ขอฝันใฝ่ในฝัน

ยามแสงอาทิตย์อัสดง เด็กชายคนหนึ่งปั่นจักรยานเที่ยวเล่นกับพ่อ ผ่านโบราณสถานอันมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มองขึ้นไปบนยอดเจดีย์ก็ระลึกได้ถึงความเป็นชาติ อดีตของพื้นที่ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรือง และประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนหวงแหน เด็กชายภาคภูมิใจกับการได้อาศัยอยู่ในเมืองหลวงเก่าของประเทศ สถานที่อันเป็นมรดกของชาวโลก สายตาที่จับจ้องไปยังจุดสูงสุดของพระปรางค์ค่อย ๆ ลดต่ำลงตามดวงตะวันที่กำลังลาลับขอบฟ้า เมื่อมองไปยังพื้นดิน เขามองเห็นปัจจุบันอยู่ซึ่งหน้า ภาพของถุงพลาสติก ขวดน้ำ และขยะมูลฝอยนานาชนิดอยู่ที่ฐานของเจดีย์ เหล่าสุนัขพันทางวิ่งไล่กัดกัน บางตัวก็คุ้ยเศษขยะอยู่ริมกำแพงอิฐเก่า อีกฝั่งของกำแพงเป็นสลัมที่รุกพื้นที่กรมศิลป์เพื่ออยู่อาศัย ความมืดในเวลาที่ไร้ตะวันเผยให้เห็นภาพของมรดกโลกที่ดูหม่นหมอง มีเพียงแค่แสงจันทร์ที่คอยปลอบประโลมให้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น สภาพที่ไร้การดูแล ทำให้เด็กชายเอ่ยปากถามพ่อ “พ่อว่าอยุธยาเราจะเป็นเหมือนเกียวโตที่ผมเคยไปแลกเปลี่ยนได้ไหม” 

เมื่อเด็กชายพูดจบ บรรยากาศรอบ ๆ เงียบไปอยู่พักหนึ่ง เสียงโซ่จักรยานที่ยึดเฟืองดังเป็นจังหวะ ก่อนที่พ่อของเขาจะพูดขึ้น “ได้สิ ถ้าเรามีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์มากพอที่จะเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี มองเข้ามาที่อัตลักษณ์ของความเป็นไทยและพัฒนามันให้สวยงาม แค่นั้นก็น่าจะพอแล้ว แค่ซ่อมไฟรอบ ๆ โบราณสถาน ตรงนี้ก็น่าจะสวยงามมากแล้ว น่าแปลกใจที่พวกคนใหญ่คนโตเขาไม่ทำกัน แค่เรื่องที่ดูจะง่าย ๆ เขาก็ไม่ทำ” เด็กชายฟังแล้วนำไปคิดตาม ถ้าอยุธยาเป็นแบบเกียวโตได้จริง ๆ มันจะเป็นอย่างไร คงเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยว ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่มีขยะเกลื่อนกลาดตามโบราณสถาน ไม่มีสลัมข้างกำแพงอิฐเก่า ไม่มีสุนัขวิ่งไล่กัดตามท้องถนน ไม่มีทุกอย่างที่ทำให้เมืองหมองหม่น มีแต่สิ่งที่ทำให้อยุธยาเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

“ถ้าลูกได้เป็นคนใหญ่คนโต คงจะมองเห็นใช่ไหม ว่าจังหวัดเราควรพัฒนาอะไร และตรงไหนบ้าง” เด็กชายอมยิ้ม “พ่อว่าผมจะเป็นนักการเมืองเหรอ จะไม่โดนยิงตายใช่ไหม” เป็นที่ประจักษ์ว่าการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ความชิงดีชิงเด่นในเวทีเลือกตั้ง และการต่อสู้กันเพื่อให้ได้คะแนนเสียง คงจะยากที่คนไม่มีผู้สนับสนุนอย่างตระกูลนักการเมืองใหญ่ ๆ จะลงมาเล่นในสังเวียนที่เต็มไปด้วยความสกปรกและทุจริต “ลูกมั่นใจหรือเปล่า ว่าคนรุ่นลูกจะมีความคิด และเลือกคนที่ความสามารถ เพื่อนำพาเมืองเรากลับไปเจริญรุ่งเรืองดั่งในอดีต” เด็กชายคิดอยู่พักหนึ่ง “ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ ก็คงไม่เสียหาย ถ้าอนาคตเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ ผมเนี่ยแหละ จะลองเป็นผู้ว่าฯ อยุธยา”

