของปัญหาในพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นข้อมูลในการออกมาตรการรับมืออย่างเหมาะสมต่อไป เมื่อมีสวัสดิการที่ดีจากภาครัฐมาช่วยโอบอุ้มความเสี่ยงต่าง ๆ นอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไปได้แล้ว ยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ และกลุ่มผู้เปราะบางอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้เป้าหมายการขจัดความยากจนอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

นอกจากการขจัดความยากจนแล้ว การบรรลุความมั่นคงทางอาหารก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการเช่นกัน เนื่องจากจังหวัดของเราเป็นจังหวัดที่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมและการประมง ดังนั้นนักเรียนในฐานะผู้ว่า ฯ จะช่วยส่งเสริมคุณภาพและเพิ่มจำนวนผลผลิตโดยการจัดสรรงบประมาณ เพิ่มเงินลงทุนในการทำวิจัยทางการเกษตรและประมงที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริง และนำข้อมูลต่าง ๆ เผยแพร่และสาธิตให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและชาวประมง นอกจากนี้ยังอาจจัดตั้งโครงการของจังหวัด ผลักดันให้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดผ่านการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์จากภาครัฐอย่างเหมาะสม ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนและเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของตลาดผลผลิตทางการเกษตรในจังหวัดอย่างยั่งยืน

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะแยกออกจากประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคมไม่ได้ นั่นคือการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคนในทุกวัย ด้วยสภาพแวดล้อมแบบสังคมเมือง การจราจรบนท้องถนนในจังหวัดจึงค่อนข้างหนาแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชุมชน ห้างสรรพสินค้า และเขตอุตสาหกรรม ดังนั้นเป้าหมายหลักในด้านการส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนจึงเป็นการลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น ออกแคมเปญสนับสนุนการข้ามถนนบนทางข้าม ปรับปรุงทางเท้าให้ผู้ขับขี่สามารถเห็นได้ชัดเจนจากระยะไกล และปรับปรุงพื้นผิวจราจรให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ รวมไปถึงการควบคุมมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนนและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการก่อโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคมะเร็งปอด ปอดอักเสบ วัณโรค เป็นต้น นอกจากนี้ ในยุคที่มีการกระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคฝีดาษลิง นักเรียนในฐานะผู้ว่า ฯ ยังจำเป็นต้องประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาวิธีรับมือและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในพื้นที่อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัคซีนหรือการจัดเตรียมสถานที่และบุคลากรในการรักษาก็ดี ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการจะได้รับสวัสดิการคุ้มครองโรคระบาดจากภาครัฐและจะได้รับการรักษาในกรณีที่ติดเชื้ออย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

การสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่นักเรียนในฐานะผู้ว่า ฯ ให้ความสำคัญ จากข้อมูลในปีการศึกษา 2560 จังหวัดสมุทรปราการมีโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้งสิ้น 276 แห่ง และสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 121 แห่ง แต่จากการจัดอันดับคุณภาพโรงเรียนในประเทศไทยประจำปี 2561 จำนวน 100 อันดับ จากหนังสือวารสาร สมองการศึกษา พบว่ามีโรงเรียนจากจังหวัดสมุทรปราการจำนวน 3 แห่งเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาภายในจังหวัดให้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนทั้งในด้านวิชาการ กิจกรรม และสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยจะไม่ใช้เกณฑ์ขนาดของโรงเรียนในการจัดสรรเงินทุนแต่จะพิจารณาจัดสรรตามความต้องการโดยให้แต่ละโรงเรียนยื่นรายการค่าใช้จ่ายตามจริงสำหรับยื่นขอเงินอุดหนุน ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดช่องว่างทางการศึกษาภายในจังหวัด พัฒนาคุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่ให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด นอกจากการศึกษาในระบบแล้ว การศึกษาตลอดชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มด้านการศึกษาที่ภาครัฐจำเป็นต้องให้การสนับสนุน โดยอาจจัดตั้งโครงการระยะสั้นสำหรับพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่มีประโยชน์อยู่เป็นระยะ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ นอกเหนือจากทักษะในการประกอบอาชีพในปัจจุบัน และเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาครัฐจึงควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับ SDGs อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยเน้นการยึดโยงเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมองเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

เป้าหมายสุดท้ายสำหรับประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคน คือการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ในฐานะผู้ว่า ฯ นักเรียนจำเป็นต้องสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการกดขี่ทางเพศที่ฝังลึกอยู่ภายในสังคมมาอย่างยาวนาน ให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทางเพศโดยไม่ตั้งคำถามต่อความบริสุทธิ์ (innocence) ของเหยื่อทุกเพศ และจัดตั้งทีมงานแต่ละเพศในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยุติการเลือกปฏิบัติทางเพศ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตำแหน่งงานที่เคยเป็นของเพศชายให้แก่บุคคลเพศหญิง

