เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาเเห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ได้เผยเเพร่รายงานการพัฒนามนุษย์ ฉบับปี พ.ศ. 2564/2565 (The 2021/22 Human Development Report: HDR) ซึ่งใช้ชื่อว่า “Uncertain Times, Unsettled Lives: Shaping our Future in a Transforming World” เพื่อสื่อสะท้อนให้เห็นสังคมโลกปัจจุบันที่กำลังชะงักงันเเละเปราะบางจากหลายวิกฤติ โดยเฉพาะการเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน เเละการเปลี่ยนเเปลงของโลกที่ก่อภัยอันตราย พร้อมกับการฉายภาพความเสี่ยงที่นำไปสู่การกีดกันเเละความไม่เป็นธรรม
รายงานฉบับดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจอย่างน้อย 5 ประการ ได้เเก่ ประการเเรก การพัฒนามนุษย์ถดถอยติดต่อกันเป็นครั้งเเรกในรอบสามทศวรรษ โดยนับเป็นครั้งเเรกในรอบ 32 ปี ที่ดัชนีการพัฒนามนุษย์ซึ่งวัดจากสุขภาพ การศึกษา เเละมาตรฐานการครองชีพของผู้คนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกลดลงสองปีติดต่อกัน โดยระดับการพัฒนามนุษย์ ณ ปัจจุบันได้ถอยกลับไปที่ระดับเดียวกับปี พ.ศ 2559 นับเป็นการถอยหลังไปยังจุดเริ่มต้นของการริเริ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
ประการที่สอง การเเพร่ระบาดของโควิด-19 เผยให้เห็นภาพความเป็นจริงใหม่ กล่าวคือ เเม้การพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจะเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้คนไว้กว่า 20 ล้านคน เเต่ขณะเดียวกันก็มีความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงวัคซีนดังกล่าว โดยประเทศที่มีรายได้ต่ำเข้าถึงวัคซีนได้น้อยตอกย้ำผลกระทบของความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ ขณะที่เด็กเเละผู้หญิงต้องดิ้นรนอย่างมาก อีกทั้งต้องเเบกรับความรับผิดชอบในครัวเรือนเเละเผชิญความรุนเเรงที่เพิ่มขึ้นยิ่งตอกย้ำความมีอยู่ของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นประเด็นที่มักถูกซ่อนเอาไว้ หรือยากต่อการสำรวจ รายงานสถานการณ์ที่แท้จริงในเชิงสถิติ
ประการที่สาม ประชากรโลกกำลังดำรงชีวิตผ่านความไม่แน่นอนที่ซับซ้อนครั้งใหม่ ผลกระทบระลอกต่อเนื่องที่เกิดขึ้นตามมาจากการเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เเละการเตือนว่าการเเพร่ระบาดของโรคในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้นก่อให้เกิดสภาพการณ์ที่ไม่เเน่นอนในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนเเปลงของเทคโนโลยี ผลกระทบต่อที่ทำงาน เเละความกังวลต่อวิกฤติการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ความไม่เเน่นอนที่ซับซ้อนในปัจจุบันเเบ่งได้เป็น 3 เรื่อง ได้เเก่ การเปลี่ยนเเปลงของโลกที่ก่อภัยอันตราย การเปลี่ยนผ่านสู่วิถีทางใหม่ในการจัดสังคมอุตสาหกรรม เเละการเเบ่งขั้วทางการเมืองที่ทวีความรุนเเรงขึ้น
ประการที่สี่ มีโอกาสอยู่ในความไม่เเน่นอน โดยการเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเเละปรับใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการผลิตวัคซีนเเละการจำลองผลกระทบจากการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างบรรทัดฐานให้การลาป่วยได้รับค่าจ้างอีกด้วย
ประการที่ห้า การเเสวงหาเเนวทางการจัดการใหม่ยังคงมีหวังเเละเป็นไปได้ โดยทิศทางการจัดการนานาวิกฤติเพื่อเสริมสร้างการพัฒนามนุษย์ที่เพิ่มขึ้นนั้น ต้องหันมาใช้นโยบายที่เน้นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน การเตรียมพร้อมสำหรับการเเพร่ระบาด การคุ้มครองทางสังคม เพื่อเตรียมสังคมให้พร้อมรับการเปลี่ยนเเปลงอย่างเเปรผันของโลกที่ไม่แน่นอน เเละการลงทุนเรื่องนวัตกรรมที่จะช่วยประเทศต่าง ๆ ตอบสนองต่อความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้น
นอกจากข้อค้นพบข้างต้นเเล้ว รายงานยังเปิดเผยอันดับการพัฒนามนุษย์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเเบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมาก (very high human development) หมายถึงประเทศที่มีค่าดัชนีระหว่าง 0.800 – 1.000
- กลุ่มที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูง (high human development) หมายถึงประเทศที่มีค่าดัชนีระหว่าง 0.700 – 0.799
- กลุ่มที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับปานกลาง (medium human development) หมายถึงประเทศที่มีค่าดัชนี 0.550 – 0.699
- กลุ่มที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับต่ำ (low human development) หมายถึงประเทศที่มีค่าดัชนีน้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.549
ซึ่งปีนี้ประเทศที่อยู่ในกลุ่มเเรกเเละมีอันดับโลกดีที่สุดห้าอันดับเเรก ได้เเก่ สวิตเซอร์เเลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์เเลนด์ ฮ่องกง เเละออสเตรเลีย ตามลำดับ ส่วนประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนามนุษย์สูงมากเช่นกัน โดยอยู่ในอันดับที่ 66 ของโลก มีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ที่ 0.800 ลดลง 0.002 จากปี พ.ศ 2563 ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันพบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ขณะที่ 3 อันดับเเรก ได้เเก่ สิงคโปร์ (อันดับโลก 12) บรูไน (อันดับโลก 51) เเละมาเลเซีย (อันดับโลก 62)
ปัจจุบัน การพัฒนามนุษย์เป็นเรื่องจำเป็นเเละท้าทายในเวลาเดียวกันของทุกประเทศ โดยนอกจากการหนุนเสริมการเรียนรู้เเละสนับสนุนให้ประชากรของประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีเเล้ว การตั้งรับปรับตัวเเละฟื้นคืนจากวิกฤติทั้งหลายก็ยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องมองหาเเนวทางจัดการ อย่างไรก็ตาม การทุ่มเทเเละทุ่มทุนเพื่อพัฒนามนุษย์ย่อมคุ้มค่าเเละให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนต่อโลกอย่างเเน่นอน
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | สิ่งคุกคามความมั่นคงของมนุษย์: จากอดีตถึงอนาคตที่ยากจะคาดการณ์
– SDG Updates | Universal Basic Income: นโยบายที่ครอบคลุมการพัฒนาอย่างรอบด้าน?
– SDG Updates | สำรวจความพร้อมของไทยในการรับมือโควิด-19 ผ่าน Human Development Index (HDI)
– ความมั่งคั่งโลกเมื่อสิ้นปี 2020 เพิ่มขึ้นแม้เผชิญโรคระบาด แต่สัดส่วนความมั่งคั่งเกือบครึ่งถือครองโดยคนเพียง 1.1%
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
– (1.b) สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนความยากจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อจะสนับสนุนการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.7) ส่งเสริมการพัฒนา การถ่ายทอด และการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศกำลังพัฒนาภายใต้เงื่อนไขที่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งตามเงื่อนไขสิทธิพิเศษตามที่ตกลงร่วมกัน
แหล่งที่มา: Human development falling behind in ninety per cent of countries: UN Report (UN)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on กันยายน 14, 2022