เด็กชายปั่นจักรยานกลับบ้าน ระหว่างทางรถยนต์ที่สัญจรไปมาหวิดเฉี่ยวเขากับพ่อไปหลายรอบ เนื่องจากทางจักรยานที่ใช้ไม่ได้จริง และไฟถนนที่ติด ๆ ดับ ๆ เพราะมีคนขโมยสายไฟฟ้า พอถึงสี่แยกก็ต้องกลั้นหายใจเพื่อไม่ให้เขม่าควันดำจากเครื่องยนต์ดีเซลเข้าไปทำลายถุงลมปอด บางครั้งต้องกลับบ้านไปล้างจมูกเพราะฝุ่นพิษขนาดเล็กจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าไปในร่างกาย เด็กชายก็หวังว่าสักวันหนึ่ง หากเขาหรือใครสักคนได้เป็นผู้ว่าฯ ชาวอยุธยาจะสามารถมาปั่นจักรยานชมโบราณสถานได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

เวทีปราศรัยขนาดเล็กใจกลางบึงพระราม สวนสาธารณะศูนย์กลางของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา บรรยากาศทุกอย่างยังคงเหมือนสิบปีก่อนหน้านี้ เมืองที่เศร้าหมอง สวนไร้แสงสว่างยามค่ำคืน ทางจักรยานที่ใช้งานไม่ได้ อากาศที่มีแต่ฝุ่นควัน เมืองที่ดูเหมือนจะหมดหวังกับทุกอย่าง แต่ตอนนี้บางอย่างค่อย ๆ เปลี่ยนไป เมื่อกฎหมายให้ท้องถิ่นมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ถกเถียงกันในรัฐสภาอยู่นานหลายปี บัดนี้ได้ประกาศใช้แล้ว เหล่าแคนดิเดตผู้ว่าฯ ต่างเร่งหาเสียงด้วยนโยบายพัฒนาบ้านเกิด ผู้ที่น่าจับตามองส่วนมากเป็นผู้สมัครรุ่นใหม่ที่อดีตเผชิญกับความอับเฉา หนึ่งในนั้นคือผู้สมัครผู้ว่าฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แคนดิเดตที่จะมาปราศรัยนโยบายของตนเองในวันนี้

“สวัสดีทุกคนที่มาฟังผมในวันนี้นะครับ ก่อนอื่นต้องขอบอกทุกคนว่า ผมคือหนึ่งในบุคคลที่เติบโตมาพร้อมกับปัญหาในเมืองอยุธยาของเรา ดังนั้น ผมพร้อมที่จะแก้ไขมันเพื่อไม่ให้ลูกของพวกเราต้องมาเผชิญในสิ่งที่พวกเราเคยผ่านมันมา สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าใครจะเป็นผู้ว่าฯ ก็ตาม คือองค์กรของรัฐต้องไม่มีการทุจริต อย่างที่ทราบกันว่าสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ของเราได้รับงบประมาณแผ่นดินเพื่อสร้างและซ่อมบำรุงจำนวนมหาศาล แต่กลับกันถนนในตัวเมืองตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กมีการซ่อมแซมอยู่ตลอดและผิวถนนเป็นคลื่นขรุขระทุกครั้งที่สัญจร ดังนั้นพวกเราทุกคนในฐานะคนไทยในศตวรรษที่ 21 ต้องช่วยกันทำให้การเบิกจ่ายของรัฐโปร่งใส ทุกการจัดซื้อจัดจ้างจะได้รับการอัปโหลดขึ้นไปบนโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ ข้าราชการยุคใหม่จะไม่โกงภาษีของทุกคนมาใช้ส่วนตัว เพียงเท่านี้ สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างถนนทุกอำเภอของเราที่แต่ก่อนไม่ว่าจะซ่อมกี่ครั้งก็พังเหมือนเดิม ตอนนี้เมื่อข้าราชการตระหนักรู้ ถนนทุกสายจะเรียบเสมอกัน”