ประเด็นถัดมาคือประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจภายในจังหวัดอย่างยั่งยืน นักเรียนมีความเห็นว่าประเด็นนี้มีความสำคัญต่อจังหวัดสมุทรปราการเป็นอย่างมาก เนื่องจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของจังหวัดสูงเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งของจังหวัดสมุทรปราการ ดังนั้นหากเราให้ความสำคัญกับการเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ สร้างพื้นที่ส่วนกลางให้ธุรกิจรายย่อยในพื้นที่ได้มีโอกาสเป็นที่รู้จัก เช่น จัดงานเทศกาลประจำปี ประชาสัมพันธ์งานประเพณีต่าง ๆ ให้เข้าถึงบุคคลหลากหลายวัยมากยิ่งขึ้น หรืออื่น ๆ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องให้แก่จังหวัดแล้ว ยังถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นไปในเวลาเดียวกันอีกด้วย

นอกจากเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดแล้ว การขยายเขตเมืองที่ครอบคลุมและปลอดภัยก็นับเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐไม่ควรมองข้าม ผู้ว่า ฯ ในฐานะตัวแทนของภาครัฐจำเป็นต้องวางแผนขยายความเป็นเมืองจากใจกลางจังหวัดออกไปสู่ชานเมืองอย่างยั่งยืน กล่าวคือ ต้องทำให้ประชาชนจากชานเมืองสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้ต่ำและกลุ่มเปราะบาง โดยอาจสนับสนุนให้มีสายเดินรถทางเลือกที่มีคุณภาพดีและราคาถูกให้เข้าถึงพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ อย่างครอบคลุม ควบคุมระบบจัดการขยะและของเสียอื่น ๆ ให้ถูกสุขลักษณะ จัดให้มีการรณรงค์การแยกขยะอย่างถูกต้องและจัดหาถังขยะสำหรับแยกขยะมาตั้งในจุดต่าง ๆ อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัด เพื่อเป็นการลดมลภาวะทางอากาศที่มาพร้อมการขยายตัวของเขตเมือง โดยเน้นการกระจายให้ทั่วถึง ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในตัวเมืองเท่านั้นเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายขยายเขตเมือง

แม้ว่าการขยายความเป็นเมืองออกสู่ชานเมืองจะเป็นสิ่งที่ดีต่อคุณภาพชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของจังหวัด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทรุดโทรมได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม นอกจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและควบคุมมลพิษทางอากาศแล้ว นักเรียนในฐานะผู้ว่า ฯ จึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเป้าหมายการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่ด้วยเช่นกัน โดยการจัดตั้งโครงการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศน้ำจืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการใช้เรือสัญจรไปมาอยู่เป็นประจำ โดยอาจมีการจำกัดควบคุมเที่ยวโดยสารของเรือนอกชั่วโมงเร่งด่วน (prime time) และควบคุมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species) ลงในแหล่งน้ำอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังต้องเข้าไปกำกับดูแลการปล่อยมลพิษทางน้ำของโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมให้มีการบำบัดน้ำเสียและนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีคุณภาพ และอาจจัดตั้งทีมงานเพื่อสุ่มตรวจคุณภาพการบำบัดน้ำของโรงงานโดยไม่แจ้งนัดหมายล่วงหน้า

นอกจากน้ำจืดแล้ว ทะเลก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ภาครัฐจำเป็นต้องอนุรักษ์และควบคุมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างจริงจังเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของป่าชายเลนในพื้นที่ติดทะเลของจังหวัด เพื่อปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ภาครัฐควรสนับสนุนงบประมาณในการดูแลและฟื้นฟูพื้นที่ทะเลและป่าชายเลนอย่างเต็มที่ ออกนโยบายควบคุมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการประมงไม่ให้ใช้ประโยชน์จากบริเวณชายฝั่งมากเกินไป ไม่ให้เกิดการทำประมงเกินขนาด และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาวิธีฟื้นฟูปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเร่งด่วน

จะเห็นได้ว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่ละเป้าหมายนั้นต่างส่งผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม แม้ว่าในฐานะนักเรียนจะไม่สามารถออกนโยบายควบคุมและดูแลจัดการเรื่องต่าง ๆ อย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เพียงตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ ในสังคม และให้ความรู้กับคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ที่ทำได้ก็นับเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นเช่นเดียวกัน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก
– (1.b) สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนความยากจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อจะสนับสนุนการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.3) เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้ผลิตผู้หญิง ผู้ผลิตคนพื้นเมือง ผู้ผลิตเกษตรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ผ่านความมั่นคงและความเท่าเทียมในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.6) ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี 2573
– (4.3) สร้างหลักประกันให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้ ภายในปี 2573
– (4.5) ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (4.a) สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG6 น้ำสะอาดเเละการสุขาภิบาล
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี 2573
– (6.b) สนับสนุนและเพิ่มความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการปรับปรุงการจัดการน้ำและสุขอนามัย
#SDG8 งานที่มีคุณค่าเเละการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัฒกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐานเเละอุตสาหกรรม
– (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความแข็งแรง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและพื้นที่เขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่สามารถจ่ายได้
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2)  ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.2) ภายในปี 2573 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ เป็นพิเศษ
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

ผู้เขียน: จีรดา ไพโรจน์
สถาบันการศึกษา: โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว

ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานจากการประกวดโครงการเขียนเคลื่อนโลกด้วย SDGs ภายใต้หัวข้อ “หากได้เป็นผู้ว่าฯ จะส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในจังหวัดตนเองอย่างไร”

Last Updated on กันยายน 7, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น