นโยบายแรกของเรา คือการสร้างอยุธยาให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ประการแรก ตัวเมืองของเราจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ เชื่อมต่อเกาะเมืองกับเมืองหลักของอำเภอต่าง ๆ อย่างมีระบบ อย่าให้เป็นเหมือนตอนที่พวกเรายังเด็ก ที่การเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องมานั่งกังวลว่าจะไปทันเข้าเรียนหรือไม่ ยิ่งเป็นฤดูฝนก็ต้องเปียกโชกกันหมด ลองนึกภาพถ้าเรามีรถประจำทางมินิบัสปรับอากาศที่ตรงเวลา เดินรถเป็นเส้นทางจากใจกลางเกาะเมืองไปยังที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นทางคมนาคมหลัก และเพิ่มเติม คือรถของเราจะใช้พลังงานไฟฟ้าหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังจะต้องมาเผชิญฝุ่นพิษแบบพวกเรา สมัยตอนผมเด็ก รถประจำทางอยุธยาวังน้อยมีสภาพเดียวกันกับตอนที่พ่อผมยังเป็นเด็ก เขม่าของเครื่องยนต์ดีเซลเข้าร่างกายทุกครั้งที่ผมขึ้นรถไปวังน้อย แต่ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ มันจะต้องไม่มีสิ่งนั้นอีกต่อไป เราจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจังหวัดและภาคเอกชนผู้สัมปทานเส้นทางเดินรถ ให้นำรถไฟฟ้ามาวิ่งในเส้นทางที่สัมปทานแลกกับการตอบแทนด้วยค่าสัมปทานเส้นทางที่เอกชนจะไม่ต้องเสียเป็นระยะเวลาหนึ่ง แน่นอนว่าปัจจุบันมีเอกชนบางรายที่สนใจ อย่างโตโยต้า ที่ทำสวนสาธารณะเพื่อสิ่งแวดล้อมในเกาะเมือง ตอนที่ผมอยู่ชั้นประถม เขามีความพร้อมอยู่ด้านนี้แล้ว เราเพียงแค่จะช่วยเหลือเขาเพิ่มเติม หากผมเป็นผู้ว่าฯ เขาจะได้รับการงดเว้นภาษีต่าง ๆ แลกกับการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราดีขึ้น”

“และเมื่อระบบขนส่งสาธารณะของเราเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง รถยนต์สันดาปในจังหวัดจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนอัตราภาษีที่มากขึ้นกว่ารถยนต์พลังงานทางเลือก เพื่อเป็นการผลักดันให้คนในจังหวัดใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และลดอัตราการปล่อยมลพิษ โดยในเขตเกาะเมืองของเราจะเป็นบริเวณปลอดรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพลังงานใดก็ตาม เพราะระบบขนส่งสาธารณะทั้งภายในเกาะเมืองและระหว่างตัวเมือง สะดวกมากพอที่จะทำให้ทุกคนไม่จำเป็นต้องใช้รถของตนเอง อีกทั้งเราจะร่วมมือกับเอกชนเพื่อทำระบบให้ยืมจักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และสร้างเส้นทางจักรยานที่ใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือนักท่องเที่ยว ก็คงจะรักการชมเมืองมรดกโลกที่มียอดพระปรางค์สวยฟ้าใส ถึงกระนั้น หากประชาชนต้องการนำรถส่วนตัวเข้ามาภายในเกาะเมือง ก็จะมีค่าธรรมเนียมจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอที่จะนำไปสนับสนุนระบบให้ยืมจักรยานได้”

นโยบายที่สอง คือการสร้างเมืองท่องเที่ยวที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างเท่าเทียม ผู้คนมากมายจากทั่วโลกเดินทางมาที่จังหวัด ที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเวนิสแห่งตะวันออก หากผมได้เป็นผู้ว่าฯ เราจะจัดทำระบบเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้า ได้นำเสนอสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการจัดตลาดนัด นิทรรศการ หรือเทศกาลต่าง ๆ นอกจากจะเป็นการกระจายรายได้ให้กับคนในจังหวัดแล้ว นักท่องเที่ยวยังได้สำรวจความเป็นอยุธยา ผ่านสินค้าต่าง ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องไปตามร้านค้าซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ”

“ที่สำคัญคือ เราต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือวัยเกษียณอายุ จังหวัดจะให้นักเรียนชั้นมัธยม ช่วยกันเป็นอาสาสมัครนำเที่ยว เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านภาษาต่างประเทศ และความเชื่อมั่นในตนเอง ความกล้าคิดและกล้าแสดงออก สำหรับรุ่นคุณพ่อของพวกเรา เขาจะเป็นมัคคุเทศก์อาวุโสที่คอยนำเที่ยวพร้อมบอกเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ของตนเอง โครงการนี้จะทำให้เหล่าผู้สูงอายุในอนาคตที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ได้ใช้เวลาว่างช่วงเกษียณอย่างมีความสุข มีกิจกรรมทำกับผู้สูงวัยคนอื่น ๆ ที่แข็งแรงดี เกิดเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวให้มีความน่าสนใจ”

นโยบายที่สาม คือการริเริ่มปลูกต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงาแก่ลูกหลาน เขาว่ากันว่าหนึ่งร้อยปีที่แล้วเมืองโตเกียวได้ริเริ่มปลูกต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงาในอีกศตวรรษต่อมา แน่นอนว่าตอนนั้นเมืองไทยเรายังไม่ได้คิดเช่นนั้น ทำให้ปัจจุบันเรายังไม่มีสวนสวย ๆ แบบโตเกียว กล่าวได้ว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับปลูกต้นไม้คือหนึ่งร้อยปีที่แล้วแต่ช่วงเวลาที่ปลูกต้นไม้ดีที่สุดรองลงมาคือวันไหน คำตอบคือวันนี้ เราต้องลืมเรื่องที่ผ่านมาในอดีต แล้วเริ่มสร้างระเบียบ สร้างสิ่งต่าง ๆ ในวันนี้เพื่อให้อนาคตมันกลายเป็นร่มเงาแก่คนรุ่นหลัง ลองมองไปดูในเมืองเก่า เราจะเห็นเสาสัญญาณโทรศัพท์ขนาดใหญ่บดบังทัศนียภาพของเจดีย์ที่แสนงดงาม แต่เราทำอะไรไม่ได้แล้ว สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเริ่มปลูกต้นไม้ สร้างระเบียบผังเมืองที่มากพอจะไม่ให้หน่วยงานใดตั้งเสาสัญญาณบดบังมรดกของพระเจ้าอู่ทองแบบนั้นอีก”

“หากผมได้เป็นผู้ว่าฯ สิ่งที่ผมจะทำก็เพียงแค่สร้างร่มไม้ที่ผมอาจจะไม่มีวันได้ใช้มันหลบแดด แต่สำหรับคนที่เคยโดนแดดเผาสมัยยังเป็นเด็ก มีแค่ร่มไม้เล็ก ๆ ที่คนรุ่นก่อนทำไว้ให้ ผมก็ไม่อยากจะให้ลูกผมต้องมาพบกับอาการโดนแดดเผาสุดแสนจะทรมาน ผมอยากจะให้เขาได้โตมาพร้อมกับร่มไม้ ที่ไม่ว่าแดดจะแรงมากเพียงใดพวกเขาเพียงแค่รดน้ำเล็กน้อย และใช้ชีวิตอยู่กับมันด้วยความสุข……….”

เสียงนาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์มือถือดังลั่นห้องนอนเล็ก ๆ เด็กชายค่อย ๆ ตื่นขึ้นจากภวังค์ มองดูรอบ ๆ ห้องก็เห็นว่าทุกอย่างยังคงเป็นเหมือนเดิม นอกหน้าต่างของบ้าน สภาพเมืองและความเป็นอยู่ต่าง ๆ ของผู้คน ล้วนแล้วแต่ตรงกันข้ามกับจินตนาการของเขาในฝัน อยุธยาที่ไร้ซึ่งชีวิตชีวาของความเป็นมรดกโลกยังคงฉายภาพเดิมซ้ำอยู่ตั้งแต่เด็กชายเกิด แต่ทุกสิ่งกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเด็กที่มีความฝันและกำลังเผชิญกับสภาวะของโลกในปัจจุบัน มองเห็นหนทางแห่งการสร้างโลกที่สดใสใบนี้ ด้วยกำลังเล็ก ๆ ร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เมื่อทุกเมืองร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานลงบนผ้าใบผืนใหญ่สีฟ้าแห่งนี้ โลกที่พวกเราอาศัยอยู่ก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.7) จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้ โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.b) พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อจะติดตามตรวจสอบผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น 

ผู้เขียน: อินทนนท์ พูลมา 
สถาบันการศึกษา: โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา (ฝ่ายมัธยม)

ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานจากการประกวดโครงการเขียนเคลื่อนโลกด้วย SDGs ภายใต้หัวข้อ “หากได้เป็นผู้ว่าฯ จะส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในจังหวัดตนเองอย่างไร” 

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น